โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ไพบูลย์' ปัดตกข้อเสนอ 'เฉลิม' ปมแก้ รธน. ชี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์และกฎหมาย

Khaosod

อัพเดต 12 ส.ค. 2563 เวลา 11.56 น. • เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 11.56 น.
ไพบูลย์ นิติตะวัน

'ไพบูลย์'  ไม่รับฟังข้อเสนอ 'เฉลิม' ปมแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย ส่วนเพื่อไทยเสนอผิดขั้นตอน

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ให้ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และใช้ร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2563 จำนวน 5 มาตรา แทน นั้น

โดยนายไพบูลย์ ระบุว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ ร.ต.อ.เฉลิม มีสิทธิเสนอความเห็นได้ในฐานะประชาชน แต่เมื่อข้อเสนอไม่เข้าหลักเกณฑ์เชื่อว่าจะไม่มีผลใดๆ และไม่สามารถดำเนินงานสานต่อได้ อีกทั้งเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่นำข้อเสนอดังกล่าวบรรจุเป็นญัตติหรือข้อเสนอที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพราะพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอว่าด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เตรียมไว้แล้ว

“ข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นไปตามอำเภอใจ ไม่มีความเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ส่วนตัวจะไม่รับฟัง หรือรับประเด็นไปพิจารณาในชั้นกมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมสรุปเนื้อหาและเสนอเข้าสู่สภาฯ ให้พิจารณา ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาและให้ส.ส.อภิปราย 2 วัน ก่อนจะนำความเห็นทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาล”

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่สภาฯ พิจารณารายงานของกมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นตนมองว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอน ที่ควรรอรายงานการพิจารณาของกมธ.ฯ ก่อน

“เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลไม่รอรายงานของกมธ.ฯ ​ทั้งที่ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยอยู่ในกมธ.ฯ​ หลายคน เพราะเขามีธงมาแล้วและไม่ให้ความสำคัญกับงานกมธ.ฯ ซึ่งขั้นตอนของรัฐสภานั้น หากสมาชิกเสนอญัตติแล้ว ประธานต้องตรวจความถูกต้องของญัตติก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ 15 วัน นอกจากนั้นต้องเปิดเผยญัตติให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วไป ส่วนที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการไปก่อนนั้น คือการเสนอผิดขั้นตอนและไม่น่าประสบความสำเร็จ” นายไพบูลย์ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0