โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ทหารสหรัฐ” มาทำอะไร ?

ไทยโพสต์

อัพเดต 04 ส.ค. 2563 เวลา 17.55 น. • เผยแพร่ 04 ส.ค. 2563 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

 

กลายเป็นประเด็นร้อนที่กระทบต่อความรู้สึกไม่น้อย หลังนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ออกมาแถลงถึงเที่ยวบินของทหารสหรัฐที่จะเดินทางถึงประเทศไทย ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ และเลือกเข้ากักตัวที่พื้นที่ควบคุมโรค ในโรงแรมเอกชน หรือ Alternative State Quarantine : ASQ ตามการประสานงานระหว่างคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐประจำประเทศไทย JUSMAG THAI กองทัพบก กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนที่ ศบค.จะพิจารณาอนุมัติ

                ตามการชี้แจงของกองทัพบก พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กองทัพบก (ผอ.ศบค.ทบ.) ระบุว่า ทหารสหรัฐทั้ง 110 นาย ชุดแรกเดินทางจากเกาะกวม จำนวน 71 นาย เป็นผู้เชี่ยวชาญของกองพลน้อยสนับสนุนความมั่นคง SFAB  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแผนการจัดตั้ง กรมสไตรเกอร์ ที่กองพลทหารราบที่ 11 พร้อมทั้งการปรับหลักนิยมในการรบตามแบบของหน่วยสหรัฐ นอกจากนั้นยังมีผู้เชี่ยวชาญในการแลกเปลี่ยนความชำนาญในหัวข้อเฉพาะ หรือ SMEE เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาหน่วยรบหลัก ทั้งราบ ม้า ปืน โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นจะกระจายไปยังศูนย์การทหารราบ ศูนย์การทหารม้า ศูนย์การทหารปืนใหญ่ และโรงเรียนศูนย์สงครามพิเศษ

                จากข้อมูลที่ได้ตรวจสอบพบว่า คณะผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สังกัดกองทัพบกสหรัฐ แต่เป็นพนักงานราชการ ส่วนใหญ่เป็นทหารเกษียณ จึงไม่มียศทางทหาร แต่มีความรู้และเชี่ยวชาญในด้านการใช้ยุทโธปกรณ์ ด้านวางแผนยุทธวิธีการ การจัดตั้งหน่วย ฯลฯ ที่สหรัฐจะส่งมาสาธิต และสอนแนวทางการปรับหน่วยให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของกองทัพบกไทย

                ส่วนเที่ยวบินถัดมา เป็นทหารประจำการ ที่เข้าฝึกร่วมภายใต้รหัส Balance Torch จำนวน 32 นาย เดินทางมาจากฐานทัพอากาศโยโกตะของสหรัฐในญี่ปุ่น โดยกำลังพลสหรัฐที่เดินทางมาครั้งนี้ จัดจาก 1st  Special Forces Group หรือกองพลราบพิเศษที่ 1 (ส่งทางอากาศ) โดย “เฟิร์ส กรุ๊ป” มีกองพันประจำอยู่ที่เกาะโอกินาวา พื้นที่ปฏิบัติการในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก

 

                พร้อมกันนั้นยังมีกำลังพลที่เข้ามาร่วมฝึก HMA Ex หรือการฝึกเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม จำนวน 4 นาย จากฐานทัพสหรัฐในญี่ปุ่น และการฝึก Vector Balance Torch จำนวน 3 นาย เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับกองพันปฏิบัติการพิเศษ กรมรบพิเศษที่ 3 รักษาพระองค์ 

                เหตุผลสำคัญที่ ผอ.ศบค.ทบ.ชี้แจงเหตุผลคือ การพิจารณาจากความสัมพันธ์ทางทหารระหว่าง 2 ประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน และไม่อยากให้เรียกว่า “การฝึก” เพราะมากกว่า 50% เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เดินทางมาในลักษณะของ “เทรนเนอร์”

                และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ได้มากกว่าเสีย และยังสอดคล้องกับการ “ผ่อนคลายมาตรการของรัฐ” ที่ให้กิจการ กิจกรรม และเศรษฐกิจในประเทศเดินได้ ทางกองทัพบกสหรั ฐจึงได้ขออนุมัติผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นก็จะมีการชี้แจงข้อกำหนดที่ ศบค.วางกรอบไว้ เพื่อให้มีการลงนามยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐในการกักตัว ไม่ออกไปนอกพื้นที่ รวมถึงมาตรการควบคุมโรคอื่นๆ และทางฝ่ายสหรัฐจะออกค่าใช้จ่ายในการกักตัว 14 วันเองทั้งหมด

                นอกจากนั้นกองทัพบกจะจัดเจ้าหน้าที่ประจำ ที่โรงแรมคอนราด ถ.วิทยุ จัดกำลังพลจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ม.2 รอ.) และโรงแรมอนันตรา รีเวอร์ไซด์ ฝั่งธนบุรี จัดจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ แห่งละ 2 นาย เพื่อช่วยทางโรงแรมกำกับดูแลกำลังสหรัฐในการควบคุมโรค ตั้งแต่ 4 ส.ค. ถึง 18 ส.ค. 63 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการกักตัว ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเข้าบริหารจัดการให้เกิดความรัดกุม นอกจากนั้นพื้นที่ในโรงแรมจะมีการกันพื้นที่เฉพาะในชั้นเดียว ล็อกลิฟต์ขึ้น-ลง เก็บคีย์การ์ด ดูแลควบคุมทางขึ้น-ลงบันไดหนีไฟ 

                และหลังจากครบเวลา 14 วัน จะส่งทหารไปในภารกิจที่ได้กำหนดตามแผน โดยอยู่ในพื้นที่ค่ายทหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทัพบกจะเข้าไปรับผิดชอบในห้วงหลังเวลากักตัวทั้งหมด

                แม้ ทบ.จะยกเลิกการฝึกหนุมานการ์เดี้ยน ที่มีทหารสหรัฐเข้ามาฝึกหลักพันนาย และ อนุมัติแผนให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือการฝึกที่มีกำลังพลจำนวนน้อยแทน เพื่อดำรงความต่อเนื่องในแผนพัฒนากองทัพแทน สอดรับกับความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน แต่จำนวนทหารที่รวมกันหลักร้อยนาย ก็ทำให้สังคมรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย

                อย่างไรก็ตาม 110 ทหารสหรัฐที่เข้ามาในประเทศครั้งนี้ ยังคงตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงเหตุผล ความเหมาะสม ในการที่ ศบค.อนุมัติให้เข้ามา แม้จะมีการแจ้งข้อมูลการพบปะกับทหารไทยไม่เกิน 50 นาย แต่ “ความเสี่ยง” ในการที่โควิดจะเล็ดลอดเข้ามาในหน่วยทหารก็ยังมีอยู่เหมือนกัน

                จากข้อมูลของพลเมืองสหรัฐที่ติดเชื้อในแต่ละวันยังอยู่ในลำดับต้นตาราง เช่นเดียวกับทหารสหรัฐที่ฐานทัพที่เมืองโอกินาวา ก็เคยตกเป็นข่าวว่าพบการติดเชื้อจำนวนมาก จึงยังวางใจได้ยากว่า มาตรการที่เข้มข้นเหล่านั้นจะสกัดกั้นเชื้อแฝงที่แทรกเข้ามาอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้หรือไม่ เพราะไวรัสมองไม่เห็นด้วยตา 

                จึงหนีไม้พ้นที่ “กองทัพ” จะถูกตั้งคำถามเรื่อง “บทเรียน” ที่เกิดจากการใช้คำว่า วินัยทหาร และความมั่นคง ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพราะในที่สุดก็มักสรุปจบเหมือนเดิม!!!.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0