โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดตำนานความเชื่อ!'ปู่โสมเฝ้าทรัพย์' หลังป้าวัย 60 ชาวอ่างทองได้งาช้างดำ

แนวหน้า

เผยแพร่ 08 ส.ค. 2563 เวลา 10.33 น.

จากกรณีหญิงวัย 60 ปี ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ฝันว่ามีมนุษย์แต่งกายโบราณมาบอกแหล่งที่ซ่อนสมบัติ เมื่อตื่นเช้ามาและเดินไปตามทางที่ฝันก็พบตะกรุดงาช้างดำเป็นเงางาม พร้อมก้อนหินมีแสงแวววาว ซึ่งตามความเชื่อของคนไทย "มนุษย์แต่งกายโบราณ" ท่านนั้นคือ "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" ที่เฝ้าสมบัติรอวันคืนเจ้าของ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : มนุษย์โบราณเข้าฝันบอกที่เก็บกรุสมบัติหญิงวัย 60 ไปตรวจดูพบตะกรุดงาช้างดำ) 

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของ "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" สืบต่อกันมาซึ่งถูกบันทึกไว้ใน wikipedia ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเก่า ครั้งที่บ้านเมืองยังสงบเจริญรุ่งเรืองจากการค้าขายกับชาวต่างชาติ อาณาประชาราษฎร์ล้วนมีชีวิตที่สุขสบาย จึงต่างเก็บหอมรอมริบ สะสมแก้วแหวนเงินทองมีค่าไว้มากมาย 

จนกระทั่งเกิดสงครามถึงคราวพ่ายแพ้แก่พม่า กรุงศรีอยุธยาต้องล่มสลาย แต่ทางคณบดีหรือคนที่มีทรัพย์สมบัติมากมายนั้นมีวิธีป้องกันทรัพย์สมบัติของตนเองมิให้ผู้อื่นมาขโมยไปได้โดยการนำทรัพย์สมบัติไปฝังดินหรือเก็บซ่อนไว้บนเรือน จากนั้นก็สั่งให้จัดการบริวารหรือทหารของตนเองให้เป็นผีตายโหงอยู่กับสมบัติที่ถูกฝังเพื่อหวังจะให้วิญญาณเหล่านั้นเป็นผี "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" คอยเฝ้าสมบัติของตนเองตลอดไป

 

 

ต่อมาปี พ.ศ. 2500–01 เรื่องราวของปู่โสมเฝ้าทรัพย์ก็โด่งดังไปทั่ว จนกลายเป็นข่าวลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เมื่อโจรลักลอบขุดสมบัติกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปขุดค้นภายในวัดราชบูรณะ เมื่อนำสมบัติออกมาท้องฟ้าก็เกิดวิปริตแปรปรวน จากนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นกับ "พระแสงขรรค์ชัยศรี" หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้เกิดส่องแสงแวววับขึ้นมา ต่อมาหนึ่งในผู้ลักลอบก็เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสภาพเมามาย พร้อมกับยอมรับว่าเป็นผู้ที่ลับลอบเข้าไปขุดค้นเองและได้คืนของที่ขโมยเอาไปแก่เจ้าหน้าที่ แต่ผู้ที่ร่วมขบวนการต่างก็มีอันเป็นไป หรือเสียสติไปรำดาบอยู่กลางตลาด ขณะเดียวกันร้านที่รับซื้อไว้ก็ต้องล้มเลิกกิจการไป

ต่อมาปี พ.ศ. 2503  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ "พระองค์พีระ" นักแข่งรถสูตรหนึ่งชาวไทยที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ได้รับ "สมุดข่อยโบราณ" จากพระสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งเขียนอักษรไทยโบราณด้วยสีแต่ตัวอักษรได้ซีดจาง โดยลายแทงบอกว่า พระนครศรีอยุธยามีสมบัติโบราณถูกฝังเอาไว้ถึง 303 แห่ง โดยเฉพาะที่ "วัดกุฏิดาว" มีขุมทรัพย์ฝังอยู่ถึง 16 แห่ง พระองค์จึงทำเรื่องขออนุญาตต่อกรมศิลปากรเพื่อทำการขุดหาสมบัติ โดยมีข้อตกลงว่า หากเจอสมบัติโบราณจริงๆ พระองค์จะมอบให้แก่รัฐ 90% ส่วนอีก 10% จะเป็นของพระองค์ เมื่อกรมศิลปากรตกลงตามข้อเสนอ พระองค์จึงทำการขุดหาทันที

"พระองค์พีระ" ได้ชวนพระสหายจากต่างประเทศให้มาร่วมทำการขุดในครั้งนี้ โดยใช้เครื่อง "ไมน์ ดีเทคเตอร์" เป็นเครื่องมือที่ใช้สำรวจหาวัตถุธาตุต่างๆ ที่อยู่ใต้ดิน แต่ต้องประหลาดใจที่เมื่อขุดลงไปตรงจุดตามที่ลายแทงระบุว่ามีสมบัติซ่อนอยู่ กลับไม่พบทรัพย์สินมีค่าแม้แต่ชิ้นเดียว พบเพียงกระเบื้องโบราณลวดลายสวยงามทับถมซับซ้อนกันอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเสียเวลาไปมากกับการโกยเอากระเบื้องเหล่านั้นขึ้นมา 

 

 

ซึ่งการขุดค้นหาสมบัติโบราณที่วัดกุฏิดาวในครั้งนั้นนอกจากจะพบความผิดหวังแล้ว พระองค์เจ้าฯ และพระสหายยังพบกับเหตุการณ์ที่น่ากลัว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" ทั้งที่ท้องฟ้ายังสว่าง ซึ่งสิ่งที่เห็นตรงหน้าเป็นชายรูปร่างสูงใหญ่กำยำล่ำสันแต่งตัวแบบนักรบไทยโบราณ แต่ไร้หัว  

แต่เหตุการณ์ก็น่ากลัวขึ้น เมื่อพระองค์ฯ กลับวังก็ยังได้ยินเสียงคล้ายคนขุดดินตลอดเวลา ต่อมาพระองค์ฯ ได้นำเรื่องไปเล่าให้แก่พระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีอภิญญาฟังท่านบอกว่า ผีหัวขาดที่พระองค์เห็นนั้นเป็นทหารของพระเจ้าอู่ทอง ชื่อ "ผาด" และได้สาปแช่งแก่ผู้ที่มาขุดค้น ด้วยความโกรธแค้นจึงมาสำแดงกายให้เห็นทั้งยังสาปแช่งพวกที่มาขุดสมบัติของเขาทุกคน

ต่อมาคำสาปแช่งก็เป็นจริง เมื่อพระสหายคนหนึ่งที่ร่วมทีมขุดกับท่านได้เสียชีวิตกะทันหัน ส่วนสหายอีกคนก็หายสาบสูญไป โดยไม่ทราบชะตากรรม และพระองค์ฯเองที่ทำธุรกิจอะไรก็ขาดทุน จากเหตุการณ์ดังกล่าวพระองค์จึงหันมาศึกษาพุทธศาสตร์อย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นด้านจิตศาสตร์เป็นสำคัญ ทำให้เรื่องราวการขุดสมบัติบริเวณวัดกุฏีดาว จึงต้องล้มเลิกและจวบจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครกล้าเข้าไปขุดหาสมบัติที่วัดนี้อีก เพราะเกรงว่าวิญญาณจะยังคงวนเวียนเฝ้าสมบัติ และตามมาหลอกหลอนสาปแช่ง

 

ขอบคุณภาพจาก (อยุธยา-Ayutthaya Station)
ขอบคุณภาพจาก (อยุธยา-Ayutthaya Station)

 

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของนักวิชาการ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เชื่อว่า ความเชื่อเรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์นั้น ไม่น่าจะมีอยู่จริงในความเชื่อของชาวอยุธยาร่วมสมัย เนื่องจากอ้างอิงจากหลักฐานรายชื่อผีที่ปรากฏในพระไอยการเบ็ดเสร็จ ไม่พบว่า มีบันทึกถึงปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หรือผีเฝ้าสมบัติ แต่อย่างใด รวมถึงความเชื่อนี้ก็ขัดต่อความเชื่อในคติของพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ที่ชาวอยุธยาเชื่อถืออีกด้วย เนื่องจากนิกายเถรวาทไม่เชื่อในเรื่องของอันตรภพ เมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดยังภพภูมิตามยถากรรม จึงสันนิษฐานว่า ความเชื่อนี้คงมาจากประเทศอินเดีย หรือเกิดจากการสร้างเป็นละครโทรทัศน์จนผู้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง

เรื่องราวของปู่โสมเฝ้าทรัพย์นั้นอ้างถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยหลายประการ สร้างเป็นภาพยนตร์ตลอดจนละครโทรทัศน์หลายครั้ง เช่น ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ทางช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ. 2550 นำแสดงโดย สันติ วีระบุญชัย, สุวนันท์ คงยิ่ง และภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล หรือดัดแปลงเป็นนวนิยายโดยทมยันตี และสร้างเป็นละครโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมในช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 เรื่อง พิษสวาท ทางช่องวัน เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก (อยุธยา-Ayutthaya Station)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0