โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“GBS”มองกรอบดัชนี 1,300-1,355 จุด ชี้ปัจจัยหนุนยังไร้ทิศทาง แนะเล่นสั้นรอแผนกระตุ้น ศก.

สยามรัฐ

อัพเดต 18 ส.ค. 2563 เวลา 05.19 น. • เผยแพร่ 18 ส.ค. 2563 เวลา 05.19 น. • สยามรัฐออนไลน์
“GBS”มองกรอบดัชนี 1,300-1,355 จุด ชี้ปัจจัยหนุนยังไร้ทิศทาง แนะเล่นสั้นรอแผนกระตุ้น ศก.

GBS มองดัชนีหุ้นไทยยังนิ่ง แม้สภาพัฒน์ออกมาคาด GDP ส่อแววฟื้น จาก Q2/63 หดตัว 12.2 % รอลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังการประชุม ศบค.เศรษฐกิจ 19 ส.ค.นี้จะออกหัวออกก้อย พร้อมระบุสถานการณ์การเมืองยังส่อแวววุ่นไม่เลิก ด้านฝ่ายวิจัยลงความเห็นแนะกลยุทธ์ลงทุนระยะสั้นที่ได้ประโยชน์จากความคืบหน้าด้านวัคซีน-การท่องเที่ยว อาทิ AOT – MINT – ERW – CENTEL - VRANDA – SPA - SHR รวมถึงหุ้นที่ผลประกอบการออกมาดีเกินคาด อาทิ VCOM – BGRIM -CHG และ TSR

บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวในกรอบดัชนีที่ระดับ 1,300-1,355 จุด โดยเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกในประเทศเล็กน้อย ต่อกรณีที่สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า GDP ในช่วงครึ่งปีหลัง (ไตรมาส 3 และ 4 )จะฟื้นตัวจากที่หดตัว 12.2 % ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลับมาดีกว่าช่วงที่ล็อคดาวน์ในไตรมาส 2 พร้อมกันนี้คาดการณ์ว่าจะเห็นความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.นี้

ขณะเดียวกันปัจจัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศรัสเซีย ประกาศเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 “สปุตนิกไฟว์” ล็อตแรกเพื่อการพาณิชย์แล้ว หลังผู้นำประเทศประกาศความสำเร็จในการพัฒนา โดยมีหลายประเทศสั่งซื้อ นอกจากนี้หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาวได้ออกมาประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังดีดตัวขึ้นเป็นรูปตัว V ดังจะเห็นได้จากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจดีกว่าเดือนที่แล้ว

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ยังคงแกว่งตัวผันผวนตามทิศทางตลาดโลก โดยมีแรงหนุนจากข่าวความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของรัสเซีย ขณะที่ปัจจัยกดดันหลักยังอยู่ที่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐยังไม่มีความคืบหน้า รวมถึงประเด็นการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอนจากการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภาฯ ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติด่วนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีสมาชิกวุฒิสภาบางท่านเสนอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อหารือแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักลงทุนยังคงต้องจับตาคือการประชุม ครม.ในวันนี้ (18 ส.ค.63) และในวันที่ 19 ส.ค. ธปท.เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ฉบับย่อ และศบค.เศรษฐกิจ ประชุมนัดแรก

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็กกล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ดังนั้นมองว่าจากกรณีที่มีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ส่งผลดีต่อการเปิดให้มีการเดินทางข้ามประเทศอีกครั้ง ซึ่งทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสที่จะฟื้นตัว ทั้งนี้ IATA ประเมินว่ากว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมคงต้องใช้ระยะเวลาถึงปี 2567

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสัญญาณทางเทคนิค ต้องยอมรับว่าราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมลดลงปรับข่าวร้ายในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะฟื้นตัวทางเทคนิคในระยะสั้นจึงมีความเป็นไปได้ ทางฝ่ายวิจัยจึงประเมินกลยุทธ์การลงทุน ในระยะสั้น โดยแนะนำลงทุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากความคืบหน้าด้านวัคซีน และการท่องเที่ยว อาทิ AOT – MINT – ERW – CENTEL - VRANDA – SPA และ SHR นอกจากนี้ยังแนะนำหุ้นที่ผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาดการณ์และมีแนวโน้มไปได้ต่อ อาทิ VCOM – BGRIM -CHG และ TSR

ส่วนราคาทองคำ มองว่าราคาทองคำปรับตัวลงจากแรงขายทำกำไรหลังรัสเซียประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้งนี้คาดว่ารัสเซียจะเริ่มผลิตวัคซีนฯได้ภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 27% ตั้งแต่ต้นปีซึ่งสูงกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆยังให้ผลตอบแทนติดลบทำให้เป็นเป้าหมายในการทำกำไร และคาดว่ารัฐบาลประเทศต่างๆอาจยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้ทองคำไม่ได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอีกต่อไป คาดกรอบราคาทองคำเดือนนี้ 1,900-2,000 $/Oz หรือคิดเป็นราคาทองคำไทยที่ 27,880-29,200 บาทต่อบาททองคำ โดยหากราคาหลุดแนวรับที่ 1,900$/Oz ให้ระวังแรงขายออกเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0