โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ครม.พึงมี” ในวันที่ไม่มีการปฏิรูปการเมือง - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 08.46 น. • ประจักษ์ ก้องกีรติ

คนไทยมีโอกาสได้เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่แล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เสียงตอบรับมีทั้งตำหนิติเตียน ผิดหวัง ปะปนไปกับความโล่งอกโล่งใจ ที่ ครม.ใหม่จัดตั้งสำเร็จเสียทีหลังจากเลือกตั้งผ่านไปนานแล้วถึง 4 เดือน ท่ามกลางความรู้สึกดังกล่าวนั้น ประชาชนและสื่อตั้งข้อสังเกตว่า ครม.ชุดนี้ ตั้งขึ้นมาด้วยความทุลักทุเลและยากลำบาก อันเนื่องมาจากปัญหาขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันและภายในกลุ่มมุ้งต่าง ๆ ที่มีอยู่หลายกลุ่มภายในพรรคพลังประชารัฐ

เท่าที่สังเกตจากรายงานข่าวของสื่อและเสียงตอบรับของประชาชน รายชื่อและโฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจของสาธารณชนเสียเท่าไหร่นัก รัฐมนตรีหลายคนถูกตั้งคำถามถึงความรู้ความสามารถที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง บางคนถูกสื่อขนานนามว่าเป็น “ผู้มีอิทธิพล” บางคนถูกตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกิจการที่ตนและครอบครัวทำกับตำแหน่งที่ต้องมารับผิดชอบ และที่สำคัญบางคนถูกตั้งคำถามถึงประวัติและความผิดในอดีตที่น่าจะกระทบกับคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งระดับสูงนี้

แม้จะยังไม่มีการตั้งฉายาให้กับ ครม.ชุดใหม่โดยสื่อมวลชนเฉกเช่นในอดีต แต่ก็พบว่าไม่มีคำเรียกขาน ครม.ชุดนี้ ว่าเป็น ครม.ดรีมทีม หรือ ครม.ในฝัน หรือแม้แต่ในหมู่ประชาชนที่สนับสนุนและคอยเอาใจช่วยรัฐนาวา “เรือเหล็ก” (คำของ ดร.วิษณุ) ก็มีความหวั่นใจลึก ๆ กับ ครม. ที่มาจากรัฐบาลผสมถึง 19 พรรคว่าจะอยู่ยั่งยืนเพียงใด หลายคนเกรงว่าจะอับปางเสียก่อนที่จะได้ผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่หาเสียงไว้

หลายคนกังวลว่า ครม. ที่มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและผู้ช่วยมาจากพรรคที่มีนโยบายแตกต่างกันจะสามารถสร้างเอกภาพเชิงนโยบาย และทำงานร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคีเพื่อแก้ปัญหายาก ๆ ที่ท้าทายประเทศในปัจจุบัน ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม และปัญหาความถดถอยและหยุดนิ่งทางเศรษฐกิจได้หรือไม่

เมื่อ 5 ปีก่อน เคยมีกระแสเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เพื่อให้ “คนดี” ได้มีอำนาจบริหารประเทศ วันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันและเคยต่อสู้เรียกร้องการเมืองของคนดี ก็ตะขิดตะขวงใจที่จะพูดได้เต็มปากว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คือคณะรัฐมนตรีคนดีในภาพฝันที่ต่อสู้เรียกร้องมา

วันนี้ประเทศมีการเลือกตั้งแล้ว แต่เป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากการปฏิรูปการเมือง และโฉมหน้าของ ครม.ชุดใหม่ก็คือภาพสะท้อนคุณภาพของระบบการเมืองไทยที่ยังไม่ถูกปรับเปลี่ยนปฏิรูปอย่างแท้จริง

ถ้ามองในชิงระบบและโครงสร้างทางการเมืองที่พ้นไปจากเรื่องตัวบุคคล จะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เรื่องอุบัติเหตุที่องค์ประกอบและรูปโฉมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะออกมาอย่างที่เป็นอยู่ เพราะมันเป็นผลลัพธ์จากปัจจัยสำคัญ 4 ประการคือ

หนึ่ง ระบบเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้การซื้อเสียง การใช้อิทธิพลและระบบอุปถัมภ์เพิ่มสูงขึ้น ระบบเลือกตั้งใหม่ทำให้เดิมพันการแข่งขันกลับไปอยู่ที่ระบบเขตและตัวผู้สมัครมากกว่าพรรคและนโยบาย นำไปสู่ปรากฎการณ์การซื้อตัว ส.ส.และย้ายพรรคกันอย่างหนักช่วงก่อนเลือกตั้ง การแข่งขันด้วยตัวบุคคล ระบบหัวคะแนน การใช้เงิน กลับมาเบียดขับการหาเสียงเชิงนโยบาย

สอง สูตรคำนวณพิสดารของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลำพังการใช้ระบบเลือกตั้งใหม่ก็ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอมากแล้ว ยากที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ เพราะทำให้มีพรรคเข้าสู้สภาจำนวนมาก แต่สูตรคำนวณการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต.เลือกใช้และเพิ่งประกาศภายหลังการเลือกตั้งยิ่งซ้ำเติมความอ่อนแอของพรรคการเมืองและรัฐบาล เพราะสูตรดังกล่าวทำให้มีการปัดคะแนนให้พรรคเล็กอีก 11 พรรคเข้าสภา หาก กกต.ไม่เลือกสูตรคำนวณพิสดารดังกล่าว รัฐสภาไทยชุดปัจจุบันจะมีพรรคการเมือง 16 พรรค แทนที่จะมี 27 พรรค (เป็นสถิติโลก) อย่างที่เกิดขึ้น และการตั้งคณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลผสมก็จะมีเสถียรภาพกว่านี้

ปัจจัยที่สามและสี่ คือ วุฒิสภาและการช่วงชิงการนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ไม่ได้ชนะเลือกตั้งมาเป็นที่หนึ่ง ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้เกี่ยวพันกันโดยตรง คือ ดีไซน์ของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คนมีอำนาจเลือกนายกฯ ด้วย ซึ่งทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ถูกกำหนดโดยเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริงผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคต่าง ๆ ที่ประชาชนเลือกมาโดยตรง

วุฒิสภาดำรงสถานะเสมือนพรรคการเมืองในระบบที่ไม่ต้องจัดทำนโยบายและรณรงค์หาความเห็นชอบจากประชาชน แต่กลับมีอำนาจชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นผู้มีอำนาจบริหารประเทศ เพราะระบบเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ยากที่ใครจะชนะได้ที่นั่งถึงครึ่งของสภา (ครั้งนี้พรรคที่ชนะอันดับ 1 คือเพื่อไทยได้ที่นั่งคิดเป็นแค่ร้อยละ 27.2 ของสภา ในขณะที่พรรคอันดับ 2 คือพลังประชารัฐได้ที่นั่งคิดเป็นแค่ร้อยละ 23.2 ของสภา) ในขณะที่วุฒิสภามีเสียงเท่ากับครึ่งหนึ่งของสภาล่าง กลายเป็นพรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในการเมืองไทยในปัจจุบัน แถมมีเอกภาพโหวตไปในทางเดียวกันอย่างไม่แตกแถวดังที่เราเห็นในวันประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

การดำรงอยู่ของวุฒิสภาแต่งตั้งเช่นนี้เอง ที่เป็นเงื่อนไขให้พรรคอันดับ 2 คือพลังประชารัฐเสนอตัวจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่มาร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่าเพราะการสนับสนุนของวุฒิสมาชิกทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมเพราะมองว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อให้เสียงปริ่มน้ำก็จะมีวุฒิสมาชิกเป็นตัวช่วยสนับสนุน

ทั้ง 4 ปัจจัยดังกล่าวทำให้สังคมไทยได้ครม.ที่มาจากรัฐบาลผสม 19 พรรค ที่มีเสียงปริ่มน้ำ โดยพรรคแกนนำไม่ได้ชนะเลือกตั้ง จึงทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองเด็ดขาดเหนือพรรคอื่น ๆ (มิต้องพูดถึงความขัดแย้งที่เข้มข้นในพรรคพลังประชารัฐเอง) ต้องง้อทุกพรรคที่เชิญมาร่วมหัวจมท้าย เพราะรู้ว่าเรือเหล็กที่เสียงปริ่มน้ำนี้สามารถล่มได้ทุกเมื่อ หากพรรคเล็กที่มีที่นั่ง 3-4 ที่นั่งถอนตัว เรือก็จะจมน้ำกลางคัน ทุกพรรคเล็กก็รู้ว่าตนมีอำนาจต่อรองขอโควต้าและตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับ “ผู้มีอิทธิพลและบารมี” ในพรรคของตน

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จึงเป็นที่รวมของผู้มีบารมีของแต่ละพรรค ส่วนคุณสมบัตินั้นเป็นเรื่องรอง เพราะหากไม่จัดสรรที่นั่งเอาใจผู้มีบารมี แต่ละพรรคก็อาจจะมีความขัดแย้งสูงกระทั่งแตกสลายได้

ฉะนั้น หากอยากได้คณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพและมีเสถียรภาพกว่าที่เป็นอยู่ สังคมไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นระบบเลือกตั้ง ปฏิรูปการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมถึงอำนาจและที่มาของวุฒิสมาชิก

ประจักษ์ ก้องกีรติ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0