โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อรชุมา ยุทธวงศ์: ‘Self-Searching – คุณค่า ตัวตน คนละคร’ หนังสือที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนใจเขาใจเรา

a day BULLETIN

อัพเดต 09 ส.ค. 2563 เวลา 07.56 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2563 เวลา 05.36 น. • a day BULLETIN
อรชุมา ยุทธวงศ์: ‘Self-Searching – คุณค่า ตัวตน คนละคร’ หนังสือที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนใจเขาใจเรา

“ขอให้เขียนราวกับว่ามันเป็นหนังสือเล่มสุดท้าย”

        ข้อความจาก ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา บรรณาธิการหนังสือSelf-searching: คุณค่า ตัวตน คน ละครที่บอกกับ ‘ครูแอ๋ว’ - อรชุมา ยุทธวงศ์ในครั้งที่แก้ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งที่สาม ต้นฉบับหนังสือที่มีเขียนแก้ไปมานับสิบปี จนได้มาเป็นเล่มสมบูรณ์ในการเขียนต้นฉบับครั้งที่สี่ ต้นฉบับที่มีชีวิต ตัวตน ประสบการณ์ที่หล่อหลอมความเป็นครู ประกอบคู่ไปกับความรู้ศาสตร์การแสดงที่ผู้เขียนอธิบายว่า “ไม่ใช่เรื่องของการเสแสร้ง แกล้งทำ แต่เป็นศาสตร์และศิลป์ เป็นการเรียนรู้จากชีวิต และนำไปใช้กับชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและเป็นสุข”

        สารภาพว่านั่นเป็นความเข้าใจผิวเผินเกี่ยวกับการแสดงว่ามันคือการเล่นบทบาทสมมติต่างๆ ที่ทำให้ภาพจำของศาสตร์การแสดงนี้จำกัดเพียงวงการบันเทิงเพียงเท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งที่เดินผ่านร้านหนังสือ ท่ามกลางหนังสือมากมาย มีหนังสือสีขาวเล่มหนึ่ง หน้าปกคล้ายกระจกที่สะท้อนแดดในร้าน ดึงดูดเราให้เดินเข้าหา และตั้งหน้าตั้งตาอ่านจนจบในหนึ่งคืน และเมื่อพลิกหน้าปกกลับมาอีกที ก็ราวกับเห็นหน้าตัวเองบนกระจกหน้าปกนั้นชัดกว่าที่เคย

        หนังสือเล่มนั้นคือผลลัพธ์จากต้นฉบับครั้งที่สี่ที่ ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา ขอให้ รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์ หรือที่ใครๆ เรียกว่า ‘ครูแอ๋ว’ เขียนราวกับว่ามันจะเป็นเล่มสุดท้าย โจทย์ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยประสบการณ์มากมาย จากการที่ครูแอ๋วได้นำศาสตร์การแสดงไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ในสายอาชีพต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงศิลปิน นักแสดงเท่านั้น หากยังรวมถึงผู้บริหาร คนทำงานบริการ แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ที่ทำให้เราเห็นความลุ่มลึกของศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณนี้ที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนตัวตนของเรา ในขณะเดียวกันก็เห็นผู้อื่นที่อยู่รายล้อมเราเช่นกัน 

        ในแง่นี้นั้น ศาสตร์การแสดงจึงไม่ (ควร) จำกัดอยู่แค่เพียงวงการใดวงการหนึ่งเลย หากเป็นศิลปะแห่งการใช้ชีวิต ฝึกให้ไม่ยึดติดกับบทบาทตัวตนใดๆ พร้อมที่จะลื่นไหลไปตามบทบาทต่างๆ ในขณะเดียวกันก็สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจ เข้าอกเข้าใจเบื้องหลังที่หล่อหลอมตัวตนของผู้อื่นได้เช่นกัน

        a day BULLETIN สนทนากับครูแอ๋วในบ้านที่เปิดต้อนรับลูกศิษย์มานักต่อนัก บ้านที่ใครต่อใครบอกว่าเป็นประตูเข้าไปสู่โลกอีกใบ ที่เมื่อเดินออกมาใหม่แล้วจะเปลี่ยนไปจากคนเดิม - ด้วยความเข้าใจตัวเองที่หมดจด และสายตาสดใหม่ที่พร้อมจะมองผู้อื่นด้วยความเข้าใจ มีชีวิตที่บทบาทในโลกภายนอก สอดคล้องกับตัวตนภายใน ละเมียดละไมในการใช้ชีวิตกว่าเคย

        หนังสือจากต้นฉบับที่สี่ที่ใช้เวลานับสิบปี และหลังบานประตูบ้านรั้วสีเขียวของครูแอ๋วนี้มีคำสอนอะไรสอนอยู่ ชวนคุณไปดำดิ่งไปกับบทสนทนาร่วมกับ ‘ครูแอ๋ว’ - รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์ 

 

อรชุมา ยุทธวงศ์
อรชุมา ยุทธวงศ์

องก์หนึ่ง: คุณค่า

ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้เราเข้าใจว่าศาสตร์การละครคือวิชาที่ใช้สอนศิลปิน ดารา นักแสดงเท่านั้น จุดไหนที่ทำให้ครูแอ๋วเริ่มนำศาสตร์นี้ไปใช้กับผู้คนในสายอาชีพอื่นๆ ด้วย 

        เป็นสิบกว่าปีแล้วค่ะที่นำวิชาการละครไปสอนผู้คนอาชีพต่างๆ ยังจำครั้งแรกได้ที่ผู้บริหารสายการบินมาปรึกษาว่าทำอย่างไรให้ลูกเรือยิ้มแย้มขณะให้บริการ เราเริ่มจากทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่ยิ้ม จนพบว่าถ้าเราต้องทำอะไรซ้ำๆ ทุกวัน เราก็คงมีวันที่ยิ้มไม่ออกเหมือนกัน แล้ววันไหนล่ะที่คนเรายิ้มแย้มแจ่มใสไปทำงาน เลยนึกถึงวันแรกที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ตั้งใจมาก ถ้าอย่างนั้นเราทำให้เขารู้สึกว่าทุกวันเป็นวันแรกได้ไหม ก็เอาเทคนิคละครเวทีมาใช้ ที่จะเล่นกี่สิบรอบเราก็ต้องทำให้คนดูสนุกทุกรอบ เราอาจท่องบทนั้นเป็นครั้งที่ร้อยแล้ว แต่เขามาเจอเราครั้งแรก เราต้องทำให้เขาประทับใจที่สุด กับผู้โดยสารก็เช่นกัน เราต้องปฏิบัติราวกับว่านี่เป็นไฟลต์แรกของเรา เรากำลังเป็นตัวแทนองค์กร เป็นตัวแทนประเทศ ถ้าเชื่อแบบนี้เขาเองก็จะสนุกขึ้นมาได้ แล้วก็จะยิ้มจากข้างในเอง

        สจ๊วตคนหนึ่งถามว่าถ้าอย่างนั้นเขาก็ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่หมดเลยสิ ได้ยินแล้วเรายิ้มเลย รู้สึกว่าโอเค เราปิดเวิร์กช็อปได้แล้ว การสอนเราบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

วัตถุประสงค์นั้นคืออะไร

        ทำให้คนเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น ด้วยการพาเขาไปนั่งอยู่ในใจคนอื่นจนเห็นความต้องการที่แท้จริง ในหนังสือพูดถึงคุณหมอท่านหนึ่ง เขาเล่าว่าเขาเขาอยากพัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แต่แค่ต้องทักทายผู้คนเวลาเดินผ่านเขาก็รู้สึกเสียเวลาแล้ว เราฟังแล้วตั้งข้อสังเกตเลยถามเขาว่า เขากินข้าวที่เดิม นั่งที่เดิมทุกวันใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ รู้ได้อย่างไร คือเรารู้สึกว่าคนที่จะรู้สึกแบบนี้ ชีวิตมันต้อง automatic มากๆ จนนานวันเข้าจะไม่เหลือความรู้สึก เราเลยให้การบ้านไปว่าครั้งต่อไปที่เจอกันให้คุณหมอกลับมาเล่าว่าตั้งแต่เช้าจรดเย็นเจออะไรบ้างที่โรงพยาบาล เห็นอะไร ได้ยินอะไร เราขอให้คุณหมอเล่าให้หมด

        คุณหมอก็สงสัยนะ แต่เขาก็ลองทำตาม เพราะเขาอยากพัฒนาเรื่องความสัมพันธ์จริงๆ พออาทิตย์ถัดไปกลับมาเจอกัน เขาตาเป็นประกาย บอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพนักงานขับรถเขามีมุมพักของเขา เขาจะนั่งรวมกันเป็นกลุ่ม ไม่เคยเห็นประกาศในลิฟต์ ไม่เคยรู้เลยว่ารูปในห้องทำงานมันเป็นรูปอะไร เพราะปกติมาถึงก็ทำงานเลย การให้เขาสังเกตแล้วมาเล่าให้เราฟังมันทำให้เขาต้องอยู่กับปัจจุบัน จนวันหนึ่งเขาเล่าว่าเขาผ่าตัดเสร็จแล้วหันไปบอกพยาบาลทุกคนว่าขอบคุณมากนะ เราฟังแล้วก็บอกว่าคุณหมอไม่ต้องมาแล้วก็ได้นะ คุณหมอทำได้แล้ว

        หรือแม้แต่การโค้ชศิลปิน มีนักร้องคนหนึ่งต้องไปเล่นละคร แต่เขาไม่สดใสเลย เราเห็นแล้วรู้เลยว่าแบบนี้ต้องคุยกันก่อน ต้องเข้าไปอยู่ในใจเขาว่าอะไรมันติดขัดอยู่ เขากังวล ไม่สบายใจเรื่องอะไร นั่งคุยกันจนเขาบอกว่าเขารู้สึกเป็นตัวเองเมื่อเป็นนักร้อง แต่การเล่นละครมันไม่ใช่เขา เขารู้สึกว่ามันเฟก เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเขาแค่ร้องเพลงอย่างเดียวไม่ได้ ทำไมเขาต้องมาทำอย่างอื่น พอได้ยินสิ่งที่มันอัดอั้นตันใจแล้ว เราจึงค่อยๆ ทำความเข้าใจกับเขาว่าการแสดงมันไม่ใช่การเฟก มันคือศิลปะประเภทหนึ่งไม่ต่างจากศิลปะการร้องเพลง จนเขาค่อยๆ เข้าใจความหมายของการแสดงมากขึ้น สิ่งที่มันคาใจเขามันถูกปลดล็อกแล้ว ทีนี้เลยแสดงได้ 

        ฉะนั้น การโค้ชแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีโจทย์ มีความต้องการ มีความกลัวต่างกันไป เราบอกให้เขาเข้าใจผู้อื่น เราเองเป็นครูก็ต้องเข้าใจศิษย์แต่ละคนให้ได้ 

ครูแอ๋วเรียกสิ่งที่ทำว่าเป็นการโค้ช ช่วงนี้ที่มีกระแสในแง่ลบเกี่ยวกับคำคำนี้ ครูแอ๋วมองว่าแท้จริงแล้วการโค้ชนั้นคืออะไร ต่างกับการสอนอย่างไร

        การโค้ชในความหมายของครูแอ๋วคือการพาเขากลับไปทบทวนตัวเอง และช่วยแนะแนวทาง เช่น ลูกศิษย์บางคนซึมเศร้า เขารู้สึกว่าชีวิตนั้นไร้ความหมาย ถ้าเราไม่แก้ความรู้สึกตรงนี้ เราจะกระโดดไปบอกให้เขายิ้มแย้ม แจ่มใสไม่ได้เลย ฉะนั้น เราต้องกลับมาทำให้เขาเห็นคุณค่าตัวเขาเองให้ได้ รักตัวเองให้เป็น ยิ่งยุคสมัยนี้ยิ่งต้องการโค้ชชิ่งเลย เพราะเป็นยุคสมัยที่คนรู้สึก lost แต่มันอาจเป็นสิ่งที่ดีนะคะ เพราะการ lost ทำให้เขาออกแสวงหา สนใจมิติชีวิต จิตวิญญาณมากยิ่งขึ้น

 

อรชุมา ยุทธวงศ์
อรชุมา ยุทธวงศ์

องก์สอง: ตัวตน

อะไรดลใจให้ครูแอ๋วเลือกเรียนการละคร ทั้งๆที่ไม่ใช่ศาสตร์ที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น

        คณะอักษรศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เรียนกับอาจารย์สดใส1ได้เรียนกับครูแล้วรู้เลยว่าไม่สามารถเรียนอย่างอื่นได้อีกแล้ว

อาจารย์สดใสสอนอะไรถึงจุดประกายเราได้ขนาดนั้น

        อาจารย์สดใสเป็นครูที่วิเศษมาก อาจารย์สอนได้กระจ่าง อาจารย์เป็นนักเขียนบทด้วย เวลาท่านเล่าอะไรมันจึงสนุกไปหมด เวลาเรานั่งเรียนเราจะได้ยินแต่เสียงของท่าน เหมือนตกอยู่ในภวังค์

        อาจารย์ทำให้เห็นว่าการละครนั้นไม่มีผิดไม่มีถูก เรารู้สึกว่านี่แหละการเรียนรู้ชีวิตมนุษย์ ท่านมีอิทธิพลกับเรามาก

จุดไหนที่ผันจากนักแสดงมาเป็นครูการแสดงเสียเอง

        เราไม่ได้เลือก ชีวิตเลือกให้เรา เราเคยคุยกับลูกชายตอนเขายังเล็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เขาตอบว่าไม่ต้องเลือกหรอก โตขึ้นชีวิตจะเลือกให้เราเอง แล้วชีวิตเขาก็เป็นเช่นนั้น จากนักเรียนเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้เป็นนักบิน ชีวิตมันกำหนดให้เขาแล้ว

หากมองเช่นนั้น บางคนอาจมองว่าเราไม่ได้เป็นคนกำหนดชะตาชีวิตเอง 

        ความหมายคือ เต็มที่กับชีวิตไปเถอะ เต็มที่กับทุกขณะ ทุกบทบาท คนละครจะถูกฝึกให้อยู่กับปัจจุบันเสมอ 

        อย่างเราเรียนจบพอมีโอกาสได้สอน มันก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ หรือช่วงหนึ่งที่ทำรายการโทรทัศน์ ก็เพราะมีคนชวนไป บอกให้ทำรายการสำหรับเด็กให้หน่อย เราก็เต็มที่กับโอกาสที่เข้ามา มันไม่ใช่สิ่งที่เราขวนขวายเอง แต่เราก็อยู่กับมันไปหลายปี แล้วผลของมันก็ถูกต่อยอดไปเรื่อยๆ

รายการเกี่ยวกับอะไร

        ชื่อรายการ ‘หุ่นหรรษา’เราอยากทำรายการเด็กให้สนุก โชคดีสามีเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาก็จะช่วยเขียนเนื้อหาให้บ้าง เช่น การผจญภัยของเชื้อโรคในเม็ดเลือดขาว เราก็ทำหุ่นจำลองให้เห็น อยากเล่าอะไรก็เล่าผ่านรายการนี้ เรื่องความตาย เรื่องสัตว์เลี้ยง เรื่องความเป็นพี่้น้อง มันไม่ใช่รายการที่ผู้ใหญ่มาสอนเด็ก แต่มาเล่าให้ฟัง เราเลือกที่จะไม่สอนตรงๆ เพราะรู้สึกว่าเด็กไทยถูกสอนเยอะแล้ว 

ดูเหมือนว่าครูแอ๋วเลี่ยงการสอนแบบบอกตรงๆ สอนแบบไม่สอนมาตลอด

        เรารักในความเป็นครู แต่เราไม่เคยต้องการให้ลูกศิษย์เชื่อเราง่ายๆเลย เราบอกเขาเสมอว่าอย่ารีบเชื่อสิ่งที่เราบอก สงสัยให้รีบถาม หรือมีความรู้ใหม่ๆ ก็มาสอนเราได้ 

        อีกอย่างที่เราไม่ชอบเลยคือการให้คะแนน เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ฉะนั้น บางคนที่ได้เกรดดีๆ อาจไม่มีพัฒนาการเท่าคนที่เกรดไม่ดีเท่าไหร่ บางครั้งเกรดที่สูงแล้วมันก็ทำให้เราอยู่กับที่ แต่การเรียนรู้จริงๆ มันไม่มีเกรดสูงสุดหรอก คนเราเติบโตได้อีก มีพัฒนาการได้อีกเสมอ 

 

อรชุมา ยุทธวงศ์
อรชุมา ยุทธวงศ์

องก์สาม: คน

ในหนังสือมีพูดถึงแนวคิด ‘ตัวตน 1 2 3’ 

        ครั้งหนึ่งที่ต้องโค้ชดาราหญิงชื่อดัง เขาอ่านบทแล้วบอกว่า ถ้าเป็นเขานะ เขาไม่ร้องไห้หรอก เราเลยบอกว่านี่ไง นี่มันไม่ใช่เรา เราไม่ได้เอาตัวเราเองไปเล่น เราต้องไปเป็นเขา เป็นตัวละครนั้น เราถึงจะเล่นได้ เหมือนกับที่ คริส หอวัง เล่นเป็นเหมยลี่ ใน รถไฟฟ้ามาหานะเธอ บทเหมยลี่นี่ไม่ใช่คริสเลย แต่เขาทิ้งความเป็นคริสแล้วมาสวมบทเหมยลี่ได้แนบสนิท นี่คือสิ่งที่ต้องทำในการแสดง คือเรามีตัวตนอยู่จริง เป็นตัวตนที่หนึ่ง ตัวตนที่เราอยู่ในห้องนอน เป็นตัวเองสุดๆ และนั่นต้องเป็นตัวตนที่เรารู้สึกดีกับมันด้วยนะ เราจะไม่เทียบตัวตนที่หนึ่งของเรานี้กับตัวตนของคนอื่น 

        แต่ในการใช้ชีวิตเราก็ยังมีตัวตนที่สองและตัวตนที่สามที่เราต้องสลับมาเล่นบทบาทนี้บ้าง2 

        ถ้าเราสลับบทบาทตัวตนที่ 1 2 3 ไม่ได้ เราจะพลาดเพราะบางครั้งตัวตนที่หนึ่งของเรามันไปปะทะกับตัวตนที่สองที่เราต้องปรับไปตามกาละเทศะของสังคม คนที่จะมีชีวิตที่ดีได้คือคนที่ตัวเขาเองและผู้อื่นรักในตัวตนที่ 1 ของเขา และพร้อมที่จะสลับไปเป็นตัวตนที่ 2 ที่ 3 ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งถ้าเขารู้สึกดีกับทุกตัวตนของเขาแล้ว เขาจะไม่ลังเลในการสลับบทบาทเลย ต่อให้ต้องเล่นบทร้ายมากๆ ในตัวตนที่สาม เขาจะไม่กลัวว่าคนจะเข้าใจตัวตนที่หนึ่งของเขาผิดไป เขารู้ว่านั่นคือหน้าที่ของเขา เขารู้ว่าจะต้องเล่นบทไหน ตอนไหน

นี่เป็นบางส่วนจากการแสดงที่ประยุกต์ใช้กับชีวิต และการทำงานได้

        ถ้าคนรู้เรื่องการกำหนดบทบาท ตัวตนนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเขามาก มันช่วยให้เขาวางแผนการใช้ชีวิตในบทบาทต่างๆได้ เช่น ฮีธ เลดเจอร์ นักแสดงที่รับบทเป็น Joker ฆ่าตัวตาย มันก็อาจเป็นได้ว่าเขาเข้าไปอยู่ในบทที่สาม แล้วกลับมาหาตัวตนที่หนึ่งของเขาไม่ได้ การแยกได้ว่าเวลาไหนต้องรับบทไหน และสลับบทบาทได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เราต้องรักตัวตนที่หนึ่งของเราให้ได้ก่อน และพร้อมที่จะสละมันไป

        ครูไม่ได้สอนแค่การแสดง แต่ครูจะสอนให้เขารู้จักตัวจริงของเขาให้มากที่สุด เช่น บางคนที่ตาเศร้ามาเลย เราจะไม่สอนทันที แต่จะคุยกับเขาว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็สารภาพว่าเขาเหงา เขากำลังจะพัง กลับบ้านตีสองทุกวัน ไม่มีชีวิตด้านอื่นเลย เขาไม่อยากให้สัมภาษณ์แล้ว ถ้ามาแบบนี้ เราต้องค่อยๆ ทำให้ตัวตนที่หนึ่งเขากลับมาแข็งแรงให้ได้ พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจตัวตนที่สามที่เขาต้องเล่นไปด้วย

แล้วถ้าแต่ละตัวตนมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เราจะทำอย่างไร เช่น ถ้าเราเป็นคนเงียบๆ แต่หน้าที่การงานทำให้เราต้องปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก

        ถ้าตัวตนที่หนึ่งเราแข็งแรง เราจะกลับมาตัวตนของเราเมื่อไรก็ได้ ส่วนตัวตนอื่นๆ เราต้องฝึกขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ อย่างตอนที่โค้ชญาญ่า เขาเป็นผู้หญิงน่ารักมาก แต่บทที่ต้องเล่นมันแข็งแกร่ง ทะมัดทะแมง เราจะมีเทคนิคหนึ่งคือให้เขาลองใช้ภาพในจินตนาการ ตอนนั้นเขามีภาพเป็นเม่น มีหนาม ป้องกันตัวเองได้ หรือใช้ประโยคบางคำมากำกับความรู้สึกเราไว้ เพราะบางครั้งจะมานั่งตีความมันไม่ทัน

นึกภาพ ใช้คำ เทคนิคที่เอาไปใช้ได้ในบางครั้งที่เราต้องสลับบทบาทรวดเร็วในแต่ละวัน

        จริงๆ เราสลับบทบาทกันตลอดอยู่แล้วนะ ตอนเช้าเสนองานลูกค้า ตอนบ่ายประชุมทีมงาน ตอนเย็นอยู่กับครอบครัว ตอนค่ำโน่นแน่ะถึงจะได้กลับมาเป็นตัวตนที่หนึ่ง 

        เราปล่อยให้ประสบการณ์มันกระทบเราได้ แต่เราจะไม่กระเทือน ถ้าเราเข้าใจแต่ละบทบาท ไม่ได้มองว่าเป็นการฝืนตัวเอง มันจะเบาสบายมาก

 

อรชุมา ยุทธวงศ์
อรชุมา ยุทธวงศ์

องก์สี่: ละคร

ครูแอ๋วว่าสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสตร์การละครคืออะไร

        คือการแกล้งทำ แกล้งรู้สึก เช่น โกรธ เกลียด ก็ต้องกรี๊ด

แล้วจริงๆ มันคืออะไร

        การละครคือศาสตร์และศิลป์ที่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่การแกล้งทำ มันคือการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบทบาท สถานการณ์นั้น ถ้าเราเข้าใจตัวละครนั้นจริงๆ เราจะเข้าใจว่าทำไมเขาแสดงออกอย่างนั้น และเราจะสวมบทบาทนั้นได้ พร้อมๆ กับไม่ตัดสินเขา 

ในคำนำเล่าว่าหนังสือเล่มนี้ใช้เวลายาวนานถึงสิบสามปี เป็นต้นฉบับครั้งที่สี่ การเขียนครั้งแรกกับครั้งสุดท้ายเนื้อหาต่างกันอย่างไร ทำไมถึงใช้เวลายาวนานขนาดนี้

        ครั้งแรกกับครั้งสุดท้ายมันไม่เหมือนกันเลย ครั้งแรกเขียนแล้วรู้สึกว่าปล่อยไม่ได้อย่างเต็มที่ หลายเคสเราไม่สามารถเล่าได้ว่าใครเป็นอะไร ต้องแก้ไขอะไร ถ้าจะเจาะลึกมันก็ดูผิดจรรยาบรรณ เหมือนหมอเอาเรื่องคนไข้มาเล่า มันเลยแตะได้แค่ผิวเผิน จริงๆ ต้นฉบับครั้งแรกเสร็จแล้วนะคะ แต่รู้สึกยังไม่ใช่ เลยไม่เอา

        ครั้งที่สอง เราคุยกันว่ายังไม่มีตำราสอนศาสตร์การละครแบบรอบด้านเลย เลยมีความคิดที่จะเขียนตำรา แต่เขียนไปเขียนมา ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่อีก เพราะเราไม่ชอบตัดสิน ไม่ชอบ authority ว่าฉันสอนเธอนะ ไม่ชอบบอกว่านี่เป็นวิธีการเดียว เพราะศาสตร์พวกนี้มันไม่ใช่เรื่องตายตัว 

        ก็เลยพัฒนามาเป็นต้นฉบับที่สาม หลังจากคุยกับผู้ช่วยว่ามันไม่ใช่ตำราของผู้รู้ แต่เป็นเพียงความเห็นของคนคนหนึ่ง สบายใจกว่า ก็เลยเปลี่ยนอีก เขียนใหม่ ต่อยอดจากต้นฉบับเดิม มีทั้งมุมวิชาการ และความเห็น 

        จากนั้นเอาไปให้ภิญโญอ่าน เขาก็คอมเมนต์ว่า เนื้อหาดีแล้วนะ แต่อยากให้เขียนราวกับว่านี่คือหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต ฟังแล้วเราต้องตีความใหม่เลย จากฉบับก่อนที่เราเขียนแบบไม่มีตัวเอก มีแต่พูดถึงคนอื่น ตอนนั้นเลยตกลงกับตัวเองว่าเราจะเขียนมันเหมือนทำ self-coaching กระบวนการเดียวกับเวลาเราโค้ชใคร แล้วค่อยๆ ทำความรู้จักชีวิตของเขา ฉบับนี้เลยออกมาเป็นเชิงอัตชีวประวัติ มันมีความเป็นตัวเราสูงมาก

ทำไมตอนแรกของการเขียนถึงเลี่ยงเอาตัวเองเป็นผู้ดำเนินเรื่องหลัก ทั้งๆ ที่การอยู่ในสปอตไลต์ การเป็นนักแสดงนำน่าจะเป็นธรรมชาติของคนที่ฝึกฝนการแสดงมาอยู่แล้ว

        เล่นละครมันไม่ยาก แต่การเขียนถ่ายทอด ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นใคร เรามีความรู้พอไหม มันต่อสู้กับตัวเองตลอดเวลา 

        แต่สุดท้ายเราก็ได้คำตอบจากคำแนะนำของภิญโญว่า ถ้านี่มันจะเป็นเล่มสุดท้ายของเรา เราจะเลือกเรื่องที่เป็นเรื่องของเรา เราจะทุ่มให้มันหมดหน้าตัก 

วันนี้ที่ได้เห็นความพยายามในการเขียนสิบสามปี สี่ต้นฉบับที่บันทึกการสอน และการแสดงมาตลอดทั้งชีวิตปรากฏเป็นหนังสือเล่มตรงหน้า รู้สึกอย่างไร

        มันเหมือนเราตายได้แล้ว อะไรที่เราอยากบอก เราบอกหมดแล้ว ทั้งสิ่งที่เชื่อ สิ่งที่ทำ สิ่งที่อยากส่งต่อ มันไม่มีอะไรที่เรารู้สึกตกค้างอีกต่อไปแล้ว 

 

1รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล - ผู้ริเริ่มนำการเรียนการสอนศิลปะการละครตะวันตกเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทยเป็นคนแรก ผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2554

2จากหนังสือ:
ตัวตน 1: Self ตัวจริง มีศักดิ์ศรีเป็นตัวของตัวเอง
ตัวตน 2: Host ตัวรับแขก ทำตัวได้เหมาะสมกับความถูกควร
ตัวตน 3: Role ตัวบทบาท ทำตัวตามหน้าที่ในบทบาทต่างๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0