โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“การระเบิดที่เลบานอน” กับเมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร
Designed by natanaelginting | Freepik
Designed by natanaelginting | Freepik

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ออกมาสะเทือนขวัญชาวโลกชิ้นหนึ่ง นั่นคือการระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรท ณ ใจกลางประเทศเลบานอน

แต่ลำพังแค่การระเบิด กลับไม่ใช่สาเหตุใหญ่ และเหตุการณ์ครั้งนี้กลับมีแง่มุมซ่อนอยู่มากมาย ที่น่าสนใจสำหรับชาวไทยเรามาก ๆ 

วันนี้เราจะมาดูไปพร้อม ๆ กันค่ะ ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ที่เลบานอน

credit: Designed by natanaelginting / Freepik
credit: Designed by natanaelginting / Freepik

เลบานอนเป็นประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในบริเวณที่เชื่อมคาบสมุทรอาหรับและเมดิเตอร์เรเนียนเข้าด้วยกัน เป็นเมืองท่าค้าขายที่โด่งดัง และเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ

หลังผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปี 1943 เลบานอนก็แยกตัวเป็นอิสระ ประกาศอธิปไตยจากฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม

หากแต่เลบานอนมีจุดอ่อนหนึ่ง

ใจกลางของเลบานอนเอง เป็นถิ่นฐานของชาวอาหรับที่นับถือศาสนาคริสต์มาโรไนต์ ในขณะที่ดินแดนรอบ ๆ ซึ่งฝรั่งเศสตัดแบ่งมาให้ ประกอบด้วยชาวอิสลามจากทั้งซุนนี และชีอะห์

รัฐสภาของเลบานอน จึงจัดสัดส่วนผู้แทนและตำแหน่งสำคัญ ๆ จากแต่ละศาสนา ล้อไปกับสัดส่วนที่ประชาชนนับถือ

ช่วงแรกเลบานอนในฐานะเมืองท่า เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งเบรุตเมืองหลวงอันงดงาม ยังได้ฉายาปารีสแห่งตะวันออกกลาง

ทว่าวันเวลาเหล่านั้นกลับผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในเพียงไม่ถึงชั่วอายุคน 

หลังสงครามต่อต้านอิสราเอลผ่านไป เกิดการหลั่งไหลของชาวปาเลสไตน์เข้าสู่เลบานอน เมื่อสัดส่วนประชากรจากศาสนาต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนไป พร้อมการเมืองถูกแทรกแซงจากประเทศขาใหญ่ ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ก็พุ่งสูงขึ้น

เลบานอนเข้าสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด

ปี 1975-1990 เลบานอนอยู่ในสภาพสงคราม ประมาณการว่ามีผู้ตายและบาดเจ็บหลายแสนคน เหตุการณ์นี้ถ่วงรั้งให้เลบานอนถอยหลังลงคลอง ไม่อาจก้าวหน้าต่อไปได้

หลังสงครามจบ แม้เกิดการสูญเสียมากมาย แต่การเมืองที่แตกร้าวไม่อาจจบไปเฉย ๆ ได้ ทั้งแต่ละขั้วการเมืองยังหนุนหลังโดยประเทศขาใหญ่ พร้อมขับเคี่ยวกันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

หลังปี 2000 เกิดการลอบสังหารผู้นำทางการเมือง กลายเป็นรอยร้าวลึกระหว่างขั้วอำนาจ ตามด้วยสงครามกลางเมืองในซีเรีย ประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่การมาถึงของผู้อพยพจำนวนนับล้าน เหตุดังกล่าวยิ่งยื้อเลบานอน เข้าสู่หลุมลึกที่ราวกับมองไม่เห็นก้น

เลบานอนกลายเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของผู้อพยพสูงที่สุดในโลก ซ้ำลงบนความขัดแย้งที่ฝังรากลึกยาวนาน การเมืองยังคงผันผวน ราชการคอร์รัปชันและอ่อนประสิทธิภาพ เศรษฐกิจยังคงตกต่ำ ประชาชนบอบช้ำเกินทน 

โดยรวมการเมืองที่ร้าวฉาน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย นำพาเลบานอนที่เคยยิ่งใหญ่ สู่สภาพเศรษฐกิจที่ผุพังถึงรากเหง้า

___  

ปลายปี 2019 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ หลังรัฐบาลตัดสินใจดำเนินนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยน

นโยบายนี้รัฐแจ้งว่าเป็นไปเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ยังสามารถนำเข้าสินค้าที่จำเป็นได้ แต่ขณะเดียวกันเพื่อหาเงินเข้าคลังให้สามารถตรึงอัตราแลกเปลี่ยนได้ รัฐกลับวางแผนภาษีใหม่ ๆ โดยเก็บจากประชาชนทั่วไปที่อยู่ในสภาพย่ำแย่อยู่แต่เดิม

ผู้รู้หลายท่านมองว่า นี่เป็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบชั่วครั้งชั่วคราว มิได้แก้ถึงรากเหง้า และไม่อาจฟื้นเศรษฐกิจระยะยาวกลับมาได้ ทั้งวิธีการก็ยิ่งเหลวไหล

เสมือนหนึ่งปล้นคนจนไปช่วยคนรวย

นั่นจุดประกายการประท้วงขึ้นในเดือนตุลาคม 2019 การประท้วงนี้ต่อเนื่องยืนยาว และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งถึงต้นปี 2020 

ประจวบกับการมาถึงของ COVID-19 

credit: Patrick Baz/AFP via Getty Images
credit: Patrick Baz/AFP via Getty Images

ย้อนไปหลังสงครามกลางเมือง เลบานอนเหลือโรงพยาบาลเพียง 1 ใน 3 ของที่เคยมี

ช่วงเวลาถัดจากนั้นอีก 30 ปี แม้รัฐสามารถขยายโรงพยาบาลได้บ้าง แต่ก็ไม่อาจฟื้นคืนระบบการรักษาทั้งหมดได้ สบช่องให้โรงพยาบาลเอกชนผุดขึ้นรับช่องว่างนี้ไว้

แม้ฟังดูเป็นเรื่องดี ที่ภาคเอกชนมาช่วยแบ่งเบาภาระไป แต่นั่นหมายถึงการรักษาพยาบาลที่รัฐไม่อาจควบคุมได้ ทั้งยังนำไปสู่หนี้ก้อนใหญ่ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพของรัฐ จำต้องจ่ายให้แก่ภาคเอกชน

ปลายปีก่อน เมื่อปัญหาเศรษฐกิจถึงจุดสูงสุด รัฐก็ไม่อาจจ่ายหนี้ได้อีกต่อไป

และเมื่อปี 2019 ผ่านไป และปี 2020 ล่วงมา เมื่อ COVID-19 ก้าวถึงคาบสมุทรอาหรับ เลบานอนก็ไม่อยู่ในสภาพจะต่อสู้ได้แต่อย่างใด

กลางปี 2020 ท่ามกลางสมรภูมิโรคระบาด โรงพยาบาลเอกชนเริ่มปิดตัวลงพร้อมปฏิเสธการรักษา หลังรับผู้ป่วย COVID-19 มากเกินไป ขณะที่โรงพยาบาลรัฐซึ่งควรเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย ก็มีศักยภาพไม่เพียงพอจะจัดการผู้ป่วยทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็คล้ายถูกซ้ำให้พังทลาย รัฐบาลถังแตกแบกหนี้ก้อนใหญ่ ไม่อาจจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ได้ ไม่อาจจ่ายค่ายาได้ ไม่อาจหาเครื่องป้องกันได้ แม้แต่ไฟฟ้ายังไม่มีให้ใช้ หลายโรงพยาบาลรับบริจาคน้ำมันและเครื่องปั่นไฟ เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงเครื่องช่วยหายใจ ที่ยื้อชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากอย่างรวยริน

วันที่ 4 สิงหาคม 2020 ฝ่ายการแพทย์แจ้งแก่รัฐบาลกลางว่า สถาพเช่นนี้ไม่อาจดำเนินต่อไปได้อีกแล้ว เลบานอนกำลังจะแตกสลาย

แต่ก่อนที่รัฐบาลกลางจะตัดสินใจอะไรลงไป ก็เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

ระเบิดรูปดอกเห็ดสีแดงเลือด พวยพุ่งขึ้นจากท่าเรือใหญ่กรุงเบรุต เสมือนหนึ่งสัญญาณของฟางเส้นสุดท้าย

ไม่กี่วันมานี้มีคลิปหนึ่งปรากฏขึ้นในทวิตเตอร์

เป็นคลิปหญิงชราท่านหนึ่งเล่นเปียโนในทำนอง Auld Lang Syne (ทำนองเดียวกับสามัคคีชุมนุม) ท่ามกลางซากปรักหักพังของตึกสไตล์โคโลเนียล ในกรุงเบรุต

Sad day for Beirut & Lebanon with the big explosion at Beirut Port. All thoughts are with the lost and loved ones. Hope never leaves my city after all. #Beirut #PrayForLebanon #prayforbeirut #PrayersForBeirut #Lebanon #LebanonExplosion #لبنان #بيروت #بيروت_في_قلوبنا pic.twitter.com/NJMQeVQcm8

— Nadim Serhal (@nadimserhal) August 5, 2020

ทำนองเพลงแม้โหยไห้ไปตามลม แต่กลับแฝงนัยยะแห่งความหวังบางอย่าง

คล้ายระลึกถึงช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์แต่หนหลัง และความรักต่อเพื่อนพ้องร่วมชาติที่จากไป

คลิปนี้กลายเป็นคลิปยอดนิยมภายในเวลาไม่นาน และกลายเป็นสื่อแห่งความห่วงใยและความหวัง ที่ชาวเลบานอนมอบให้แก่กัน และมอบให้แก่โลกทั้งหมด

หลังเหตุระเบิดผ่านพ้นไป ชาวเลบานอนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเผ่าไหนศาสนาใด กลับออกมาร่วมมือกัน บ้างช่วยกันเก็บกวาดบ้านเรือนที่แตกหัก บ้างมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลเพื่อเป็นอาสาสมัคร หยิบจับทุกสิ่งที่ตนพอช่วยเหลือได้

พวกเขาเริ่มตระหนัก ว่าปัญหาแท้จริงมิใช่โรคระบาด หรือการระเบิดที่เพิ่งเกิดไป แต่คือความแตกแยกภายใน และระบบรัฐสภาที่เน่าเฟะมานานเกินทน

นี่จึงมิใช่โชคชะตาร้ายที่พระเจ้าประทานให้ แต่คือผลลัพธ์ของปัญหาที่ถูกปล่อยไว้ คือสิ่งที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ คืออนาคตที่พวกเขาต้องสร้างขึ้นใหม่เอง

เหตุระเบิดดังกล่าว เกิดจากสารตั้งต้นทำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งศุลกากรยึดจากเรือเดินสมุทรลำหนึ่ง การยึดสารเป็นไปตามกฏหมาย แต่การเก็บสารที่ยึดได้กลับเป็นปัญหามากกว่า

มีหลักฐานว่า หน่วยงานที่เก็บสารนี้ไว้ตามหน้าที่ ทราบดีว่าเป็นสารอันตราย จึงร้องขอความเห็นไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจสั่งเคลื่อนย้าย แต่กลับไร้การตอบสนอง

ในขณะที่หลังเกิดเหตุแล้วนั้น การช่วยเหลือจัดการภัยพิบัติ กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า โรงพยาบาลหลักของประเทศที่เคยเป็นด่านหน้า ได้รับความเสียหายจนปิดตัวลง ผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตลง เพียงเพราะไม่มีไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเครื่องช่วยหายใจ

ทั้งผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดจำนวนมาก กลับถูกทิ้งร้างไว้ และค่อย ๆ ล้มตายไป เพราะปราศจากผู้มีอำนาจคนใด จะจัดการเหตุร้ายนี้ได้อย่างถูกควร

ชาวเลบานอนหลายรายทวิตอย่างโกรธแค้น พวกเขาไม่หวังการดูแลที่รวดเร็วสวยงาม เพราะนี่คือเหตุที่เกินคาดฝัน แต่นับถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ที่ดีพอตามที่ควรได้

กลับเป็นประชาชนที่ทั้งบาดเจ็บ ทั้งปราศจากอาหารและที่อยู่อาศัย พากันออกมาช่วยเหลือกันและกัน ตามมีตามเกิดไป อย่างไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา

หลายฝ่ายเริ่มตระหนักว่า นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์เลบานอน ซึ่งเคยยืนอยู่บนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ก็เป็นได้

credit: Bloomberg
credit: Bloomberg

 ชาวเลบานอนเริ่มลงถนนประท้วงอีกครั้ง

การประท้วงในครั้งนี้ดุดัน และพร้อมแลกทุกอย่างที่มี

ปลายปีก่อน แม้พวกเขาเริ่มการประท้วง จากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดจากปกติไป ที่ดูเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่ โดยดูดเลือดจากประชาชนรากหญ้า แต่ในเวลาต่อมา เมื่อ COVID-19 ผ่านเข้ามา มันกลับพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลช่างเหลวไหลไร้น้ำยาเพียงใด ยิ่งเมื่อประเทศถึงจุดแตกหักจากการระเบิดครั้งใหญ่ ยิ่งตอกย้ำถึงปัญหา ที่มิได้เกิดจากเพียงว่า ใครกันแน่ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล

แต่หมายความถึงปัญหาจากระบบบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ที่ฝังรากลึกมานาน 

พวกเขาไม่ยินดีอดทนอีกต่อไป

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลบานอน ที่ผู้ประท้วงมิได้ออกมา เพื่อศาสนา หรือเพื่อขั้วอำนาจฝั่งใด แต่ประกอบด้วยประชาชนจากทุกฝักฝ่าย ที่ออกมาเรียกร้องเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชน

ปล. บริเวณที่เกิดการระเบิด เป็นยุ้งฉาง(Silos)เก็บอาหารของประเทศค่ะ หลังจากนี้เลบานอนน่าจะมีเวลาเพียงแค่ 1 เดือน ก่อนที่จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่

อ้างอิง

- unrwa.org

- pubmed.ncbi.nlm.nih.gov

- who.int

- npr.org

- hrw.org

- e-ir.info

- emro.who.int

- telegraph.co.uk

- gulfnews.com

- wikipedia.org

- wikipedia.org

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0