โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ทองคำ” 3 หมื่นอาจแค่ทางผ่าน ตลาดเริ่มฝันไกลถึง 3 พันเหรียญ

Manager Online

เผยแพร่ 02 ส.ค. 2563 เวลา 14.24 น. • MGR Online

“ทองคำ”พุ่งไม่หยุดจ่อแตะบาทละ 3 หมื่นบาทและขยับตัวไปต่อ จากผลกระทบโควิด-19 กดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน หันมาให้น้ำหนักสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จากการใช้เม็ดเงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่มีท่าทีฟื้นตัว ทำให้หลายฝ่ายคาดอาจเห็นราคาทองคำแตะ 3,000 เหรียญ/ออนซ์ในอีก 2 ปี หรือต้องใช้เงินถึง 44,000 บาท เพื่อซื้อทองคำน้ำหนัก 1 บาท เมื่อทุกประเทศต้องอัดฉีดเม็ดเงิน

โอกาสที่จะได้เห็นราคาทองคำในประเทศ แตะระดับ 30,000 บาทต่อทองคำ 96.50% ที่น้ำหนัก 1 บาท น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ หากพิจารณาจากราคาซื้อขายปัจจุบันที่ระดับ 29,100 บาท (30ก.ค.63) และยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศเพื่อพลิกฟื้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมไปถึง สงครามการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯกับจีน ทำให้กูรูด้านการลงทุนต่างเชื่อมั่นว่า ราคาทองคำยังไม่มีท่าทีหยุดนิ่ง

จากข้อมูลข้อพบว่า ราคาทองคำในประเทศ เฉพาะเดือนกรกฏาคม 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 3,200 บาท โดยมีราคาต่ำสุดของเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 26,000 บาท และสูงสุดที่้ระดับ 29,300 บาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2563 ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 7,550 บาท โดยมีราคาต่้ำสุดที่ระดับ 21,450 บาท และสูงสุด 29,300 บาท ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกรกฏาคม

ต้องยอมรับ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนจะเข้าสู่เดือนที่8ของปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจแต่ละประเทศหรือเศรษฐกิจโลกทั้งโลก ต้องดำดิ่งแบบไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้เมื่อใด นั่นทำให้ความเสี่ยงต่อการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกดดันให้นักลงทุนเลือกเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ”

นั่นเพราะ “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ Safe Haven คลาสสิคที่สุด เพราะรู้กันดีว่าถ้าเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือเกิดสงคราม ทองคำจะได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะเป็นสินทรัพย์ที่ปกป้องพอร์ตลงทุนในช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงสูงปรับลดลงได้เป็นอย่างดี โดยแรงส่งที่หนุนให้ราคาทองคำโดดเด่นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความน่าเชื่อถือต่อค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่เสื่อมลง แม้จะเป็นสกุลเงินสากลที่ทั่วโลกใช้จ่าย แต่ต้องไม่ลืมว่าเงินสกุลดอลลาร์ของอเมริกา ไม่มีการใช้ทองคำสำรองเป็นหลักประกัน เหมือนสกุลเงินสากลในหลายประเทศรวมถึงสกุลเงินบาทของประเทศไทย

ดังนั้นเมื่อความสำคัญของดอลลาร์สหรัฐลดลง ความสำคัญของทองคำก็เพิ่มขึ้นอย่างสวนทาง จนเริ่มมีหลายฝ่ายเชื่อว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหวนกลับไปใช้ทองคำเป็นมาตรฐานแทนมูลค่าราคาของสินทรัพย์ต่างๆ และอาจถือเป็น จุดเริ่มต้นของล่มสลายของเงินดอลลาร์ เพราะมีรายงานว่า สถาบันการเงินอย่าง JP Morgan และ Goldman Sachs ยังต้องออกมาแนะนำลูกค้าให้เพิ่มน้ำหนักลงทุนในทองคำมากขึ้น ก่อนที่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบันปรับตัวลดลงมาต่ำสุดรอบ 4 เดือน พร้อมกับแรงคาดหวังของนักลงทุนที่ต้องการเห็นการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของไวรัสโควิด-19

หลังจากมีการบรรลุข้อตกลงกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรแตะระดับสูงสุดในรอบหนึ่งปีครึ่ง ขานรับข่าวผู้นำสหภาพยุโรป บรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจในระหว่างปี 2564 - 2570 ด้วยงบสูงถึง 1.82 ล้านล้านยูโร หรือกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จนส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง -0.75% และส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำเพิ่มขึ้นอีก

นั่นทำให้นักวิเคราะห์ต่างประเทศ เริ่มออกมาคาดการณ์ถึงความร้อนแรงของราคาทองคำหลังพุ่งเกินระดับสูงสุดรอบก่อนที่ 1,923 เหรียญ/ออนซ์ ว่าสถานการณ์ขณะนี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดกำลังแข็งแกร่งมากๆ จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาทองคำอาจขยับตัวขึ้นแตะ 3,000 เหรียญ/ออนซ์ภายใน 2ปี หรือประมาณ 44,000 บาทต่อ1 บาททองคำ 96.50% โดยอาจทรงตัวที่ระดับ 2,000 เหรียญ/ออนซ์อีกสักระยะก่อนที่ราคาทองคำจะไต่ระดับเพิ่มขึ้นไปต่อ เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถหาปัจจัยมาหยุดยั้งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำได้ มีแต่ปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนให้ราคาพร้อมสร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องมากกว่า โดเยเฉพาะแรงกระตุ้นจากมาตรการการเงินและการคลัง เพราะการอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินอย่างต่อเนื่องในตลาด ยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง

ข้อมูลจากสภาทองคำโลกระบุว่า ในช่วง 6 เดือน แรกที่ผ่านมา กองทุนอีทีเอฟ (ETFs) ทั่วโลกมีเงินไหลเข้าไปซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ถึง 39,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กองทุนเพิ่มการถือครองทองคำอีก 27% หรือ 734 ตัน และส่งผลให้กองทุนอีทีเอฟถือครองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3,621 ตัน

ขณะที่ "เอสพีดีอาร์ โกลด์ ทรัสต์" (SPDR Gold Trust) กองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้มีการเพิ่มการถือครองทองคำสุทธิ 0.3% เป็น 1,203.97 ตัน และได้มีการซื้อสุทธิต่อเนื่องตลอด 18 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพสะท้อนความคึกคักของนักลงทุนในตลาดทองคำ

ไม่เพียงเท่านี้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง อย่างมาก จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

สำหรับมุมมองนักวิเคราะห์ในประเทศ พบว่า“นาวิน อินทรสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัดแสดงความเห็นว่า การที่ราคาขายปลีกทองคำภายในประเทศใกล้จะแตะ 30,000 บาท มีแรงสนับสนุนหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผลตอบแทนของดอกเบี้ยหลังเงินเฟ้ออยู่ในระดับติดลบจากคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อมีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่าธนาคารกลางในหลายประเทศจะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นกว่ากรอบที่ได้ตั้งไว้เดิมในระยะถัดไป

นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นยังไมได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยในระยะสั้นคาดว่าราคาจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าความต้องการซื้อทองคำเพื่อการบริโภคและการเข้าซื้อของธนาคารกลางจะเริ่มลดลงเมื่อราคาปรับตัวขึ้นมาก ดังนั้นลูกค้าที่ถืออยู่ สามารถถือต่อไปได้ หรือขายทำกำไรหากมีกำไร โดยแนะนำถือทองคำ 5-10% ของพอร์ต เพื่อช่วยในการกระจายความเสี่ยง มากกว่าการเข้าลงทุนในทองคำเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตหรือการเก็งกำไรในระยะสั้น

ด้าน“จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำแสดงความเห็นว่า ราคาทองคำตอนนี้ผันผวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากราคาทองคำในตลาดโลกทำราคาสูงสุด(นิวไฮ) เป็นประวัติการณ์ที่ 1,980 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาทองแท่งในประเทศทำนิวไฮด้วยเช่นกันที่ 27,100 บาท ดังนั้นเชื่อว่า ราคาทองคำจะยังคงผันผวนต่อเนื่อง นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ราคาทองคำอย่างใกล้ชิด ก่อนตัดสินใจลงทุน และการลงทุนควรเน้นลงทุนในระยะสั้น ด้วยเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลหรือขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจากผลกระทบ โควิด-19 จึงเทขายการลงทุนจากตลาดหุ้นมาถือครองทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแทน

ทำให้เชื่อว่าราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะยังปรับขึ้นถึงบาทละ 30,000 บาทอย่างแน่นอน เพราะกองทุนจะเทขายเพื่อทำกำไร ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยหากสามารถทำกำไรจากการลงทุนทองคำได้ประมาณร้อยละ 60 ถือว่าเหมาะสมแล้ว

ขณะที่“พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG)ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทย แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาตลาดทองคำกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดย ผ่านมาครึ่งปีผลตอบแทนจากทองคำปรับตัวขึ้นไปกว่า 16% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนปีที่แล้วทั้งปีอยู่ที่ 10% และถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ จึงเป็นแรงจูงใจของนักลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นผลตอบแทนในรูปของเงินบาทยังให้ผลตอบแทนถึง 20% ซึ่งถือว่าสูงกว่าทองคำในตลาดโลก ดังนั้นนักลงทุนจึงควรหันมาถือทองคำอย่างน้อย 5-10% ไว้ในพอร์ตการลงทุนเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง โดยในปี 2554 ทองคำขึ้นไประดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ขณะที่ปีนี้ก็มีลุ้นที่ราคาจะไปถึงระดับดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีความพิเศษเพราะเปิดต้นปีมาก็มีปัญหาเรื่องอิหร่าน-สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองเริ่มปรับตัวขึ้นมา แม้ระหว่างทางนักลงทุนจะมีการขายทำกำไรสลับออกมาโดยตลอด ขณะที่บางส่วนมีการขายทองคำออกมาเพื่อนำเงินไปรักษาสภาพคล่องในการลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ แต่หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นมาจนไปแตะระดับสูงสุดของปีนี้ครั้งใหม่ที่ 1,789 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี 8 เดือน

ทำให้ยังคงแนะจับตา 5 ปัจจัย ที่มีผลต่อราคาทองคำดังนี้ 1. ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ที่จะกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง 2. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ(เฟด) ทั้งนโยบายการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน 4. ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ และ 5. กองทุนทองคำขนาดใหญ่ SPDR -ธนาคารกลางต่างๆ ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น โดยทั้ง 5 ปัจจัยนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้

อย่างไรก็ดีในส่วนของปัจจัยเรื่อง โควิด -19 หากสามารถควบคุมการระบาดได้อาจจะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ตราบใดที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส ก็จะยังคงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ต่อไป

ด้าน“ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัดมองว่า ภาพรวมตลาดทองคำในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 แนวโน้มยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของกองทุนซื้อขายทองคำขนาดใหญ่ของโลก (SPDR) รวมทั้งความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศยังอยู่ในอัตราสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ทำให้บรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ต่างทยอยออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินมาอย่างต่อเนื่อง และยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 ส่งผลให้เกิดความกังวลในการเกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือเงินมีราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง ดังนั้นจึงเชื่อว่าตราบใดที่ปัจจุบัน นักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส และยังไม่มีการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสที่สามารถใช้งานได้จริง ทองคำก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่นักลงทุนมีความต้องการสะสมอย่างต่อเนื่องต่อไป

ขณะที่“พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล” ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนกรกฎาคม 2563 แตะ 62.51 จุด เพิ่มขึ้น 2.32 จุด หรือ 3.86% เทียบเดือนมิถุนายน ปัจจัยทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือน เดือนกรกฎาคม-กันยายน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2563 จากระดับ 62.11 จุด อยู่ที่ 62.83 จุด เพิ่มขึ้น 0.72 จุด หรือคิดเป็น 1.16% ซึ่งมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และทิศทางราคาน้ำมัน

และจากข้อมูลข้างต้น สะท้อนได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงมีความเสี่ยงสูงสมชื่อ ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยก็ราคาสูงขึ้นมากในปัจจุบัน การลงทุนจากนี้คงต้องอาศัยรูปแบบนิว นอมอล นั่นคือ เปลี่ยนรูปแบบในการลงทุน เน้นความปลอดภัยและลงทุนด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย หากเข้าลงทุนผิดจังหวะ ไม่แค่หมดโอกาสทำกำไร อาจขาดทุน ดังคำเตือนทุกการลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษารูปแบบการลงทุนให้เข้าใจอย่างชัดเจน

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0