โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ผีน้อย” ปัญหาแรงงานไทยในเกาหลี ที่ไม่เล็กน้อยเหมือนชื่อ - จุดประเด็น

LINE TODAY

เผยแพร่ 04 มี.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.

หลายคนคงเห็น #ผีน้อย ติดเทรนด์ในโลกออนไลน์และครุ่นคิดถึงความเป็นมาของแฮชแท็กที่มีคนถกเถียงกันมากที่สุดขณะนี้ เรามาถอดบทเรียน (อีกแล้วเหรอ?) กันหน่อยว่า “ผีน้อย” คืออะไร ทำไมถึงดังข้ามคืน

คำศัพท์ “ผีน้อย” (น.) ใช้เรียกผู้ที่ลักลอบไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่เกินกำหนด หรือโดดร่มขณะไปเดินทางกับทัวร์ก็ตาม เช่นเดียวกับ “โรบินฮู้ด” ที่เอาไว้เรียกคนที่โดดวีซ่าไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

สถิติผีน้อยเมื่อเดือน ก.ย. 62 ของ รมว.แรงงาน เผยว่าจำนวนคนไทยที่ทำงานในเกาหลีใต้มีทั้งหมด 160,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผีน้อยไปแล้ว 140,000 คน โดยมีคนที่ถือวีซ่าทำงานอย่างถูกกฎหมายเพียง 2.5 หมื่นคนเท่านั้น ซึ่งภายในวันที่ 2 - 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏผีน้อยเดินทางกลับไทยจำนวน 180 คน เมื่อตรวจร่างกายก็พบคนมีไข้ 19 คน ส่วนที่เหลือปล่อยให้ไปกักตัวเองที่บ้าน

ซึ่งในวิกฤติโควิด-19 แบบนี้ สถานทูตไทยในกรุงโซลได้ออกมาชี้แจงให้ผีน้อยสมัครใจกลับประเทศได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. นี้ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ และไม่มีโทษแบล็กลิสต์ห้ามกลับมาที่เกาหลีด้วย

ผีน้อยต้องการอะไร

คนเหล่านี้แค่ต้องการหนีโควิด-19! เหตุผลดังกล่าวคือต้นตอของดราม่าร้อนฉ่าบนโลกออนไลน์ ด้วยสถานะแรงงานผิดกฎหมายของผีน้อย ที่ขึ้นชื่อว่าทำลายทั้งชื่อเสียงและเครดิตของนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่เพียงเท่านั้น เพราะหลังจากแรงงานส่วนหนึ่ง (ย้ำว่าส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด) โพสต์ข้อเรียกร้องจากทางการไทย ทั้งขอให้หางานให้ทำ ช่วยส่งหน้ากากอนามัยให้หน่อย และขอให้รัฐช่วยออกค่าตั๋วกลับประเทศให้ด้วย โซเชียลก็ลุกเป็นไฟขึ้นมาทันที!

ผีน้อยโดนฉอด!

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัว ทั้งเรื่องฐานะและเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้หลายคนเลือกไปทำงานที่ต่างประเทศ ต่างเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ยอมรับได้ แต่เมื่อมาอยู่ในสถานะผีน้อย ก็เป็นธรรมดาที่จะถูกตั้งคำถามเรื่องภาษี (ได้เสียภาษีรึเปล่า?) เรื่องการทำผิดกฎหมาย (ทั้งทำงานไม่มีใบอนุญาต ทั้งโดดร่ม!) และข้อกังขาอื่น ๆ ที่ทุกคนรวบรวมมาฉอด และโจมตีพฤติกรรมของผีน้อยอย่างดุเดือด

ผีน้อยก็น้อยใจนะ

ผีน้อยหลายคนออกมาโต้กลับชาวเน็ตที่โจมตี ส่วนมากให้ความเห็นไปในทางเดียวกันถึง “สิทธิ” ในการไปทำงานที่ต่างประเทศของตน ให้เหตุผลว่าอยู่ประเทศไทยแล้วไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องการงาน มีความจำเป็นต้องไปทำงานที่เกาหลีเพื่อจุนเจือครอบครัว แรงงานจากผีน้อยมีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเกาหลี พร้อมเปิดการ์ด “ฉันก็เป็นคนเท่าเธอ” ตอบโต้ชาวเน็ตทั้งหลาย

ผีน้อยก็มีเหตุผล

หลายคนคงเบื่อที่จะฟัง และแม้ว่าเราก็เบื่อที่จะต้องรับสภาพ แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยยังครองแชมป์ “เจ้าแห่งความเหลื่อมล้ำ” มากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก กล่าวโดยย่อคือมีคนเพียง 1% ที่ถือครองความมั่งคั่งเกินครึ่งของประเทศ ในขณะที่คนกว่า 3 ใน 4 ของประชากรไม่ได้ถือครองที่ดินใด ๆ เลย

หากเราบังเอิญเป็นคนใน 1% คงไม่มองว่าเป็นปัญหา แต่สำหรับคนส่วนมากที่อยู่ในขั้นท้าย ๆ ของพีระมิดสังคม ก็คงต้องพึ่งพาความสามารถของรัฐไทย ให้ทลายช่องว่างและกระจายความมั่งคั่งสู่ประชากรทั้งประเทศให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกัน แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น ก็ต้องยอมอยู่ร่วมกับ “ความเหลื่อมล้ำ” ไปก่อน

ผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำทำให้คนเป็นล้านไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร และ “โอกาส” ของการมีงานและอาชีพที่ดี หลายคนจึงต้องดิ้นรนและทำทุกวิถีทาง ให้ตนเองพอมีกินมีใช้ ทางเลือกนี้รวมถึงการไปเป็น“ผีน้อย” หรือ“โรบินฮู้ด” ในต่างประเทศด้วย

*ภาพประกอบจาก unsplash.com ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงใด ๆ ทั้งสิ้น
*ภาพประกอบจาก unsplash.com ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงใด ๆ ทั้งสิ้น

มาตรการรับมือผีน้อย

ว่ากันด้วยหลักมนุษยธรรม การช่วยเหลือผีน้อยให้กลับประเทศจากวิกฤติโรคระบาดเป็นเรื่องที่ทางการไทยสมควรทำ เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นผีน้อย แต่ผีน้อยก็เป็น“ประชาชนไทย” ที่รัฐบาลต้องดูแล แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยก็ยังดำรงอยู่ด้วยกฎหมาย และการลักลอบไปทำงานแบบไม่มีใบอนุญาตก็เป็นความผิดที่สมควรได้รับการลงโทษ ยังไม่รวมโควิด-19 ที่หลายคนกลัวว่าจะเดินทางมาพร้อมกับกลุ่มคนจำนวนมาก จากประเทศที่กำลังมีการแพร่ระบาดอยู่ โดยรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีมาตรการออกมารับมือแล้ว ดังนี้

  • สธ. (กระทรวงสาธารณสุข) ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศให้เตรียมการสำหรับการ “ทยอยกลับ” ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งตม.และสายการบินให้ความร่วมมือในการคัดกรองอย่างเข้มข้น
  • กรณีที่เดินทางมาจากเมืองแทกูและคยองซัง ซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาด จะถูกกักตัวในพื้นที่พิเศษโดยรัฐบาล
  • หากเดินทางมาจากเมืองอื่น จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้บริหารจัดการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
  • กระทรวงกลาโหมทุกเหล่าทัพจะนำพื้นที่พักทหาร จัดเตรียมเป็นพื้นที่ควบคุมโรคในพื้นที่ต่าง ๆ ของภูมิภาค

ส่วนโทษของการไปทำงานผิดกฎหมายที่ต่างประเทศ เบื้องต้นเป็นการผิดกฎหมายของประเทศที่ถูกลักลอบเข้าไป แต่เมื่อส่งกลับไทย อาจไม่ต้องรับโทษอะไรเลย อีกทั้ง "ความไม่ไว้ใจ" ว่าคนเหล่านี้จะกักตัวเอง 14 วันตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ถ้าไม่แล้วมีคนติด จะรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เราคงต้องติดตามบทสรุปกันต่อไป

ไวรัสที่ระบาดส่งผลเสียทั้งระดับบุคคลและสังคม ในสภาวะที่ทุกคนทั้งกลัวทั้งเครียดแบบนี้ ถ้า “ผีน้อย” ได้รับการจัดการที่ดีจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานรัฐ กับการดำเนินคดีจากกฎหมายไทยอย่างจริงจัง ก็หวังว่าแรงงานเหล่านี้จะได้มีชีวิตต่ออย่างโปร่งใส ปราศจากการตัดสินจากสังคมอีก

--

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0