โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปลี่ยน 5 นิสัยตัวร้าย ให้กลายเป็นความสุข

LINE TODAY

เผยแพร่ 27 ก.ค. 2563 เวลา 17.00 น.

ความสุขเป็นสิ่งที่หลายคนไขว่คว้าอยากมีตลอดเวลา

ทำอะไรถึงจะมีความสุข ทำยังไงถึงจะมีความสุข..เป็นคำถามที่บางครั้งก็ไม่คำตอบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยของเราเองนั่นแหละที่ทำให้ไม่มีความสุข นิสัยที่มีแต่จะทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ทั้งกายและใจ เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เปลี่ยนนิสัยเหล่านี้ได้ เมื่อนั้นความสุขเล็ก ๆ ที่เป็นของเราก็จะมาเอง

1. เปลี่ยนจาก ‘รับ’ เป็น ‘ให้’

เดี๋ยวนี้คนเราไม่ค่อยรู้จักการให้ รู้จักแต่การรับ..พอได้รับบ่อย ๆ ก็โลภมาก อยากได้อีก พอไม่ได้ก็ไม่พอใจ โวยวาย จนลืมคิดไปว่าตัวเองนั่นแหละที่รับซะจนเคย เอาแต่ได้ เอาแต่รับ จนไม่รู้จักที่จะ ‘ให้’

ทั้งที่ความจริง คนเราต้องรู้จักทั้งให้และรับ..Give and take ยังใช้ได้ดีเสมอ รับแล้วก็ต้องรู้จักให้ ส่วนคนให้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับอย่างถูกต้อง

โลกเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเราให้เป็นคนเห็นแก่ตัว ความรวดเร็วในการใช้ชีวิตทำให้เราต้องเอาตัวรอด จนลืมที่จะ ‘ให้’ หรือบางทีก็คิดว่าตัวเองไม่มี จะให้คนอื่นได้อย่างไร จริง ๆ แล้วการให้ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุเสมอไป การให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือก็เป็นการให้อย่างหนึ่งเหมือนกัน

2. เปลี่ยนจาก ‘ใช้อารมณ์’ เป็น ‘ใช้เหตุผล’

ปกติคนเรามีทั้งอารมณ์ที่เป็นบวกและลบ..อารมณ์ทางบวก เช่น เบิกบาน มีความสุข ส่วนอารมณ์ทางลบก็คือพวกอารมณ์เสีย ๆ ทั้งหลาย ซึ่งอารมณ์ทางลบนี่แหละที่เป็นต้นเหตุของความไม่เจริญ และไม่ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ อย่าง เพราะเมื่ออารมณ์อยู่เหนือเหตุผล การตัดสินใจต่าง ๆ ก็จะบกพร่อง เราจะเห็นเฉพาะสิ่งที่อยากเห็น นอกนั้นก็จะมองไม่เห็นอะไรเลย เพราะอารมณ์มาบดบัง

คนเราเมื่ออารมณ์เป็นใหญ่ แนวโน้มที่จะใช้เหตุผลก็จะลดลง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ ที่สำคัญอารมณ์ทำงานได้รวดเร็วกว่าความคิด ทำให้เกิดเรื่องไม่ทันคิดและมีโอกาสผิดพลาดได้มากกว่าเสมอ แม้อารมณ์จะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต แต่ก็อย่าปล่อยให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล อย่าทำอะไรโดยใช้แต่อารมณ์เป็นเครื่องนำทาง เพราะโอกาสผิดพลาดจะสูงขึ้นเสมอ

สิ่งเดียวที่ทำให้เหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ก็คือ ‘สติ’ เพราะสติคือความรู้สึกตัว นึกขึ้นได้ เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าอะไรถูก อะไรควร ทำให้เห็นความจริงที่เป็น ไม่ใช่ความจริงที่ถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์

3. เปลี่ยนจาก ‘คิดลบ’ เป็น ‘คิดบวก’

รู้ไหม..คนที่มองโลกในแง่ลบมาก ๆ ก็ยิ่งทุกข์มาก และมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่มองโลกในแง่บวก ในด้านสุขภาพแล้ว การมองโลกในแง่บวก หรือการคิดบวกส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมได้มากมายจนคิดไม่ถึงเลยทีเดียว เช่น การรับมือกับความเครียด บรรเทาอาการปวด ชะลอความแก่ ฯลฯ 

นอกจากนี้ คนที่มองโลกในแง่ดีมักมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย เพราะคนคิดลบ มักชอบคิดว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าลงมือทำ หรือไม่กล้าแม้แต่จะคิดทำอะไรให้ดีขึ้น ในที่สุดก็กลายเป็นคนไม่อยากทำอะไรเลย กลัวความจริงที่จะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นแค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน แม้วิธีปฏิบัติจริงจะยาก แต่ก็ใช่ว่าทำไม่ได้ เริ่มต้นจากแยกความจริงออกจากความเชื่อ โดยใช้ระบบการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และไม่กังวลกับอะไรที่มันยังไม่เกิด เมื่อไรก็ตามที่เริ่มคิดลบ ก็ให้ตั้งสติ แล้วพยายามคิดในทางตรงข้าม หรือมองอีกมุม (มุมบวก) หากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ สมองของเราก็จะเริ่มคิดในด้านที่ดีมากขึ้น 

4. เปลี่ยนจาก ‘ขอโทษ’ เป็น ‘ขอบคุณ’

เมื่อทำผิดหรือพลาดไป การขอโทษยังคงสำคัญและควรทำเสมอ แต่การเปลี่ยนจาก ‘ขอโทษ’ เป็น ‘ขอบคุณ’ ในที่นี้คือ การขอโทษที่พร่ำเพรื่อ แต่ไม่ได้รู้สึกผิดอะไรเลย

จิตแพทย์ชาวอังกฤษท่านหนึ่ง กล่าวว่า มีคนจำนวนมากที่ใช้คำว่า ‘ขอโทษ’ เพื่อรักษาน้ำใจ แต่ไม่ได้เป็นการแสดงความเสียใจที่แท้จริง คำขอโทษที่พูดออกไปก็แค่เพราะไม่อยากให้อีกฝ่ายเสียใจหรือผิดหวัง ไม่อยากสูญเสียความสัมพันธ์ดี ๆ และความช่วยเหลือในอนาคตไป 

การขอโทษที่ผู้พูดไม่ได้รู้สึกสำนึกผิดแบบนี้ ก็มีแต่จะทำให้คนฟังเหนื่อยหน่าย การขอโทษไปก็เท่านั้น แต่ไม่คิดจะปรับปรุงตัว ก็ไม่ต่างจากการลมปากที่พ่นออกมาแบบไร้ความหมาย 

จะมีประโยชน์อะไร ถ้าคนพูดก็ไม่ได้เสียใจในความผิดที่เกิดขึ้นจริง ๆ ส่วนคนฟังก็รู้อยู่แล้วว่าคำที่พูดออกมานั้นไร้ค่า ขอโทษไปเดี๋ยวก็ทำใหม่ ผิดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ

สู้เปลี่ยนจาก ‘ขอโทษ’ เป็น ‘ขอบคุณ’ คำพูดในเชิงบวกที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นน่าจะดีกว่า เช่น เราทำตัวงี่เง่าตลอดเวลา แทนที่จะขอโทษที่ทำตัวงี่เง่า แต่ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนเป็นขอบคุณที่อยู่ข้าง ๆ แม้เราจะงี่เง่า ทำให้คนฟังรู้สึกดีกว่าเยอะเลย

5. เปลี่ยนจาก ‘อยู่เพื่อกิน’ เป็น ‘กินเพื่ออยู่’

วิถีการกินเป็นหนึ่งในนิสัยสร้างสุขให้กับร่างกายของเรา เพราะปกติคนเรามักตามใจปาก กินอะไรที่อยากกิน แต่ลืมไปหรือเปล่าว่า You are, what you eat กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น กินเยอะก็อ้วน กินแล้วนอนก็ป่วย อย่าเผลอไปสร้างนิสัยการกินที่ไม่ดีมากนัก อะไรงดได้ก็งด อะไรเว้นได้ก็เว้น แค่เปลี่ยนนิสัยการกิน สุขภาพร่างกายและจิตใจก็ดีขึ้นแล้ว

ที่สำคัญพึงระลึกไว้เสมอว่าเรากินเพื่ออยู่ เพื่อดำรงชีวิต ฉะนั้นเลือกกินแต่ของที่มีประโยชน์กับร่างกาย จะได้ไม่ทุกข์ ไม่เจ็บป่วย 

Why it’s so hard to be happy? Because you find it so hard to let go of the thing that make you sad.
ทำไมจะมีความสุขมันถึงยากนัก ก็เพราะเราไม่ยอมปล่อยเรื่องทุกข์ไปไงล่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0