โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ซือ” ร้อยกรองจีน ที่ “โจสิด” ในสามก๊กใช้เขียนจนรอดตาย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 พ.ย. 2564 เวลา 03.06 น. • เผยแพร่ 03 พ.ย. 2564 เวลา 03.06 น.
โจสิด สามก๊ก
ภาพเขียนโจสิด (ภาพจาก https://en.wikipedia.org)

จีนแบ่งร้อยกรองตามรูปแบบได้ 4 ชนิด คือ ซือ ฟู่ ฉือ และฉฺวี่  ในจำนวนนี้ “ซือ” เป็นร้อนกรองมีเก่าแก่ที่สุด ซือมีมาตั้งแต่สมัยขงจื้อ (ก่อน พ.ศ. 8- พ.ศ. 64) มีความนิยมแต่งอย่างกว้างขวาง เนื้อหาของซือสะท้อนให้เห็นภาพชีวิต สังคม และอารมณ์ของคนจีนได้ชัดเจนยิ่งกว่าคำประพันธ์ชนิดอื่น

หลี่ป๋อและตู้ฝู่ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีเด่นที่สุดของจีนและมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกก็ปรากฎเกียรติคุณขึ้นด้วยซือ

ซือจึงเป็นร้อยกรองที่แสดงลักษณะและวิญญาณของจีนได้ดีที่สุด จนกล่าวได้ว่าเป็น “เพลงแห่งชีวิต”

ในแง่ของคนไทย ซือก็คุ้นหูคนไทยมากกว่าร้อยกรองจีนชนิดอื่น เพราะคำทำนายในใบเซียมซีจีนก็เป็นซือ อีกทั้งซือยังมีฉันทลักษณ์คล้ายกลอนจนผู้รู้ทางภาษาและวรรณคดีไทยหลายคนสันนิษฐานว่า คนไทยอาจได้รูปแบบกลอนมาจากซือของจีน ส่วนเรื่องฉันทลักษณ์ของซือของไม่อธิบายในที่นี้

ซือมีวิวัฒนาการมาจากเพลงชาวบ้านซึ่งมีมาแต่บรรพกาล สมัยราชวงศ์โจว (579 ปีก่อนพุทธศักราช- พ.ศ. 322) ราชสำนักส่งเจ้าหน้าที่ออกไปรวบรวมเพลงพื้นบ้านซึ่งส่วนมากเป็นทางตอนเหนือมาศึกษา เพื่อใช้เป็นแนวทางปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้เหมาะสม

ตอนปลายราชวงศ์โจว มีเพลงพื้นบ้านและร้อยกรองของราชสำนักรวมอยู่ 3,000 กว่าบท ขงจื๊อปรัชญาเมธีซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงดังกล่าว ได้คัดเลือกบทที่ดีเด่นไว้ 305 บท และให้ชื่อประชุมนิพนธ์ชุดนี้ว่า “ซือ” ซึ่งหมายถึงบทร้อยกรอง ต่อมาคนรุ่นหลังเติมคำว่า “จิง” (คัมภีร์) เข้าข้างท้ายด้วยความยกย่องเป็น “ซือจิง” (คัมภีร์ร้อยกรอง)

เนื้อหาของซืออคลี่คลายไปตามวิวัฒนาการของบ้านเมือง เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปเนื้อหาของซือก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยยุคราชวงศ์ถังเป็นยุคที่ซือขยายตัวทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ เพราะมีปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางวรรณคดีที่สั่งสมมาจากราชวงศ์ก่อนๆ เป็นพื้นฐานอย่างมั่นคงแก่กวีสมัยถัง ทางด้านสังคม รัฐขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยแบ่งที่ดินให้ราษฎรทั่วถึง พระจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (บูเช็คเทียน) ทรงจัดการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเริ่มระบบสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสเข้าสอบเสมอกัน โดยวิชาร้อยกรองเป็นวิชาหนึ่งในการสอบคัดเลือก เหตุนี้กวีนิพนธ์จึงรุ่งเรือง มีกวีอยู่ในทุกชนชั้นทุกอาชีพ เนื้อหาและท่วงทำนองของซือขยายตัวยิ่งกว่ายุคใด

ป๋อจู่อี้ (พ.ศ. 1315-89) กวีเอกสมัยบราชวงศ์ถังกล่าวเปรียบซือเป็นต้นไม้ว่า “ซือมีอารมณ์เป็นราก ระบัดใบด้วยถ้อยคำ  ผลิก้านงามด้วยเสียงเสนาะ บังเกิดผลด้วยเนื้อหา”

ซือที่คนไทยเรารู้จักกันดี คือ “ซือเจ็ดก้าว” จากวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ที่โจสิด (พ.ศ. 735-75) บุตรชายคนที่ 3 ของโจโฉ มีความสามารถในการกวีนิพนธ์จนได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีใหญ่คนหนึ่งของจีน

โจสิดเป็นน้องร่วมมารดากับโจผี ที่เกิดจากเปี้ยนไทเฮาเหมือนกัน ทั้งสองเคยแข่งขันขับเคี่ยวเพื่อแย่งชิงตำแหน่งทายาททางการเมืองต่อจากโจโฉ  เมื่อโจผีแย่งชิงสมบัติจากพระเจ้าเหี้ยนเต้แล้วตั้งตนเองเป็นพระเจ้าเหวินตี้ ครั้งหนึ่งได้มีพระราชโองการ ให้โจสิดแต่งซือบทหนึ่งให้เสร็จภายในช่วง 7 ก้าว หากทำไม่ได้จะถูกลงโทษ โจสิดจึงแต่งซือ 5 คำ บทหนึ่งยาว 6 วรรค  ความว่า

ต้มถั่วคั่วเช่นแกง   กากกรองแบ่งเนื้อน้ำข้น

เถาไม้ใต้หม้อลน   ถั่วหม้อบนร่ำจาบัลย์

เกิดจากรากเดียวครัน   ไยเคี่ยวกันอย่าร้อนแรง

ซือข้างต้น โจสิดพรรณการใช้เถาถั่วต้มเม็ดถั่ว เป็นการเปรียบเทียบว่าพี่น้อง ซึ่งเกิดจากบิดามารดาเดียวกันล้างผลาญกันเอง โจผีได้ฟังแล้วเห็นใจจึงปล่อยโจสิดไป

ซือบทนี้มีผู้แปลเป็นภาษาไทยหลายสำนวน เช่น นายวิชัย ตันไพจิตร แปลจากฉบับภาษาจีนเป็นโคลงสี่สุภาพว่า

ต้มถั่วกิ่งถั่วใช้   กูลอัคคี

ลนกระทะถั่วโลดหนี   ร่ำไห้

ร่วมพืชร่วมพันธุ์มี   รากร่วม

ไยจึงทำใจไม้   มุ่งมล้างวงศ์วาร

และแปลกเป็นกลอนสุภาพว่า

ใช้กิ่งถั่วต้มถั่วถั่วมัวหมอง   ก่นแต่ร้องในกระทะสะอื้นไห้

จากลำต้นเดียวกันร่วมพันธุ์ไม้   โอ้ไฉนมุ่งสังหารผลาญกันเอง

ส่วนขุนวิจิตรมาตราแปลจากภาษาอังกฤษเป็นโคลงสี่สุภาพว่า

ยกกระทะถั่วตั้ง   ติดเตา

เถาถั่วเป็นฟืนเผา   คั่วข้น

ถั่วไหม้เพราะถัวเถา   เทือกถั่ว นั่นแล

ไยจะเร่งไฟร้น   ตกโอ้อื่นไหน

 

ถาวร สิกขโกศล หนึ่งในผู้เขียน “ซือ เพลงแห่งชีวิตของจีน” ได้แจ้งอัปเดตข้อมูลว่า

“ข้อมูลที่ผมเขียนไว้นี้ผิดพลาดหลายแห่งครับ “ป๋อจูอี้” ปัจจุบันนิยมอ่าน “ไป๋จีว์อี้” ส่วนชื่อ “วิชัย ตันไพจิตร” ที่ถูกเป็น “บุญชู ตันไพจิตร”  ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่เรื่องจริง นักแต่งนิทานแต่งไว้ในนิทานชุด ซื่อซัวซินอีว์ยุคราชวงศ์เหนือใต้ ล่อกวนตงเอามาใส่ในนิยายสามก๊ก ในประชุมนิพนธ์ของโจสิดก็ไม่มีกวีนิพนธ์บทนี้ แต่เป็นบทที่คนชอบมากจนคิดว่าเป็นเรื่องจริง”

ข้อมูลจาก

ยง อิงคเวทย์, ถาวร สิกขโกศล. ซือ เพลงแห่งชีวิตของจีน, สำนักพิมพ์ ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2529

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0