โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เหตุใดคนโบราณทํา “คอก” แคบๆ ล้อมพระพุทธรูป

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 10 ก.ย 2566 เวลา 13.56 น. • เผยแพร่ 09 ก.ย 2566 เวลา 17.06 น.
ภาพปก-พระ
พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานในพระวิหาร (ภาพจาก www.watpho.com)

เหตุใดคนในสมัยโบราณจึงทำ “คอก” แคบๆ ล้อม “พระพุทธรูป” หรือทำพื้นที่ภายใน “อาคาร” ให้น้อยมาก จนผู้ที่เข้าไปนมัสการก็จะต้องรู้สึกอึดอัด

ตามโบราณสถานที่เมืองเก่าสุโขทัยหรือตามวัดเก่าๆ ในล้านนา อยุธยา สุพรรณบุรี ฯลฯ จะพบอาคารรูปทรงแปลกอย่างหนึ่งที่อาจได้รับการเรียกชื่อตามรูปลักษณะของการก่อสร้างว่าเป็นมณฑปบ้าง ปราสาทบ้าง หรือวิหารบ้าง ฯลฯ แต่ก็ยังมิได้มีการอธิบายว่าสิ่งก่อสร้างนั้นมีความหมายหรือประโยชน์ใช้สอยอะไรภายในวัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งก่อสร้างดังกล่าวนั้น ในปัจจุบันไม่มีการทำขึ้นแล้ว หรือมิฉะนั้นก็ทำขึ้นโดยไม่เข้าใจความหมายเดิม

ตัวอย่างของอาคารสิ่งก่อสร้างดังกล่าวแล้ว จะขอยกมากล่าวถึง เช่น ในวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัย ที่ข้างๆ เจดีย์ประธานจะมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนยืนอยู่ 2 องค์ เป็นพระที่มีความสูงกว่าตัวคนหลายเท่า ล้อมรอบพระพุทธรูปยืนมีผนังของอาคารก่อด้วยอิฐล้อมรอบ 3 ด้าน เหลือด้านหน้าเป็นช่องซุ้มประตูเปิดออก ผู้ที่ได้ชมบางคนอุทานด้วยความแปลกใจว่า

เหตุใดคนในสมัยโบราณจึงทำ “คอก” แคบๆ ล้อมพระพุทธรูปไว้อย่างนั้น (ซึ่งถ้าหากพระพุทธรูปอยากจะนั่งลงบ้างก็จะลงประทับนั่งไม่ได้เพราะผนังที่แคบอยู่ชิดทั้งสองข้าง ไม่อนุญาตให้พระแบะหัวเข่าออกเพื่อลงประทับในท่าขัดสมาธิ นอกจากจะทรงประทับนั่งชันเข่า ซึ่งพระพุทธรูปจะไม่ประทับแบบนั้น)

วัดศรีชุมเมืองเก่าสุโขทัย เป็นอาคารมีแผนผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในอาคารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ประทับเต็มพื้นที่ในปางมารวิชัย พระชานุ (หัวเข่า) ทั้งสองข้างของพระพุทธรูปยื่นล้ำเกินแนวผนังทั้งสอง ทำให้ต้องก่อผนังทั้งสองด้านเว้าลึกเข้าไปเพื่อหลีกให้แก่เข่าขององค์พระ ด้านหลังขององค์พระก่อชิดผนัง

ด้านหน้ามีที่ว่างแคบๆ ก่อนที่จะเป็นช่องของซุ้มประตูทางเข้าแคบๆ ของผนังด้านหน้า แต่ก่อนเคยมีนักวิชาการบางท่านให้ข้อสังเกตว่า การทำห้องให้แคบเกินไป (จนเข่าพระยื่นแนวผนัง) แสดงว่า การก่อสร้างตัวอาคารกับการก่อองค์พระพุทธรูปดำเนินการต่างเวลา และแนวคิดกัน ทำให้ตัวอาคารกับองค์พระพุทธรูปไม่พอดีกัน

ความจริงการทำอาคารแคบๆ สำหรับพระพุทธรูปนั่งพบทั่วไปตามโบราณสถานของแคว้นสุโขทัย ยังเหลือให้เห็นอย่างชัดเจนที่เมืองศรีสัชนาลัย เช่น วัดสระปทุม วัดกุฎีราย วัดสวนแก้วอุทยานน้อย เป็นต้น ในแคว้นล้านนาก็พบทั่วไปที่เมืองเชียงแสน เช่น วัดพระธาตุ (วัดพระรอด) ที่เมืองเชียงใหม่ เช่น วัดพระสิงห์ในส่วนที่เป็นมณฑปด้านหลัง ต่อกับวิหารลายคำ และที่เมืองลำปางในวิหารโถงของวัดพระธาตุลำปางหลวง ภายในวิหารเป็นที่ตั้งของปราสาทก่ออิฐถือปูน สร้างครอบพระด้านหน้า พระพุทธรูปประทับอยู่ภายใน มีซุ้มช่องหน้าต่างเปิดให้เห็น

ในภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปเก่าที่มีมาก่อนปีสถาปนากรุงศรีอยุธยา ประทับปางมารวิชัยในวิหารก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องเครื่องไม้ ภายในวิหารจึงมีเสาเพื่อรองรับโครงสร้างหลังคาอาคารขนาดใหญ่หลายต้น ทำให้เสาเหล่านี้เกะกะตั้งประชิดหน้าตักบังพระพุทธรูปหลายต้น แม้จะมีที่ว่างรอบๆ พระพุทธรูปภายในวิหาร แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่แคบๆ เท่านั้น จนอาจกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปนั้นประทับอยู่เต็มพื้นที่ในวิหาร

ที่วัดใหญ่หรือวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีวิหารขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างคลุมอาคารโบราณขนาดเล็ก ซึ่งส่วนที่เป็นหลังคาพังหมดแล้ว ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ภายในวิหารที่สร้างคลุม

อาคารโบราณนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับบนพระอาสน์ ห้อยพระบาทลง (เหมือนนั่งเก้าอี้) เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีตอนปลายที่มีการซ่อมแซมจนแทบไม่เหลือเค้าของเดิมแล้ว องค์พระประทับชิดผนังด้านหลัง ด้านข้างทั้งสองเป็นผนังของอาคารที่บีบชิดเข้ามาติดกับพระพาหา (หัวไหล่) ขององค์พระ ด้านหน้าเปิดโล่ง ติดต่อกับวิหารโถงขนาดเล็กที่เหลือเพียงแนวเสา ลักษณะของอาคารโบราณนี้อีกเช่นกันที่ดูแล้วเหมือนกับพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทอยู่ใน “คอก” แคบๆ

โดยเฉพาะพระพุทธรูปนอนหรือพระไสยาสน์ขนาดใหญ่ ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ วัดพระธาตุแช่แห้งเมืองน่าน วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ที่กรุงเทพฯ หรือวัดพระรูปที่สุพรรณบุรี ฯลฯ พระพุทธรูปไสยาสน์ที่มีอยู่ตามวัดเหล่านี้จะคลุมด้วยวิหารที่มีขนาดพอดีกับองค์พระเท่านั้น จะมีที่ว่างเหลือภายในอาคารก็เป็นเพียงพื้นที่แคบๆ หน้าองค์พระ จนกระทั่งบางวัด เช่น วัดพระนอน ขอนม่วง อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ ทนความอึดอัดไม่ได้ต้องขยายพื้นที่ภายในอาคารให้กว้างมากขึ้น โดยสร้างวิหารให้ใหม่เสียเลย จึงเท่ากับเป็นการทำลายความหมายของอาคารแคบๆ แบบเดิมให้หมดไป

สรุปเท่าที่กล่าวมานี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงอาคารโบราณประเภทหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีทั้งพระพุทธรูปยืน นั่ง และไสยาสน์ ความแปลกของอาคารประเภทนี้อยู่ที่การทำอาคารให้มีพื้นที่ภายในแคบมาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับองค์พระที่ประดิษฐานอยู่ จนทำให้เหลือพื้นที่ภายในน้อยมาก

บางแห่งคนไม่สามารถจะเข้าไปกราบไหว้พระภายในอาคารได้ (เพราะไม่มีพื้นที่พอ) มีบางแห่งเช่นที่วัดศรีชุม สุโขทัย วัดพนัญเชิง อยุธยา หรือวัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ ที่คนสามารถเข้าไปสักการบูชาภายในพื้นที่แคบๆ นั้นได้ แต่ผู้ที่เข้าไปนมัสการก็จะต้องรู้สึกอึดอัด เนื่องจากที่ว่างที่เว้นไว้นั้นมีน้อยนิด เมื่อเทียบสัดส่วนกับพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ลักษณะอาคารที่มีพื้นที่คับแคบเช่นนี้ ไม่น่าจะเนื่องมาจากความผิดพลาดของการออกแบบก่อสร้าง

แต่น่าจะเนื่องมาจากเพื่อแสดงความหมายบางประการมากกว่า และเพื่อที่จะให้ทราบความหมาย จำเป็นที่จะต้องศึกษากิจประจำวันของพระพุทธองค์ขณะประทับในพระอาราม เพราะค่อนข้างชัดเจนตามที่ปรากฏในเอกสารตำนานล้านนา รวมทั้งหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ด้วย เมื่อกล่าวถึงการสร้างวัด จะไม่กล่าวว่าสร้างพระพุทธรูปในวัด แต่จะกล่าวว่าสร้างวัดโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน

ในพระอรรถกถาแห่งกสิสูตร อุปาสกวรรคที่ 2 (พระไตรปิฎก ฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัย) กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีกิจประจำวัน 5 อย่าง คือ

1. กิจในปุเรภัต ทรงลุกแต่เช้า หลังจากทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้ว “…ทรงใช้เวลาล่วงไป ณ เสนาสนะที่สงัดจนถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร…” แล้วเสร็จโปรดสัตว์ เสวยพระกระยาหาร ทรงรอจนภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ จึงเสด็จเข้าพระคันธกุฎี

2. กิจในปัจฉาภัต ในเวลาหลังเพล “…ถ้าพระองค์มีพุทธประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์ครู่หนึ่งโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ลำดับนั้นทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลุกขึ้น…” แล้วทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่มาประชุมกันอยู่

3. กิจในปุริมยาม ทรงโสรจสรงพระวรกายในซุ้มสรง แล้วเสด็จมาประทับ ณ ที่แห่งหนึ่งก่อนพระภิกษุจะเข้ามาถามปัญหา ขอฟังธรรม ฯลฯ ทรงให้โอวาทแก่ภิกษุ

4. กิจในมัชฌิมยาม เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกลับไปแล้วก็เป็นเวลาประมาณเที่ยงคืน เป็นเวลาที่ทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายกับเหล่าเทวดา

5. กิจในปัจฉิมยาม เมื่อเทวดาทั้งหลายกลับไปแล้ว ทรงแบ่งเวลาที่เหลือออกเป็นสามส่วน คือทรงเดินจงกรมส่วนหนึ่ง ส่วนที่สอง “…พระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงมีสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา…” ในส่วนที่สามพระองค์ลุกขึ้น ประทับตรวจดูสัตว์โลกที่ควรตรัสรู้และที่ยังไม่ควรตรัสรู้ (เพื่อเตรียมออกโปรดสัตว์ตามกิจในปุเรภัตในลำดับต่อไป)

จากพุทธกิจที่กล่าวข้างต้นใน 5 ช่วงเวลานั้น จะเห็นว่าในบางช่วงเวลา พระพุทธองค์ทรงต้องมีความเป็นส่วนพระองค์ภายในพระคันธกุฎี ทั้งนี้เพื่อทรงพักผ่อนพระวรกายโดยการนั่งหรือบางครั้งก็ทรงนอนลงสักครู่ (สีหไสยาสน์) บางครั้งการเป็นส่วนพระองค์นี้ก็เพื่อทรงปฏิบัติพุทธกิจในการตรวจดูสัตว์โลกต่างๆ ด้วยพุทธจักษุ เพื่อเตรียมที่จะเสด็จออกโปรดตามควรแก่พื้นฐานของสัตว์โลกนั้นๆ

ในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงจำเป็นต้องมีความเป็นส่วนพระองค์นี้ พระไตรปิฎกฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัยมักจะใช้คำแปลว่า “ทรงเร้นกายอยู่” ในพระคันธกุฎี ซึ่งคำว่า “เร้นกายอยู่” นี้ ในปัจจุบันได้มีการคิดคำใหม่ขึ้นมาใช้คือคำว่า “ปลีกวิเวก” ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำที่ให้ความหมายตรงกับช่วงเวลาในพุทธกิจนี้เป็นอย่างมาก จึงได้นำมาใช้ตั้งเป็นชื่อเรื่อง ด้วยเสียดายคำดีๆ ที่ถูกเอาไปใช้กับพฤติกรรมแอบแฝงของผู้ที่อ้างตัวเป็นสงฆ์บางคนที่ไม่ต้องกับความหมาย

ในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงปลีกวิเวกในพระคันธกุฎีนี้ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่เทพและมนุษย์ว่า ไม่ควรมีใครเข้าไปรบกวนพระพุทธองค์ ดังเช่นในพระสุตตันตปิฎกตอนพรหมสังยุตต์ อันเป็นตอนที่รวมพระสูตรเกี่ยวกับพระพรหมที่เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบางพระสูตรกล่าวถึงพระพรหมบางองค์ที่มาเข้าเฝ้าผิดเวลาเพราะเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธองค์กำลังทรงปลีกวิเวกอยู่ พระพรหมท่านนี้จึงต้องแอบอยู่ข้างประตูไม่กล้าเข้าไปรบกวน ได้แต่ซุบซิบสนทนาธรรมกับผู้อื่นข้างบานประตูนั้น

จากตัวอย่างข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมากล่าว สามารถนำมาเป็นแนวคิดในการพิจารณาความหมายของการทำอาคารแคบๆ คลุมพอดีองค์พระพุทธรูปได้ว่า ช่างสมัยโบราณมีความเข้าใจและต้องการเน้นถึงคันธกุฎีหรือกุฏิของพระพุทธองค์ว่าเป็นสถานที่เฉพาะส่วนพระองค์ในช่วงเวลาที่ทรงปลีกวิเวกในพระอาราม ซึ่งจะเห็นชัดเจนมากสำหรับคันธกุฎีที่คลุมพระพุทธรูปไสยาสน์อันเป็นอิริยาบถที่แสดงการพักผ่อนพระวรกายอย่างสูงสุดของพระพุทธองค์นั้น จะไม่มีการทำเป็นอาคารกว้างขวางเกินความพอดีที่จะคลุมองค์พระปฏิมาเลย เพราะทราบดีว่าเวลานี้มิใช่เวลาที่จะมีใครเข้าไปรบกวนพระพุทธองค์ แม้เพื่อการสักการบูชาก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้อาคารที่เป็นคันธกุฎีนี้จึงมักจะทำวิหารอยู่ข้างหน้า เชื่อมติดกับส่วนที่เป็นคันธกุฎีแคบๆ พอดีองค์พระ สำหรับพระพุทธรูปนั่งมีตัวอย่าง เช่น วัดศรีชุม สุโขทัย วัดสระปทุม วัดกุฎีราย ศรีสัชนาลัย วิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับพระนอนก็มี เช่น ที่วัดพระนอนเมืองเก่ากำแพงเพชร วิหารพระนอนด้านหน้าเจดีย์ห้ายอดในวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัย เป็นต้น

วิหารที่เชื่อมต่ออยู่ด้านหน้าคันธกุฎีที่กล่าวนี้ เป็นการแบ่งพื้นที่สำหรับคนที่เข้ามาสักการบูชา มิให้เข้าไปปะปนรบกวนกุฏิส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นการที่คนเดี๋ยวนี้เข้าไปไหว้พระในพื้นที่แคบๆ ที่พอมีอยู่บ้างของอาคารประเภทนี้ เช่น ที่วัดพนัญเชิง อยุธยา วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย หรือภายในอาคารของพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ตามวัดต่างๆ นั้น จึงเป็นการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ของการออกแบบก่อสร้าง และเป็นการใช้อย่างผิดความหมายของสถานที่ (เพราะเข้าไปรบกวนพระพุทธเจ้าขณะทรงปลีกวิเวก)

ผู้เขียนขอกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่เป็นคันธกุฎี ที่แสดงความหมายการเป็นกุฏิส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการทำเป็นอาคารแคบๆ พอดีกับองค์พระปฏิมาว่า ในภาคกลางสิ่งก่อสร้างแบบนี้ได้เลิกทำไปก่อนที่อื่นๆ ในล้านนาได้มีการพัฒนารูปแบบมาเป็นปราสาทตั้งอยู่ภายในวิหารเช่นดังกล่าวแล้วที่วัดพระธาตุลำปางหลวง นอกจากนี้ยังมีให้เห็นในวิหารวัดพระธาตุจอมทอง อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ ในวิหารวัดดอนสัก อำเภอลับแล อุตรดิตถ์ เป็นต้น

ที่วัดช้างค้ำ อำเภอเมืองน่าน มีการทำให้เล็กลงขนาดประมาณเท่าศาลพระภูมิ เรียกว่าเรือนคฤห์ ตั้งอยู่กลางแจ้งโดดๆ ภายในบริเวณวัด ซึ่งน่าจะได้ผสมผสานกับคติความเชื่อของท้องถิ่นบางอย่างเข้ากับพระพุทธศาสนาแล้ว

คันธกุฎีของภาคอีสานกับของลาวล้านช้างจะทำเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดย่อมเรียกในภาษาพื้นเมืองว่า “อูบมุง” หรือบางแห่งก็เรียกว่า “กู่” ตั้งอยู่โดดๆ ภายในบริเวณวัด ได้มีพัฒนาการในลำดับต่อมาเช่นเดียวกับของล้านนา โดยการนำมาสร้างไว้ในโบสถ์หรือวิหาร เป็นอูบหรือกู่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายใน ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งของพระประธานของโบสถ์วิหารแบบพื้นเมืองที่พบอยู่ทั่วไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0