โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เป็นโรคกลัวสังคมหรือแค่ขาดความมั่นใจในตัวเอง - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 01 ก.ค. 2563 เวลา 08.40 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
ภาพโดย Justice Amoh จาก unsplash.com
ภาพโดย Justice Amoh จาก unsplash.com

ชายหนุ่มคนหนึ่งมาขอเข้ารับคำปรึกษาด้วยสาเหตุว่าเขาสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคกลัวสังคม  (Social phobia)  

“อะไรที่ทำให้คิดว่าตัวเองเป็นโรคกลัวสังคม (Social phobia) ?”

“ผมไม่กล้าสบตาคน เวลาพูดกับใครก็ต้องก้มหน้า ไม่กล้าออกงานสังคมคนเดียวต้องหาคนไปเป็นเพื่อน อ่านเจอในอินเตอร์เน็ตแล้วคล้ายกับโรคกลัวสังคมเลยมาพบหมอครับ”

หมอฟังแล้วก็แอบชื่นชมในใจนะคะที่รู้สึกว่าอยากปรับตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อให้มีความชัดเจน หมอจึงต้องถามเจาะลงในรายละเอียดค่ะว่า

อาการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่?

อะไรคือจุดที่ตัดสินใจมาพบหมอ?

เพราะอะไรไม่กล้าไปงานสังคมคนเดียว ?

แล้วเป็นกับใครที่ไหนบ้าง?

 “ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีความกลัวไม่กล้าสบตาคนอื่นตั้งแต่เริ่มเข้าวัยรุ่น แต่ถ้าเริ่มคุ้นเคยหรือสนิทกันจะไม่เป็น ผมจึงเลือกเรียนและทำงานเป็นช่างซ่อมรถในอู่เพื่อไม่ต้องอยู่กับคนมาก แต่ตอนนี้ผมมีความคิดอยากเปิดอู่เป็นของตัวเอง จำเป็นต้องคุยกับลูกค้าแต่ถ้าผมยังไม่กล้ามองหน้า เลยคิดว่าต่อไปมันน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญ เวลาออกสังคมที่ต้องมีคนไปด้วยเพราะผมกลัวว่าถ้าตัวเองพูดไม่ถูกหรือตื่นเต้น คนที่ไปด้วยจะได้ช่วยสื่อสารให้” 

ในกรณีแบบนี้มีปัญหาใหญ่อยู่สองอย่างคือ ความไม่มั่นใจในตัวเอง (Low self esteem) และเป็นโรคกลัวสังคม (Social phobia) จริง! แต่ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเป็นทุนที่ทำให้ความรู้สึกกลัวเพิ่มมากขึ้น

ทุกคนมีความกลัวและความไม่มั่นใจเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่ความกลัวนั้นเริ่มมีมาก (ขนาดเลือกเรียนช่างเพื่อหลีกเลี่ยงการเจอคน) ความกลัวเริ่มเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน (ออกสังคมคนเดียวไม่ได้ ไม่กล้าคุยกับลูกค้าทั้งที่เป็นเจ้าของอู่) รู้ว่าความกลัวทั้งหมดนี้ช่างไม่สมเหตุสมผล และเป็นมามากกว่า 6 เดือน (คนนี้เป็นมาเกือบสิบปี) ดังนั้นผู้ชายคนนี้เข้าข่ายโรคกลัวสังคมค่ะ

โรคกลัวสังคมเราจะพบได้ ร้อยละ 2-3 โดยเพศชายพบมากกว่าเพศหญิงและมักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น

การรักษา เราไม่มียาที่รักษาเรื่องนี้โดยตรง ถ้าจำเป็นส่วนมากจะเป็นการให้ยาเพื่อประคับประคองอาการ เช่น ถ้าตื่นเต้นมาก หรือคิดกังวลกับความกลัวมากจนควบคุมความคิดและร่างกายตัวเองไม่ได้

การรักษาหลักจะเป็นการฝึกเรื่องการสร้างความมั่นใจในตัวเอง ปรับเปลี่ยนความคิดที่มีต่อเรื่องที่กลัวและการเผชิญกับสิ่งที่กลัว โดยเราเองก็เริ่มต้นดูแลความกลัวด้วยตัวเองเบื้องต้นได้

5 ขั้นตอนในการกำจัดความกลัวคือ

  • 1. เขียนสิ่งที่กลัวออกมาให้ชัด
  • 2. เขียนสิ่งที่เราพอจะจัดการได้ และสิ่งที่เราจัดการไม่ได้
  • 3. คิดถึงและยอมรับสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้น
  • 4. ลงมือทำสิ่งที่ควรทำ และเผชิญสิ่งที่กลัว
  • 5. ทบทวนสิ่งดีดีที่เกิดขึ้นในชีวิตเราเป็นประจำทุกวัน

“ทุกคนมีความกลัว แต่เราจะดูแลความกลัวอย่างไรไม่ให้ขัดขวางความสุขและความสำเร็จ ชีวิตกลัวได้ ก็ไม่กลัวได้เช่นกัน”

ภาวะหมดพลังคืออะไร

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บนLINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0