โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘Shame’ สารคดีที่ตั้งคำถามว่า “ใครคือคนที่ควรละอาย เมื่อผู้หญิงถูกข่มขืนผ่านระบบ” - เพจพื้นที่ให้เล่า

TOP PICK TODAY

อัพเดต 20 มิ.ย. 2563 เวลา 02.13 น. • เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2563 เวลา 19.21 น. • เพจพื้นที่ให้เล่า

ผู้หญิงคนหนึ่งโดนข่มขืนจากผู้ชาย 14 คน จากความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

เธอตัดสินใจออกมาทวงถามหาความยุติธรรมที่ตัวควรได้รับตามกระบวนการทางกฎหมายถึง 2 ปี

แต่สังคมส่วนหนึ่งกลับประนามว่าการกระทำนี้ของเธอมันน่าอับอายและพาความอัปยศมาหาสมาชิกครอบครัวคนอื่นของเธอ

การโดนข่มขืนซ้ำๆ จากระบบ การโดนคุกคามทำร้ายร่างกายจากการพูดในสิ่งที่ถูกทำให้เธอต้องอยู่ไม่สู้ตาย

แต่สุดท้ายเธอไม่ตาย.. เธอคือ Mukhtaran Bibi หรือที่รู้จักกันในชื่อ Mukhtaran Mai

.

เชื่อว่าบนโลกนี้หลายๆ คนไม่เคยได้ยินชื่อของเธอคนนี้และไม่รู้ว่าเธอผ่านอะไรมาบ้าง แต่ชีวิตของเธอเป็นหนึ่งในความงอกงามและความเปลี่ยนแปลงอันกล้าหาญ ที่เกิดขึ้นค้านจากความเชื่อในสังคมชาวปากีสถาน “สังคมที่เชื่อว่าผู้หญิงเป็นอะไรก็ได้ตามความต้องการของผู้ชาย ยกเว้นเป็นตัวของตัวเอง”

สังคมปากีสถานดั้งเดิมเชื่อว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำเลวร้ายหรือโดนข่มขืนควรยอมรับสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรม และพยายามใช้ชีวิตต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หากผู้หญิงที่โดนกระทำในลักษณะนี้ตัดสินใจพูดหรือบอกความจริงเรื่องนี้กับใคร เธอจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงน่าอับอายหรือผู้หญิงสกปรกในสังคมแวดล้อมทันที ความหวาดกลัวและความอับอายในตัวตนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องก้มหน้าจัดการด้วยตัวเองภายในใจเท่านั้น หลายคนอาจเลือกที่จะย้ายถิ่นฐาน พาตัวเองไปเลียแผลใจให้ห่างจากคนที่ก่อเหตุ หลายคนโดนครอบครัวจับได้และตัดสินให้ฝังทั้งเป็น บ่อยครั้งที่ทางเลือกในการบอกลาความเจ็บปวดของพวกเธอคือความตาย

ด้วยความคิดแบบนี้ทำให้ประเทศปากีสถานกลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีความรุนแรงกับสตรีและสตรีสูงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อเด็ก ซาฮิล ในช่วงปี 2545-2555 ที่ผ่านมา พบว่าสถิติจำนวนเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนในปากีสถานเพิ่มสูงเกือบ 4 เท่า

.

หน้าปกของสารคดีเรื่อง Shame ที่สร้างจากชีวิตจริงของมุกห์ตารัน บีบี (2006)
หน้าปกของสารคดีเรื่อง Shame ที่สร้างจากชีวิตจริงของมุกห์ตารัน บีบี (2006)

ในปี 2006 มีการนำสารคดีที่สร้างจากเรื่องราวชีวิตจริงของ Mukhtaran Bibi หรือ มุกห์ตารัน บีบี เรื่อง ‘Shame’ ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฯ ที่ประเทศแคนาดา ข้อความอันทรงพลังที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวที่สะเทือนใจและอารมณ์ของผู้ชมไปถึงผู้หญิงทั่วโลก จนเรื่องราวของเธอกลายเป็นสิ่งที่ถูกถกเถียงในแวดวงสิทธิสตรี และกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาใช้หลายๆ ประเทศในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในคดีข่มขืน

ชื่นชมว่าเป็นสารคดีที่คนทำตั้งใจทำมากจริงๆ เพราะต้องต่อสู้กับการเข้าถึงแหล่งข่าวและการขอข้อมูลจากหลากหลายฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อต้องดีลกับหลายหน่วยงานของทางการ อย่างหน่วยงานตำรวจท้องถิ่นขึ้นมา พวกเขาย่อมต้องเจอกับการจับตามองของข้อมูลที่กำลังจะนำเสนอออกไป แต่โชคดีที่ความเสี่ยงนั่นคุ้มค่า

.

มุกห์ตารัน บีบี ถูกผู้ชายในหมู่บ้านเดียวกันจำนวน 14 คนทำร้ายร่างกายและข่มขืน เพียงเพราะพวกเขาต้องการลงโทษเธอ.. แทนน้องชาย .. ที่ไปลวนลามหญิงสาวในตระกูลที่สูงกว่า พวกเขามองว่าวิธีนี้จะช่วยรักษาเกียรติยศของครอบครัวตามธรรมเนียมที่เชื่อปฏิบัติตามๆ กันมา

ไม่ต้องบอกก็คงเห็นภาพมุมมองของสังคมที่มีต่อเรื่อง 'ความเท่าเทียมระหว่างเพศ' ที่สืบทอดกันมาเป็นความเชื่ออย่างยาวนาน
พวกเขารักษาเกียรติของครอบครัวหนึ่ง ด้วยการทำลายเกียรติและชีวิตผู้หญิงคนนึง
.
หลังจากที่เธอโดนทำร้ายในช่วงกลางปี 2002  มุกห์ตารันเป็นผู้หญิงที่เลือกจะไม่ยอมรับชะตากรรมอันโหดร้ายและไม่เป็นธรรมกับผู้หญิง และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มรูปแบบ ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาคดีและตัดสินโทษในประเทศที่คดีข่มขืนเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เธอถูกทำร้ายร่างกายและคุกคามอย่างรุนแรง รวมถึงต้องเผชิญกับการเมืองที่ยืดระยะเวลาการพิจารณาคดีอย่างไม่จบไม่สิ้น จนมีกลุ่มผู้หญิงที่ทนไม่ได้กับเรื่องราวของเธอและออกมาสนับสนุนผ่านกลุ่มโต๊ะอิหม่าม องค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนมากมายเล่นข่าวนี้เพื่อผลักดันให้ปากีสถานมอบบทตัดสินที่ยุติธรรมให้แก่มุกห์ตารันในขณะเดียวกันผู้คนฝั่งที่นิยมความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ของสังคมปากีสถานเองก็ต่อสู้ยิบตาเพื่อให้คดีจบแบบที่ผู้กระทำไม่เจ็บกันมากนัก

หลายคนคงคิดว่าคดีของเธอจะจบสวย แต่เชื่อว่าต้องผิดหวังกันบ้าง

เมื่อความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ข่มขืนมุกห์ตารันรอดไปได้ถึง 8 คนจาก 14 คน

นอกจากนั้น ผู้ชาย 6 คนที่โดนตัดสินว่ามีความผิด ยังได้รับการลดโทษเหลือเพียงการจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหาร

แต่ก็ใช่ว่าการกระทำของเธอจะเป็นการกระทำที่ไร้กระแสตอบรับด้านบวกซะทีเดียว ก้าวแรกของเธอทำให้ผู้หญิงเริ่มมีพื้นที่และสิ่งต่างๆ ตามมาอีกมากมาย สมกับคำกล่าวของมุกห์ตารัน บีบีในบทสัมภาษณ์ว่า… “If one step I take, if that helps even one woman, I would be very happy to do that.” แปลเป็นไทยได้ว่า ถ้าหนึ่งก้าวของฉัน มันสามารถช่วยเหลือผู้หญิงสักคนได้ ฉันยินดีที่จะทำ
.
ประเทศไทยเองก็ยังคงมีคดีข่มขืนมาให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ลองมาตั้งคำถามกันหน่อยว่าหมดยุคที่ทุกคน รวมถึงสื่อมวลชนในสังคมจะข่มขืนพวกเธอเหล่านั้นซ้ำกับการตั้งคำถามเหล่านี้หรือไม่ 

วันนั้นเธอแต่งตัวอย่างไร.. แต่งตัวโป๊เปลือยมากเกินไปหรือเปล่า กางเกงขาสั้นไปไหม

เพราะวันนั้นเธอไม่รักษาระยะห่างกับพวกเขาเองหรือเปล่า.. เธอไปงานปาร์ตี้กับเขาเองนี่ 

แน่ใจนะว่าไม่เต็มใจ ไม่เต็มใจแล้วทำไมไม่หนี ไม่ขอความช่วยเหลือทันที.. สมยอมหรือเปล่า 

การที่เหยื่อผู้หญิงต้องผ่านเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีข่มขืนนั้น พวกเธอต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากการเล่าภาพเหตุการณ์ การเผชิญหน้ากับผู้ที่ทำร้าย และการก้าวข้ามผ่านความอับอายของตัวเอง คำถามพวกนี้บ่อยครั้งเป็นการสร้างตราบาปและโยนความผิดกลับมาให้เหยื่อที่โดนกระทำ ว่าพวกเธอเข้าข่ายทำตัวเองหรือไม่ 

ซึ่งหนึ่งในการโต้กลับกับความเชื่อที่ว่าผู้หญิงแต่งตัวโป๊ทำให้ตัวเองอยู่ในความเสี่ยงเอง และคำถาม "เธอแต่งตัวโป๊มากเกินไปเองหรือเปล่า" คือนิทรรศการ 'What Were You Wearing' หรือ 'คุณสวมใส่อะไรตอนนั้น' ของศูนย์การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศของมหาวิทยาลัย Kansas ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แสดงตัวอย่างที่ไขข้อกระจ่างในกรณีนี้ ด้วยการนำเสื้อผ้าที่เหยื่อผู้หญิงกลุ่มหนึ่งสวมใส่ในวันที่พวกเธอโดนข่มขืนมาจัดแสดง ให้คนทั่วไปได้ลองวิเคราะห์เองว่า..สุดท้ายแล้วการแต่งกายของผู้หญิงนั้นมีผลกับการที่พวกเธอโดนข่มขืนหรือไม่ เสื้อผ้ามีตั้งแต่เสื้อยืดอยู่บ้าน กางเกงกีฬาขายาว เสื้อแขนกุด กางเกงยีนส์ ชุดเดรส ชุดทำงาน ไปจนถึงชุดบิกินี่ 

ภาพจากนิทรรศการ What Were You Wearing?
ภาพจากนิทรรศการ What Were You Wearing?
ภาพจากนิทรรศการ What Were You Wearing?
ภาพจากนิทรรศการ What Were You Wearing?
ภาพจากนิทรรศการ What Were You Wearing? ผู้หญิงคนหนึ่งโดนข่มขืนถึง 3 ครั้ง และนี่คือชุดทั้งหมดของเธอ
ภาพจากนิทรรศการ What Were You Wearing? ผู้หญิงคนหนึ่งโดนข่มขืนถึง 3 ครั้ง และนี่คือชุดทั้งหมดของเธอ

สุดท้ายแล้ว เราและสังคมไทยอาจต้องเริ่มสร้างค่านิยมใหม่ๆ เกี่ยวกับการแสดงออกเรื่องคดีข่มขืน 

ดึงสติตัวเองและคนรอบข้างด้วยตรรกะง่ายๆ 3 ข้อดูก่อน 

หนึ่ง.. ผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไรก็เป็นสิทธิการตัดสินใจของเขา ผู้ชายจะแต่งตัวอย่างไรก็เป็นสิทธิของผู้ชายเช่นกัน 

สอง.. ในความเป็นจริงแล้ว ต่อให้ชายและหญิงจะแต่งตัวโป๊แค่ไหน เราทุกคนก็ไม่มีสิทธิใช้ข้ออ้างนี้ไปข่มขืนใครทั้งนั้น

สาม.. ไม่ใช่แค่สอนให้ผู้หญิงแต่งตัวให้มิดชิด รักษาระยะห่างให้ปลอดภัยจากผู้ชาย เราควรสอนให้ผู้ชายให้เกียรติทุกเพศ ไม่ไปข่มขืนใครเหมือนกัน

.

ติดตามบทความของเพจพื้นที่ให้เล่า ได้บน LINE TODAY ทุกวันเสาร์

.

อ้างอิง

shorturl.at/mort7

shorturl.at/aensW

shorturl.at/gosv4

shorturl.at/djNS6

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0