โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แกะเปลือกของตำนานว่าด้วย "พระร่วง" เป็นชายชู้ โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 04 ต.ค. 2566 เวลา 02.52 น. • เผยแพร่ 03 ต.ค. 2566 เวลา 06.22 น.
ภาพปก - พระร่วงชายชู้
ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

“พระร่วง” เป็น “ชู้” ? แกะเปลือก “ตำนาน” สุดพิสดารระหว่างพระร่วงเจ้ากับ “นางอั้วเชียงแสน” เมียพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ลำบากพญามังรายมาช่วยไกล่เกลี่ย

ตํานาน เป็นคําเรียกหลักฐานอย่างหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่หมายถึงโดยทั่วไปว่า เรื่องที่บอกเล่าต่อปาก ต่อคํากันมานาน ซึ่งในที่สุดก็อาจมีการบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยก็ได้ ความหมายแต่เพียงเป็นชื่อดังเช่น หนังสือเรื่อง “ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่” ที่คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สํานักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ขึ้นมาจากต้นฉบับจารึกบนใบลานของเดิม แต่เนื้อหาภายในจะมีลักษณะที่ปะปนกันอยู่

ตั้งแต่เรื่องที่เป็นปรำปราคติ เรื่องที่มีลักษณะเป็นตํานานตามความหมายข้างต้น หรือเรื่องที่เป็นพงศาวดาร ลําดับศักราชถึงเหตุการณ์สําคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์

เรื่องที่มีลักษณะเป็นตํานาน บางครั้งมีที่มาจากการพยายามทําความเข้าใจกับเหตุการณ์ในอดีตในบางเรื่อง และอธิบายออกมาตามพื้นฐานแนวความคิด ของผู้เล่า ซึ่งบางครั้งเมื่อได้อ่านเรื่องเหล่านี้โดยการใช้พื้นฐานของความรู้สึกนึกคิดแบบปัจจุบันไปวัด ก็ดูจะเป็นเรื่องเหลวไหล หรือมิฉะนั้นก็กลายเป็นนวนิยายโบราณไป จึงละเลยไม่ทําความเข้าใจให้ถึงแก่นแท้ของเรื่องราว

หรือถ้าหากการอธิบายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนั้นซึ่งกระทําโดยผู้คงแก่เรียนในสมัยโบราณก็อาจจะหยิบยืมเรื่องที่เป็นเกร็ดในวรรณคดีทางศาสนา เช่น ชาดก รามายณะ มหาภารตะ หรือหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา เข้ามาสวมเข้ากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงได้อย่างกลมกลืน จนยากที่จะแยกออกว่าส่วนใดเป็นเนื้อหรือส่วนใดเป็นเปลือก

เรื่องในตำนานลักษณะนี้อีกเช่นกันที่ ถ้าหากนักอ่านในปัจจุบันไม่เคยอ่านหรือเคยอ่านแต่ปล่อยให้ผ่านไปเกี่ยวกับวรรณกรรมสำคัญ ๆ ดังกล่าวมาแล้ว เมื่ออ่านพบเรื่องในตำนาน จึงไม่สามารถทำความเข้าใจในหลักฐานที่ตนมีอยู่ได้ ทั้งนี้ เพราะไม่สามารถแยกแยะออกได้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ส่วนใดเป็นเบี้ย หรือส่วนใดเป็นเปลือก

ด้วยเหตุนี้ จึงมักจะพบอยู่บ่อย ๆ ว่า ได้มีการพยายามที่จะทำความเข้าใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยการแปลความหมายจากตำนานบางตอนอย่างผิดแง่มุม ทั้งนี้เพราะส่วนที่หยิบออกมาใช้โดยไม่รู้นั้น สมมติว่าส่วนเปลือก เมื่อนำมาวิเคราะห์หรือแปลความหมายอาจมิได้กระทำในสาระของ“เปลือก” แต่กลับว่ายเวียนอยู่กับสาระในส่วนที่เกี่ยวกับ “เนื้อ” หรือมิฉะนั้นหลักฐานส่วนนี้ก็ถูกละเลยทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

ตำนาน จึงไม่ใช่เครื่องมือที่จะเข้าใจได้ง่าย ๆ เพราะต้องอาศัยทั้งความรู้จากการร่ำเรียนมาเป็นพื้นฐาน และประสบการณ์จากการอ่านมามากพอสมควร

แต่ถ้าจะอ่านกันแบบเบา ๆ โดยใช้ความคิดกันบ้างนิดหน่อย การอ่านตำนานก็พอจะสนุกอยู่เหมือนกัน ดังเรื่องที่จะเล่าเป็นหนังตัวอย่างต่อไปนี้

พระร่วงมีชู้

เมื่อครั้งก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ ทางภาคเหนือยังแยกกันอยู่อย่างอิสระเป็นแคว้น ๆ พญามังราย ครองแคว้นของเมืองเชียงรายที่ลุ่มแม่น้ำกก ซึ่งเป็นที่ราบสลับภูเขาเล็ก ๆ ติดต่อกับที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง เมืองพะเยาของ พญางําเมือง พญาทั้งสองเป็นเครือญาติสืบสายกันมาแต่ดึกดําบรรพ์ ตั้งแต่ปู่เจ้าลาวจก พญามังรายเป็นนักรบที่รวบรวมดินแดนทางภาคเหนืออยู่ ฝ่ายพญางําเมืองนั้นเป็นปราชญ์เพราะเคยไปร่ำเรียนศิลปศาสตร์โดยเป็นศิษย์ร่วมสํานักกับ พระร่วง (พ่อขุนรามคําแหง) ที่กรุงละโว้

ทั้งสองเมื่อเรียนจบต่างก็แยกกลับมาครองบ้านครองเมืองกัน และพระร่วงก็ชอบมาเยี่ยมพญางําเมืองที่เมืองพะเยาเสมอ เพราะท่านชอบมากินน้ำโขงเมื่อแล้งในเขตแคว้นเมืองพะเยา นัยว่า เป็นน้ำสีใสเย็นกินดี

อยู่เมื่อแล้งหนึ่ง พระร่วงก็มาเยี่ยมพญางำเมืองที่พะเยาเช่นเคย แต่คราวนี้แทนที่จะได้กินน้ำโขง กลับได้กินอย่างอื่นแทน

เพราะครั้งนี้เป็นขณะที่ นางอั้วเชียงแสน เมียพญางําเมืองกําลังงอนกับผัว สาเหตุก็เพราะครั้งหนึ่งนางอุตส่าห์แกงอ่อมไปถวายพญางําเมือง เมื่อพญากินแกงอ่อมแล้วก็หยอกนางอั้วว่า แกงอ่อมลําดี เท่าว่า ถ้วยกว้างน้ำแกงนักไปน้อยหนึ่ง…ว่าอั้น” นางก็เคียดนัก พอพระร่วงมาคราวนี้ นางก็แก้แค้นตัวโดยไปนอนกับพระร่วงเสียเลย**

ต่อมาภายหลังพญางําเมืองล่วงรู้ความลับว่าพระร่วงได้แอบมากินแกงอ่อมชามใหญ่น้ำมากของท่านเสียแล้ว จึงทําอุบายหลอกจับพระร่วงไว้ได้ แต่ไม่รู้จะทําอย่างไรดี จึงไปเชิญพญามังรายผู้เป็นญาติมาช่วยตัดสินความ

พญามังรายต้องใช้วาทศิลป์เกลี้ยกล่อมจนพระร่วงและพญางําเมืองคืนดีกัน และให้พระร่วงขอขมาพญางำเมืองเป็นเบี้ยเก้ารุนเก้ารวงเก้าแสนเก้าหมื่นเบี้ย

และเพื่อมิให้พระร่วงโกรธเคือง พญามังรายผู้ตัดสินจึงให้มีการเล่นมหรสพที่หาดทรายริมแม่น้ำอิง แล้วพญาทั้งสามก็สาบานผูกมิตรสหายกันให้ยั่งยืนต่อไป

การเมืองเรื่อง “ชู้

เรื่องการพบกันของพญาทั้งสามที่ได้รับการบอกเล่าออกมาเป็นเรื่องการเล่นชู้นั้น พอที่จะมีหลักฐานที่ชัดเจนทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่น ๆ รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์และการเมืองสมัยนั้น ที่จะทราบว่าเป็นเรื่องที่มีที่มาเป็นอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นแผนการของพญามังรายที่จะยึดครองเมืองหริภุญชัย หรือลําพูน ซึ่งอยู่ในลุ่มแม่น้ำปิง และมีเทือกเขาสูงกั้นดินแดนฟากเชียงรายและพะเยาไว้

การเดินทางสมัยนั้นพญามังรายต้องข้ามเขาแถบอําเภอฝาง และค่อย ๆ สร้างป้อมค่ายเขยิบลงไปทางใต้ลุ่มแม่น้ำปิงมุ่งสู่หริภุญชัย จึงจําเป็นที่จะต้อง มาทําความตกลงเป็นไมตรีกับเมืองพะเยาเสียก่อน เพราะหากมีการสู้รบติดพันกับหริภุญชัยนาน ๆ ทางเมืองพะเยาเกิดขึ้นเหนือไปยึดเอาเมืองเชียงรายไว้ได้ พญามังรายก็จะเกิดศึก 2 ด้าน พลาดพลั้งจะไม่มีเมืองอยู่

และที่ต้องชวนพระร่วงมาทําไมตรีกันด้วย ก็เพราะพญายีบา เจ้าเมืองหริภุญชัยสมัยนั้น น่าจะเกี่ยวดองกันกับฝ่ายพระร่วงด้วย เพราะหลังจากที่พญายีบาเสียเมืองแล้ว ท่านต้องหนีไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในเขตแคว้นของสุโขทัย ดังนั้น การพบกันของพญาทั้งสามนี้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่พระสงฆ์เมืองเชียงใหม่สมัยก่อนเป็นผู้แต่งจึงได้เล่าเรื่องเป็นอีกอย่างหนึ่งว่าที่ทั้งสามมาพบกันก็เพื่อตกลงการแพ้ชนะแก่กัน

เมืองน่านก็มีชู้

มีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นตํานานของเมืองน่านที่น่าจะมีที่มาจากเหตุการณ์ลักษณะหนึ่งทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้เล่าตํานานได้ผสมผเสเรื่องชวนสนุกเข้าไปด้วยว่า เมื่อครั้งเมืองน่านตั้งขึ้นใหม่ ๆ แถบอําเภอปัวมีเขตแดนติดกับแคว้นพะเยา ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองน่านไม่อยู่ คงมีแค่เมียผู้กําลังมีครรภ์แก่ พญางําเมือง ได้ฉวยโอกาสบุกเข้ายึดเมืองปัวได้ เมียของเจ้าเมืองน่านต้องอุ้มท้องหนีออกจากเมือง และได้คลอดบุตรเป็นชายขึ้นในป่าแห่งหนึ่ง ขณะคลอดนั้นฝนตกน้ำนองไปทั่ว เด็กภายหลังจึงมีชื่อว่า ผานอง

ต่อมามีนายบ้านคนหนึ่งมาพบเข้า จําได้ว่าเป็นนางพญาของตนจึงรับไปดูแลภายหลังย้ายไปอยู่กับนายบ้าน อีกแห่งหนึ่งของแคว้นพะเยา

เมื่อผานองอายุได้ 16 ปีก็เข้ารับราชการกับพญางําเมือง ทําความชอบมากจึงได้ไปครองเมืองปราด เขตอําเภอน้ำปาด อุตรดิตถ์ในปัจจุบัน

ตํานานเมืองน่านอีกเช่นกันที่เล่าถึงเมียพญางําเมืองชื่อนางอั้วสิม มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อเจ้าอามป้อม ซึ่งพญางําเมืองให้ไปครองเมืองปัวที่ตีได้

วันหนึ่ง นางแกงควายไปถวายพญางําเมือง พญากินเข้าไปแล้วก็สัพยอกนางว่า “แกงควายน้ำหวาน แต่เท่าว่าน้ำหนักหนาว่างั้น” นางอั้วสิมก็โกรธแค้นเจ็บใจหนักหนา เมื่อกลับถึงเมืองปัวจึงให้คนไปเชิญพญาผานองจากเมืองปราดมาที่เมืองปัว “เมื่อนั้นนางพระยาและเจ้าเมืองปราดเขาเจ้าทั้ง 2 ก็จาเอากันเองเป็นผัวเป็นเมียกันในวันอันมาฮอดหั้นแล”

ภายหลังพญางำเมืองรู้ข่าวจึงยกกองทัพมาปราบ แต่พญาผานองแต่งทัพออกไปสู้ โดยเอา เจ้าอามป้อม เข้าทัพไปด้วย พญางำเมืองเห็นเจ้าอามป้อนลูกของตนมาด้วยกับกองทัพจึงใจอ่อนยกกองทัพกลับ พญาผานองจึงได้ครองเมืองปัวมีลูกหลานสืบเชื้อสายกันต่อมาและมาสร้างเมืองน่านในที่สุด

เรื่องกำเนิดของเมืองน่านมีนัยว่าแยกออกจากเมืองพะเยา จึงน่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่แฝงอยู่ในตำนาน

ส่วน “นางอั้วสิม” ในตำนานเมืองน่าน กับ “นางอั้วเชียงแสน” ในตำนานของเมืองเชียงใหม่จะเป็นคน ๆ เดียวกันหรือไม่ ไม่อาจทราบได้

ถึงอย่างไร ตำนาน ก็เล่าว่าเป็นเมียของพญางำเมืองแน่ ๆ ด้วยเหตุใดเล่าที่ผู้เล่าตำนานเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเมืองพะเยากับเมืองอื่น ๆ จึงต้องทำความช้ำใจให้แก่พญางำเมืองถึงเพียงนี้ โดยให้เมียของท่านไปเป็น “ชู้” กับคนอื่นเขาเสียหมด เพียงเพราะคําพูดสนุก ๆ หยอกเอินเมียของท่านเท่านี้

หล่อนมีชู้เพราะความสวย

เรื่องนี้มีผู้พยายามอธิบายว่า เมียของพญางําเมืองสวยอย่างมากจนเป็นที่พูดติดปากกันมานาน ดังในตํานานก็กล่าวว่า “มีรูปโฉมงามจ้าดนัก”

ความสวยของนางที่บอกเล่าจํากันต่อ ๆ มาเป็นเวลานาน จึงไม่มีอะไรขีดคั่นในเรื่องของวัย เมื่อผู้เล่าตํานานต้องการเล่าถึงความสัมพันธ์ของเมืองพะเยากับเมืองอื่น ๆ แต่ก็ไม่ทราบลักษณะการสัมพันธ์ที่แท้จริง พอนึกอะไรได้ก็หยิบมาเป็นข้ออธิบายลักษณะความสัมพันธ์นั้น

เผอิญเรื่องความงามของเมียพญางําเมืองเป็นเรื่องที่ติดปากอยู่ ก็เลยฉวยมาเป็นข้ออธิบาย ดังนั้นนางเลยต้องมีชู้ตั้งแต่ยังสาวกับพระร่วง จนกระทั่งแก่แล้ว ก็ยังถูกเล่าให้เป็นชู้กับคนคราวลูก คือพญาผานองแห่งเมืองปัว หรือเมืองน่านเก่าเข้าไปอีก

เรื่องตํานานเมียพญางําเมืองเล่นชู้ที่นํามาเล่าสู่กันฟังนี้ เป็นเปลือกของตํานานที่เอามาถ่ายทอดกันฟังสนุก ๆ คงไม่มีใครคิดเห็นจริงเห็นจังที่จะเอาไปเป็นเนื้อ เพราะแค่นี้ผีพญางําเมืองก็คงจะสะดุ้งไปหลายตลบแล้ว

แต่ถ้าใครคิดจะเอาส่วนนี้ไปย่อยหาสาระของเปลือก ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า เหตุใดก็ในเมื่อจะบอกเล่าถึงความสวยของผู้หญิงสักคน ผู้เล่าตํานานก็ช่างจนปัญญาที่จะหาเรื่องดี ๆ มาขยายความสักหน่อยก็ไม่ได้ ทําไมพอคิดขึ้นมาทีไร เป็นต้องลงล็อคให้ไปคบชู้สู่ชายจนได้ทุกทีเลย พลอยทําให้สามีของเธอกลายเป็นคนไม่มีน้ำยาไปด้วย

หรือเป็นเรื่องสนุก ๆ ที่ผู้เล่าตํานานไม่เห็นว่าควรจะถือสา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เปลือกตำนานว่าด้วยพระร่วงเป็นชายชู้” เขียนโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2526

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0