โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ทองคำ” ความผันผวนราคาขึ้น-ลงที่มีความเสี่ยง นักลงทุนต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงก่อนสาย!

สยามรัฐ

อัพเดต 14 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
“ทองคำ” ความผันผวนราคาขึ้น-ลงที่มีความเสี่ยง นักลงทุนต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงก่อนสาย!

"ความฮือฮาในช่วงที่ผ่านมาคงหนี้ไม่พ้นเรื่องของ “ราคาทองคำ” ในประเทศที่สามารถดีดตัวเองทะลุบาทละ 30,000 บาทไปได้ ซึ่งหากมองย้อนราคาทองที่ได้ทำสถิติราคาดีดทะลุเพดานในช่วงที่ผ่านมานั้น ราคาทองคำในปี 2562 ที่ได้สรุปราคาการปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ราคาบาทละ 2,2300 บาท โดยในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับขึ้นบาทละ 1,250 บาท ขณะที่ในปี 2563 ราคาสูงสุดแตะที่บาทละ 30,800 บาท โดยในเดือนกรกฎาคม ปรับขึ้นบาทละ 3,150 บาท รวมระยะเวลา ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 ราคาทองปรับขึ้นรวมไปแล้ว บาทละ 7,700 บาท

อีกทั้งยังมีนักวิเคราะห์หลายรายในสหรัฐฯคาดการณ์ว่า ราคาทองคำอาจพุ่งแตะหลัก 4,000 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ดีราคาทองคำอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ถึงระดับดังกล่าว หากในอนาคตมีการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 สำเร็จจนทำให้นักลงทุนคลายความกังวล และขายทองคำเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ส่วนผลการเลือกตั้งสหรัฐฯในเดือน พ.ย.นี้ก็จะเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาทองคำด้วยเช่นกัน ดังนั้นทองคำจึงถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ทำราคาดีที่สุดในปีนี้ เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แต่ทุกอย่างขึ้น…..ก็ย่อมมีลง!

เพราะ ณ เวลานี้ ราคาทองคำในประเทศได้ก้าวลงแล้ว โดยในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ราคาทองคำในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และยากต่อการคาดเดาได้ว่าราคาทองคำนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่ง “นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า แนวโน้มราคาทองคำ(Gold Spot) ยากต่อการคาดเดาว่า จะผ่าน 1,975 ดอลลาร์/ออนซ์หรือไม่ โดยที่ผ่านมาราคาทองคำปรับเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วที่ระดับราคา 1,980 ดอลลาร์/ออนซ์ ในส่วนของทองคำแท่งในประ เทศไทยปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 6,000-7,000 บาท ส่วนทองคำรูปพรรณต้องบวกค่ากำเหน็จด้วย

ทั้งนี้ในแง่การลงทุนนั้นแนะนำให้รอราคาทองคำปรับลดลงในระยะสั้นและอย่าเก็บระยะยาว เพราะราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมากแล้ว จึงมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ร้านค้าทองคำยังคงรับซื้อทองเข้ามาเป็นปริมาณสูงสุดในรอบ 8 ปี แต่ยืนยันว่า ร้านค้าทองคำไม่มีปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ช่วงที่เหลือยังมีปัจจัยที่จะมีผลต่อราคาทองคำหลากหลายทั้งเหตุการณ์รอบโลกและการระบาดของโควิด สงครามทางการค้า รวมทั้งเหตุการณ์ตึงเครียดในหลายประเทศ

เช่นเดียวกับ “นายธนรัชต์ พสุวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำในประเทศยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท หากเงินบาทแข็งค่า จะดึงราคาทองคำในประเทศลง และปัจจัยฟิทช์ เรตติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯลงมาอยู่ในเชิงลบ จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (AAA) ทำให้แนวต้านราคาทองคำที่ 1,982 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งถ้านักลงทุนจะกลับเข้าไปซื้อรอบใหม่ก็ต้องรอแนวรับที่ระดับราคาประมาณ 1,940ดอลลาร์/ออนซ์

ขณะที่ “นายประสงค์ พันธ์ลิมา” ผู้อำนวยการสถานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำ ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บอกว่า ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นลูกค้าไถ่ถอนไปขายเป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก เห็นได้จากเดือนมกราคม 2563 ยอดเงินรับจำนำทองคำ 4,794 ล้านบาทเทียบกับสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มียอดรับจำนำเหลือ 4,299 ล้านบาท ซึ่งยอดเงินรับจำนำที่หายไป 495 ล้านบาท เพราะลูกค้าไถ่ถอนทองคำออกมากกว่าจะนำทองคำมาจำนำ ขณะเดียวกันทางสธค.ก็เร่งระบายทองคำหลุดจำนำในช่วงราคาทองคำปรับเพิ่มด้วย

ด้าน “นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์” ผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า มีโอกาสเห็นราคาทองคำปรับเพิ่ม 5-7% ในสิ้นปี 2563 จากระดับ 1,977 ดอลลาร์/ออนซ์เป็น 2,100 ดอลลาร์/ออนซ์ ถัดไปในปี 2564 ขึ้นกับปัจจัยความเสี่ยงด้านเครดิตหรือตลาดหุ้น และดอลลาร์อ่อนค่า อาจบรรเทาลง ถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับใกล้ช่วงเวลาที่ผลทดสอบวัคซีนจะถูกนำออกมาใช้ และบริษัทต่างๆน่าจะเริ่มฟื้นตัวมีรายได้กลับมา

ดังนั้นผู้ที่จะโดดลงมาเล่นกับราคาทองคำที่ ณ เวลานี้มีความหอมหวานของผลกำไร แต่ก็ต้องพร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนที่พร้อมจะขาดทุนได้เช่นเดียวกัน

เพราะราคาทองคำพร้อมที่จะ“ดีดขึ้น - สไลด์ลง” ได้ตลอดเวลา!!

ไม่เช่นนั้น…อาจจะเจ็บตัว!!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0