โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เราอาจไม่ต้องเดียวดายท่ามกลางโปรคู่ : เมื่อเมืองกำลังตอบรับชีวิตคนโสดมากขึ้น

The MATTER

อัพเดต 08 ส.ค. 2563 เวลา 05.00 น. • เผยแพร่ 07 ส.ค. 2563 เวลา 12.47 น. • Social

โปรโมชั่น 1 แถม 1 กันไปเพื่ออะไร ในเมื่อเราไปกินเพียงลำพัง วันศุกร์ในฝันของใครหลายคนคือการไปปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง แต่ถึงช่วงอายุหนึ่ง วันศุกร์คือ การนัดใครก็ไม่สำเร็จ ได้แต่เกาะรถ กลับบ้าน นอนเดียวดาย ฟังแล้วแสนรันทด นัดไม่ได้ไม่เท่าไหร่ ร้านอาหารทั้งหลายก็ดูจะไม่เห็นใจคนโสดอย่างเราๆ เท่าไหร่ จัดโปรโมชั่นก็ชอบเป็น 1 แถม 1 บ้าง 4 จ่าย 3 บ้าง ยิ่งเป็นร้านบุฟเฟต์ ปิ้งย่าง ชาบู ก็อย่าหวังเลย

ใครที่กำลังกลับบ้านนอนร้องไห้ กำหมัด กำมือถือเพราะโสดอย่างเดียวไม่พอ จะกินให้สาใจก็ไม่ได้อย่างต้องการอย่าเพิ่งเสียใจ

เพราะเรารู้กันดีว่าคนโสดกำลังครองเมือง สถิติการแต่งงาน และครัวเรือนแบบสมาชิกคนเดียวกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ประกอบกับกระแสโรคระบาดที่ทำให้การแยกตัวเองออกจากกันก็ร่วมเข้ามาผลักดัน ทั้งสภาพสังคมที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพร้อมตัวโรคระบาดนั้นก็ทำให้สังคม เมือง และภาคธุรกิจนั้น เริ่มเป็นมิตรกับคนโสดมากขึ้น

พูดง่ายๆ คือ ในหลายประเทศ การนั่งกินข้าวคนเดียวเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่แค่ข้าวอะไรก็ได้นะ แต่มันคือการกินปิ้งย่างยังไงล่ะ!!

megamisc.blogspot.com
megamisc.blogspot.com

megamisc.blogspot.com

Living Single กับอนาคตของการกินเนื้อย่างคนเดียว

แน่นอนว่าสถิติสารพัดชี้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตโดยลำพังกันมากขึ้น มีรายงานจากทั่วทุกมุมโลกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีศตวรรษที่ 21 ว่าเราใช้ชีวิตโดยลำพังกันมากขึ้นไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจ หรือด้วยเหตุจำเป็นเช่นการหย่าร้าง การแยกกันใช้ชีวิต มีรายงานในปี ค.ศ.2016 จากแคนาดาว่าคนแคนาดาใช้ชีวิตลำพังกันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การแยกตัวออกจากครอบครัวเพื่อสร้างตัว หรือเพื่อสร้างเส้นทางอาชีพของตัวเอง

แน่นอนว่าภาคธุรกิจก็ขานรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ถ้ามองเฉพาะเจาะจงลงไปที่การรับประทานอาหาร รายงานเกือบทั้งหมดพบว่า การกินอาหารร่วมกันอันเคยเป็นกิจกรรมสำคัญของเพื่อนฝูงและครอบครัวนั้นมีแนวโน้มลดลง พวกการกินข้าวแบบเป็นทางการ กินกับครอบครัว เพื่อนฝูงแบบเป็นกลุ่มๆ อย่างที่เราคุ้นเคยจะน้อยลง การกินเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากขึ้น การกินเริ่มไม่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ค่อยตามเวลา และการกินข้าวคนเดียวเพียงลำพังเป็นเรื่องธรรมดา รายงานจากภาคธุรกิจของ Hartman Group บอกว่าเกือบครึ่ง 47% ของการไปกินข้าวเป็นการไปเพียงลำพัง แปลว่ากินข้าวคนเดียวกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น

เกาหลีเป็นดินแดนที่มีความเป็นเอเชียอยู่ เช่นเรายังให้ความสำคัญกับครอบครัว กับการแต่งงาน นึกภาพร้านอาหารของเกาหลี การไปกินอาหารเกาหลีมักถูกจำกัดด้วยปริมาณ ร้านอาหารเกาหลีเน้นการกินเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะหม้อ จะกระทะ จะกินปลาหมึก ของอร่อยส่วนใหญ่ไม่เอื้อให้สาวโสดกินเพียงคนเดียว

ระยะหลังเกาหลี ซึ่งกำลังดำเนินรอยตามญี่ปุ่นที่เริ่มเป็นสังคมโดดเดี่ยวกันมากขึ้น เกาหลีจึงเริ่มกระแสที่เรียกว่า Honbap คือ ร้านอาหาร หรือวัฒนธรรมการกินที่เป็นมิตรกับการไปนั่งกินคนเดียว ซึ่งการกินคนเดียวนี้ส่งผลกับการวางผังร้าน วิธีการรับออร์เดอร์ การกำหนดราคา และโปรโมชั่น คล้ายๆ กันกับที่ญี่ปุ่นที่เราจะเจอร้านทำนองราเมงข้อสอบ หรือร้านอาหารที่มีเคาเตอร์บาร์ยาวๆ เป็นที่ที่เข้าไปเพื่อกินข้าวคนเดียว

Honbab ของเกาหลีนั้นแทบจะเป็นร้านในฝันของเหล่าหมาป่าเดียวดาย เพราะว่าจากการวางเตาหมูย่างขนาดใหญ่ ก็มีการปรับขนาดให้เล็กลง มีการกั้นฉากคร่าวๆ เพื่อให้ความเป็นส่วนตัว แถมใจดีถึงขนาดวางทีวีไว้ให้ส่วนตัว ย่างไป ดูทีวีไปไม่มีเหงา เจ้าวัฒนธรรมการกินดื่มคนเดียวนี้แม้ว่าจะเริ่มเฟื่องฟูและจริงจังมาร่วมสิบปีได้ แต่ด้วยจังหวะการมาของ COVID-19 การกินคนเดียวก็เลยกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดามากขึ้น

koreaboo.com
koreaboo.com

koreaboo.com

เดียวดายต้องอยู่ได้ แต่จริงๆ กินข้าวกับเพื่อนก็ดีกว่า

ความลำพัง ลึกๆ แล้วทำให้เราพังง่ายมาก แม้ว่าเราจะกินข้าวคนเดียวกันเป็นปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเหงาจะใจดีกับเรา ในที่สุดความเหงาที่กัดกินหัวใจเราก็ทำให้การกินของเราย่ำแย่ลง มีรายงานในวารสาร Obesity Research & Clinical Practice ว่า 45% ของผู้ชายที่กินข้าวคนเดียวเสี่ยงภาวะอ้วน และ 64% มีแนวโน้มจะเกิดโรคของระบบหลอดเลือดพวกเบาหวานความดัน ในรายงานยังบอกว่าหนุ่มโสดมีความเสี่ยงโรคระบบหลอดเลือดมากกว่าผู้ชายที่แต่งงาo หรือกินข้าวกับใครซักคนถึงสามเท่า

ในทำนองเดียวกันกับคำกล่าวที่ว่าความเหงาทำให้อ้วน (ตกลงอะไรๆ ก็ทำให้อ้วนไหมเนี่ย บางบทความก็บอกว่ามีแฟนแล้วจะอ้วน) แต่การกินข้าวคนเดียวมักไม่ได้น่าหวาดหวั่นแค่ในปัจจุบัน แต่เรามักมองไกลไปถึงอนาคต เรามีภาพการนั่งกินข้าวคนเดียว ที่เราก็กลัวอยู่ในใจเนอะว่าต้องกินไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเราเริ่มแก่ตัว แน่นอนว่าภาพคนชราที่กินข้าวคนเดียวเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและคุณภาพการรับประทาน มีงานศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่กินข้าวคนเดียวมีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งตรงสำคัญคือ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้อยู่ที่อยู่เพียงลำพังไหม แต่การมีกิจกรรมรับประทานอาหารที่ดี ส่งผลกับสุขภาพทั้งกายและใจต่อไปโดยตรง

เมืองเช่นญี่ปุ่นก็เริ่มมีการออกแบบเมืองให้เป็นเมืองของผู้สูงวัยโดยเฉพาะ นอกจากเรื่องความปลอดภัย เรื่องบริการการแพทย์แล้ว ก็ยังออกแบบเผื่อไปถึงพื้นที่กินอาหารส่วนกลาง เป็นที่ที่ผู้สูงอายุในชุมชนจะสามารถกระทั่งมารับอาหารส่วนกลาง มาใช้ครัว รวมถึงใช้พื้นที่ส่วนกลางปรุงและรับประทานอาหารร่วมกัน ตรงนี้เองที่วัฒนธรรมอาหารบางประเทศมีการใช้บาร์ยาว อันเป็นพื้นที่สำหรับลูกค้าที่มาคนเดียว และในทางกลับกันก็เป็นที่ที่ผู้คนจะได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน คล้ายกับภาพในหนังเรื่องมิดไนท์ ไดน์เนอร์ที่บาร์เล็กๆ ในร้านอาหารเป็นพื้นที่ที่ผู้คนที่กำลังดินรนในเมืองอย่างเดียวดายเข้ามาเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนเรื่องเล่าซึ่งกันและกัน

Netflix
Netflix

Netflix

ดังนั้นเอง จริงอยู่ว่าเมืองและสังคมกำลังเปลี่ยนไป เราโดดเดี่ยว แยกห่างออกจากกันมากขึ้น พร้อมกันนั้นคุณภาพชีวิตก็อาจจะค่อยๆ ลดลงจากความเดียวดายที่อยู่ในใจ ประเด็นจึงอาจไม่ได้หยุดแค่การมองว่าเมืองเหงา หรือการกินข้าวคนเดียวเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำ แต่ความสำคัญอาจอยู่ที่ว่า ในเมืองที่แสนเหงา ทำยังไงเราถึงทำให้คนที่กินข้าวลำพัง กินอาหารอันเป็นกิจกรรมที่ควรจะรื่นรมย์ ได้อย่างไม่พัง

แต่ในระดับเบื้องต้น การมีร้านหมูกะทะ หรือวางโปรโมชั่นเผื่อคนโสด คนเหงา คนเดียวดายบ้าง ก็ถือเป็นความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ก่อนนะ

อ้างอิงข้อมูลจาก

cbc.ca

theweek.com

time.com

d8aspring.com

bmcgeriatr.biomedcentral.com

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0