โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘เมืองกาญจน์’แล้งหนักสุดรอบ10ปี เหตุฝนทิ้งช่วง แพ‘สะพานมอญ’เริ่มเกยตื้น

แนวหน้า

เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 05.06 น.

‘เมืองกาญจน์’แล้งหนักสุดรอบ10ปี เหตุฝนทิ้งช่วง แพ‘สะพานมอญ’เริ่มเกยตื้น

12 สิงหาคม 2563 นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนตกทิ้งช่วงมานานกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำบริเวณท้ายเขื่อนพื้นที่อำเภอสังขละบุรี เริ่มแห้งขอด เป็นเหตุทำให้บ้านเรือนของประชาชนที่เป็นแพพัก รวมทั้งแพที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก เริ่มเกยตื้นขึ้นไปอยู่บนบก

ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำซองกาเลีย ที่รับน้ำมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไหลผ่านบริเวณสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของอำเภอสังขละบุรี ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จะมีน้ำอยู่บ้างที่บริเวณลำคลองเดิม จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยเฉพาะการนำนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมโบสถ์จมน้ำ วัดวังก์วิเวการามเดิม โดยผู้ประกอบการจะต้องใช้ความระมัดระวัง จากสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเขื่อนวชิราลงกรณ ระดับกักเก็บสูงสุด 155.00 ม.รทก.  เช้านี้พบว่าระดับน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 138.53 ม.รทก. โดยมีปริมาณน้ำที่ 3,768.17 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำกักเก็บสูงสุด 8,860 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 42.53% ปริมาณน้ำใช้งานได้ 753.87 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12.89 % ปริมาณน้ำไหลเข้าล่าสุด 0.46 ล้าน ลบ.ม./ชม. ปริมาณน้ำที่ระบายออก 0.44 ลบ.ม./ชม.สามารถรองรับน้ำได้อีก 5,091.83 ล้าน ลบ.ม.

จากข้อมูลเปรียบเทียบของวันที่ 12สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีระดับกักเก็บอยู่ที่ 145.79 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 163.16 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่กักเก็บ 5,689.84 ล้าน ลบ.ม คิดเป็น 64.22% โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 2,677.84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45.79%

จากการเปรียบเทียบข้อมูลในห้วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าสถานการณ์ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง ต้องมารอลุ้นปริมาณฝนที่จะตกลงมาบริเวณเหนือเขื่อน พื้นที่อำเภอสังขละบุรี และบางส่วนของ อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อน ใน 2 เดือนที่เหลือ คือ สิงหาคม-กันยายน ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาจะเป็นช่วงเวลาที่ฝนในพื้นที่เหนือขึ้นจะมีมาก หากมีมรสุมเข้ามาในห้วงเวลาดังกล่าว จะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้

อย่างไรก็ตาม หากไม่มี ทุกภาคส่วนคงต้องให้ความร่วมมือกันในการใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคเกษตรกรรม จึงขอเตือนเกษตรกรว่าต้องมีการวางแผนในการเพาะปลูก เพื่อลดความเสียหาย โดยการหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุสั้น ขายได้ราคา

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0