โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ความในใจเรื่องเด็กไทยในสังคมอำนาจ

สยามรัฐ

อัพเดต 18 ส.ค. 2563 เวลา 02.11 น. • เผยแพร่ 18 ส.ค. 2563 เวลา 02.11 น. • สยามรัฐออนไลน์
ความในใจเรื่องเด็กไทยในสังคมอำนาจ

รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ อดีตอธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Seri Phongphit ระบุว่า

#ความในใจเรื่องเด็กไทยในสังคมอำนาจ

ปรากฎการณ์ เหตุการณ์การประท้วงของเด็กนักเรียนนักศึกษาวันนี้ มักคิดกันว่า เด็กๆ คิดเองไม่ได้ ทำเองไม่เป็น ต้องมีผู้ใหญ่ไม่หวังดีอยู่เบื้องหลัง ทั้งในประเทศต่างประเทศ ก็อาจจะมีบ้างก็ได้ แต่โดยหลักแล้ว เป็นข้ออ้างแบบการเมืองเบื้องต้น ความจริง เด็กคิดเป็น คิดได้ และทำได้มากมายหลายอย่างที่ผู้ใหญ่คิดไม่ถึง

นักเรียนประท้วงอย่างเป็นขบวนการ ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากบนถนน และในสถานศึกษาต่างๆ แล้ว ยังเริ่มมีการแสดงออกในโรงเรียนตั้งแต่เช้าวันที่ 17 สิงหาคม 2563 มีการชูสามนิ้วหน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ แล้วแชร์กันไปทั่วประเทศ และเชื่อว่า วันต่อไปก็จะมีอีก และอาจมีปรากฎการณ์อื่นตามมาและขยายเป็นลูกโซ่

ผมมองว่า นี่คือปฏิกิริยาของสังคมอำนาจ การใช้อำนาจกดทับไว้นานจนทนไม่ไหว และสังคมไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะไม่ยอมหมดลมหายใจเหมือนจอร์จฟลอยด์ที่ถูกตำรวจเอาเข่ากดทับ แต่จะดิ้นรนต่อสู้ให้หลุดพ้น ที่พวกเขาเรียกว่า 'ปลดแอก' ลองหวนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาฯ 2516 และครั้งอื่นๆ

เป็นการเลือกใช้ภาษาที่จงใจ เป็น 'วาทกรรม' ได้เลย เพราะเป็นคำที่มีพลังและอำนาจในตัวมันเอง อาจจะทำให้หลายคนคิดไปถึงภาษาฝ่ายซ้ายแบบคอมมิวนิสท์ในยุคหนึ่ง ก็คิดได้ เพราะเป้าหมายคือเรื่องเดียวกัน ปลดปล่อยให้คนเป็นอิสระจากการถูกกดขี่ครอบงำ

ดูปฏิกิริยาของครูในโรงเรียนที่เด็กชูสามนิ้ว มีบางแห่งครูแสดงอำนาจทันที อาจจะตบตียื้อแย่งมือถือ แต่อีกหลายแห่งคงทำอะไรไม่ถูก เพราะกลัวว่า ถ้ามีการแพร่ภาพที่นักเรียนแอบถ่ายไว้ออกไปจะมีปัญหา

กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลเองก็เป็นใบ้ ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร เพราะกลัวว่าจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก และอาจจะรอดูสถานการณ์ และได้แต่ปรามครูอย่ารุนแรงกับเด็กเท่านั้น ให้ค่อยๆ พูดจากัน เปิดเวทีให้แสดงออก ไม่ให้ระเบิดออกมาแบบนั้น

การศึกษาไทยสนใจแต่ใช้อำนาจควบคุมแต่ตั้งอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย มีแต่กฎ ระบียบ ข้อบังคับร้อยแปด เป็นอะไรภายนอกทั้งนั้น ไม่ได้เน้นที่คุณค่าภายใน เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระเสรีจากภายใน ปลดปล่อยคนให้เป็นอิสระ เพราะการใช้กฎบังคับจากภายนอกก็จะได้ผลผลิตของการศึกษาที่ได้ hypocrite เหมือนผู้ใหญ่วันนี้

คือ หน้าไหว้หลังหลอก มือถือสากปากถือศีลกันทั้งบ้านทั้งเมือง ทั้งสภา นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ แม้แต่ครูบาอาจารย์ หาความจริงใจ หรือสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (integrity) จริงๆ ไม่ได้ มีการโกงกินคอร์รัปชั่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง

การศึกษานี้จึงเน้นให้เด็กไว้ผมอย่างไร ใส่เสื้อผ้าแบบไหน ถุงเท้า รองเท้า ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย และคงมีประเทศเดียวกระมังที่ยังให้ผู้สูงอายุไปโรงเรียนคนแก่โดยแต่งตัวแบบเด็กนักเรียน นุ่งกางเกงขาสั้น นุ่งกระโปรงเสื้อผ้าเด็กนักเรียนพร้อมกับปักชื่อหน้าอก ให้เหมือนเด็กอีกครั้ง

เรื่องแบบนี้อาจมีคำอธิบายว่า ให้เป็นเรื่องสนุก ให้รำลึกถึงวัยเด็ก แต่จริงๆ คนคิดมีปมอำนาจอยู่เบื้องหลัง คือ การรักษาระเบียบภายนอก เพื่อแสดงว่ามีระเบียบภายใน ซึ่งส่วนใหญ่หลอกตัวเอง เพราะท้ายที่สุด การศึกษาแบบนี้ก็ไม่ได้สร้างคนให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นอย่างที่ประกาศ แต่ให้คนเป็น 'ทาส' ในสังคมอำนาจ ยอมสยบต่ออำนาจต่อไป ไม่ต่อต้าน ระบบการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือของอำนาจเพื่อครอบงำประชาชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาสร้อยกว่าปีแล้ว แต่ระบบสังคมยังไม่เปลี่ยน ยังสืบทอดอำนาจเพื่อให้เป็นสังคมทาสต่อไป และคนไทยจำนวนมากก็ยังอยากเป็นทาสต่อไป ทั้งด้วยวิธีคิดวิธีปฏิบัติ

การศึกษาไทยมิได้มีปัญหาที่ระเบียบไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องไปแก้ที่ระเบียบ ซึ่งเหมือนกับปะผุรถบุโรทั่ง แต่ต้องแก้ที่กระบวนทัศน์ทั้งหมด ต้องรื้อระบบการศึกษาที่ปะผุไม่ได้แล้ว ต้องสร้างรถใหม่ เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นคนที่มีอิสระเสรีในโลกวันนี้ที่เปลี่ยนไปแล้ว

โจนาธาน นางนวล ถูกหาว่าหลงฝูงแหกฝูง ไม่ทำตามพ่อแม่พี่น้องแบบแผนประเพณี เพราะมันต้องการบินแบบของมัน ที่มันรู้สึกว่าเป็นอิสระเสรีมากกว่า นั่นคือวิญญาณเสรีของเด็ก เยาวชน คนหนุ่มคนสาว ที่เราที่สูงอายุก็เคยผ่านมาแล้ว เคยรู้สึกมาแล้วเช่นเดียวกัน

ความเห็นของผมวันนี้อาจขัดใจผู้ใหญ่และ friends หลายท่าน ผมอยากให้เราแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุด้วยผล ผมเองไม่เห็นด้วยที่มีการใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว ด่าว่ากันไปมาไม่ว่าฝ่ายใด
รวมไปถึงเหตุการณ์ที่มีคนรุ่นใหม่ต่อต้านบอยคอตนักแสดงที่ภักดีต่อสถาบัน ซึ่งได้ตอบไปว่า “ถ้าพวกคุณเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลคุกคามประชาชน พวกคุณก็ไม่ควรคุกคามประชาชนด้วย”
ผมไม่เห็นด้วยกับ hate speech การใช้ภาษาที่สร้างความเกลียดชัง การ bully กันและกันซึ่งมีแต่จะสร้างความขัดแย้ง และทำให้สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย

รัฐบาลเองต้องมีความจริงใจที่จะรับฟังปัญหาของคนรุ่นใหม่ และประชาชนทุกรุ่น ในโลกที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ ยิ่งมีโควิด-19 มาเติมความทุกข์ให้สาหัส ยิ่งต้องรับฟัง เพราะสังคมแบบเก่านี้จะไม่สามารถอยู่รอดได้แล้ว และรัฐบาลคนเดียว คิดเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรื้อสร้างสังคมใหม่นี้ร่วมกัน

เสรี พพ 17 สิงหาคม 2020

ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพ จากเฟซบุ๊ก Seri Phongphit

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0