โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เบื้องหลัง! “ปวิน” โอ่ สาวก 9 แสน “จอม” ยอมรับพรรคเรา “ใจ” ก็มา “ทิศทางไทย” เปลือย “บูด-ทอน” ล่อนจ้อน

Manager Online

เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 12.30 น. • MGR Online

เหตุจากม็อบ มธ. “แดงนอก-ลี้ภัย” ดี๊ด๊า โหนกระแสเป็นว่าเล่น “ปวิน” ขยายผลให้สัมภาษณ์สื่อ โอ่ สาวกเกือบ 9 แสน “จอม” โหน “รุ้ง” มืออ่านแถลงการณ์ ทนไม่ไหว ปลื้ม “พิธา” “ใจ” สอนเชิงรุก “ทิศทางไทย” เปลือย “บูด-ทอน” ล่อนจ้อน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) แนวร่วมกลุ่มเยาวชนปลดแอก จัดชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 10 ส.ค.

และในช่วงท้ายของการชุมนุมมีการเปิดคลิปของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง และออกข้อเรียกร้องพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นประเด็นขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยขณะนี้

และไฮไลท์อีกอย่างก็คือ การอ่านแถลงการณ์ของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” โฆษกสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นักศึกษาคณะคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. เพื่อนสนิทนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวการเมือง โดยแถลงการณ์ “ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1” มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อล้วนพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

นำมาซึ่งความเคลื่อนไหววันนี้(12 ส.ค.63) เฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และผู้ลี้ภัยคดี ม.112 โพสต์ข้อความระบุว่า

“ดิชั้นให้สัมภาษณ์กับ LA Times วันนี้ เรื่องการชุมนุมที่กรุงเทพเมื่อวาน บทบาทของนักศึกษา และการมองว่าจะเกิดอะไรต่อจากนี้ จากนั้น ดิชั้นพูดถึงรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสว่า ได้กลายมาเป็นเวทีหนึ่งในการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา และแม้ตั้งมาตั้งแต่เดือน เมษ ตอนนี้ก็มีสมาชิกเกือบ 9 แสนคนแล้ว…. งานขายก็ต้องมาค่ะ”

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Jom Petchpradab อยู่กับ Panusaya Sithijirawattanakul ของ นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันว่า

“ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ถูกอ่านเหมือนกับการย้อนกลับไปสู่การอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎร ในคราวยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475

เป็นความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และแน่นอนเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

ดังนั้นกระแสโต้กลับที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกินความคาดหมายที่น้องๆ นักศึกษาเหล่านี้เตรียมใจรับกันอยู่แล้ว แต่ในท่ามกลางความเสี่ยงทั้งต่อตัวเอง และต่อการนำพาประเทศไปสู่หุบเหวแห่งหายนะที่ผู้ใหญ่หลายคนคาดการณ์ และหวาดกลัวนั้น

"น้องรุ้ง" ผู้ที่อ่านแถลงการณ์ของคณะปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ในคืนนั้น จะมาอธิบายและบอกกล่าวถึงความรู้สึก ความคาดหวัง และความมุ่งมั่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลงกับข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ห้ามพลาดคืนวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่ 3 ทุ่มเป็นต้นไป ตามวันเวลาประเทศไทย ไลฟ์สดทางเฟสนี้ และพร้อมกันที่ ยูทูป jomvoice Channel ห้ามพลาดครับ”

และต่อมา เฟซบุ๊ก Jom Petchpradab ยังโพสต์เอาไว้อย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับพรรคการเมือง และหัวหน้าพรรคคนหนึ่งว่า

“ยอมรับว่า ผมกลายเป็น "ติ่งส้ม" ไปแล้ว แต่ก็ยังจับจ้องให้กำลังใจ "พรรคก้าวไกล" อยู่เสมอ แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องการพิสูจน์ความกล้าหาญในหลักการและอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่ต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง ผมคิดว่า "พรรคก้าวไกล" ได้พิสูจน์ชัดเจนมากครับ

ถึงอย่างไรเราก็คงต้องก้าวไปด้วยกันกับ "พรรคก้าวไกล" ครับ

พร้อมทั้งแชร์ โพสต์ที่มีหัวข้อว่า “พระเจ้า” เอาไว้ด้วย

เนื้อหาระบุว่า “ถ้าได้คุยกับม็อบนักศึกษาคุณจะบอกอะไร?

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ : อยากจะบอกว่า ผมฟังเขาอย่างไม่มีอคติใดๆ ฟังที่ Substance(เนื้อหา)ของวิธีการพูดของเขา และจะพยายามปกป้องพวกเขาอย่างถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าการปกป้องเขามันไม่ใช่การปกป้องเขาอย่างเดียว แต่มันเป็นการปกป้องสังคม ปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่เราฝันไว้ในการที่เราจะมาเป็นนักการเมือง

เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกล ยังยืนยันว่า เราจะยืนเคียงข้างประชาชนที่ชุมนุมเพื่อสิทธิเสรีภาพในการพูดของ เค้าอย่างสงบ

Cr. The101.world”

มาถึง นายใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว ในอุดมการณ์ ต่อสถาบันฯ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่สหราชอาณาจักร ได้แสดงความคิดเห็นว่า

"การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เป็นก้าวสำคัญ แต่หยุดไม่ได้"

โดยสนับสนุนข้อเรียกร้อง 10 ข้อของม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน ว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมไทย และทุกคนที่รักเสรีภาพควรจะสนับสนุน

แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาในการต่อสู้ต่อไปคือ เราจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกดดันรัฐบาลทหารให้ยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องพูดคือ การต่อสู้อยู่ในขั้นตอนริเริ่ม หยุดไม่ได้ ต้องขยายขบวนการเคลื่อนไหวไปสู่ประชาชนผู้ทำงานเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งการก่อตั้ง “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่จุดนี้ และแน่นอนมันไม่เกิดขึ้นเอง พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนหรือทำงานที่ไหนต้องร่วมกันช่วยสร้าง

และที่สำคัญคือ เราไม่ควรลดความสำคัญของข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ให้ยุบสภา และเลิกคุกคามประชาชนผู้รักเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่า เราต้องเคลื่อนไหวต่อเพื่อให้รัฐบาลเผด็จการลาออก

ทุกคนคงเข้าใจดีว่าการล้มเผด็จการไม่ใช่เรื่องเล็ก แค่การรณรงค์ให้ไม่รับปริญญา ซึ่งเป็นการประท้วงปัจเจกเชิงสัญลักษณ์ อาจช่วยในการรณรงค์หรือขยายจิตสำนึก แต่มันล้มเผด็จการไม่ได้

ในขณะที่ผู้คนกำลังชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เราเห็นรูปธรรมของม็อบที่ล้มรัฐบาลสำเร็จในเมืองเบรูต ประเทศเลบานอน มีผู้ชุมนุมออกมาเป็นแสนจากทุกส่วนของสังคม การประท้วงแบบนี้เคยเกิดที่ไทยในช่วง 14 ตุลา และพฤษภา 35 และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง

เราต้องร่วมกันคิดว่า เราจะสร้างขบวนการอันยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และเราไม่ควรลืมว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงต้านพรรคทหาร ดังนั้นมันมีกระแสที่จะช่วยเรา

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่พลเมืองที่ออกมาประท้วงจะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และคนจำนวนมากจะอยู่ในสภาพการพัฒนาความคิดความเข้าใจท่ามกลางการต่อสู้ และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรต่างๆ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการ จะพยายามเสนอแนวคิดที่ตนเองมองว่ามีน้ำหนักมากที่สุด บางทีเพื่อเสริมการต่อสู้ บางทีเพื่อยับยั้งการต่อสู้ นั้นคือสาเหตุที่การตั้งพรรคฝ่ายซ้าย เป็นเรื่องสำคัญ…

อย่างไรก็ตาม วันนี้เช่นกัน ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อเขียนของ ดร.เวทิน ชาติกุล ผอ.สถาบันทิศทางไทย หัวข้อ 10 ข้อเรียกร้อง กับ ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐนิยม

เนื้อหาระบุว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อจากม็อบ มธ. คือข้อเรียกร้องที่มีพื้นฐานบนความคิดของปิยบุตร (แสงกนกกุล)ที่อภิปรายไว้ในปี 2555 เรื่อง "การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์" (ซึ่งมี สมศักดิ์ เจียมฯ ร่วมอภิปรายอยู่ด้วย)

ในตอนนั้นปิยบุตรเสนอว่า การอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์(ทั่วโลก) มีทางเดียว คือ ต้องปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตย (ซึ่งรูปธรรมที่ออกมาก็คือ ข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมฯ 7 ข้อ (2562) และ ข้อเรียกร้องของม็อบ มธ. 10 ข้อ (2563) ซึ่งมีสาระใกล้เคียงกัน)

ปิยบุตร บอกว่า ถ้าสถาบันกษัตริย์จะดึงดันต่อสู้ คัดง้างกับระบบประชาธิปไตย ก็จะพบกับ 2 ความเป็นไปได้ คือ "แพ้" และถูกบังคับให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแบบเด็ดขาด หรือไม่ก็ "ถูกล้มเลิก" ทำให้หายไป โดยการโหวตของประชาชน (พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากหลายประเทศในยุโรป)

ปิยบุตร บอกว่า ไทย เป็น 1 ใน 2 ประเทศทั่วโลกที่สถาบันกษัตริย์ยังคงยืดเยื้อดึงดันต่อสู้กับระบอบประชาธิปไตย (นับจากหลัง 2475-ปัจจุบัน)

การทำให้แนวคิดทางวิชาการ(สุดโต่ง) ในวงสัมมนาวิชาการที่ไม่มีใครสนใจ กลายมาเป็นรูปธรรมบนเวทีม็อบ มธ. พร้อมแสง สี เสียง ตระการตา มีคนดูนับแสนผ่านโซเซียลมีเดีย และสร้างแรงกระเพื่อม ผลกระทบ แรงกดดันจากสังคมสู่มหาลัยธรรมศาสตร์อย่างหนัก ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็น "ความสำเร็จ" ของ ธนาธร(จึงรุ่งเรืองกิจ) ปิยบุตร และ เครือข่ายอาจารย์ นศ. นักเรียน ในการ address "ประเด็น" ที่ตัวเองหมกมุ่นให้กลายเป็น issue ทางสังคม (ด้วยทุนรอนอันมหาศาลที่ทุ่มลงไป)

แต่อีกด้าน มันก็ชัดว่า ธงที่ปักชู ขับเคลื่อนในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องอื่นแล้ว นอกจาก สิ่งที่ธนาธรประกาศไว้ใน Portrait ธนาธร ว่า "…ต้องการมีอำนาจมากพอที่จะต่อรองกับสถาบันพระมหากษัตริย์…"

และคำขู่ที่พูดไว้ที่ ธรรมศาสตร์ในปี 2562 ว่า "การแก้ รธน.ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดทางเดียว ระหว่าง ยินยอมพร้อมใจทุกฝ่าย หรือ จะนองเลือด ก็สอดรับกับการยกระดับการแสดงออกในข้อเรียกร้องของเด็กๆ 10 ข้อนั้น ที่กำลังสร้างเงื่อนไขนำพาสังคมไปสู่การนองเลือดและสงครามกลางเมืองตามสูตร "6 ตุลา" อีกครั้ง (ถ้าไม่แก้ รธน.หมวดพระมหากษัตริย์)

ในวงวิชาการปิยบุตร ถามว่า เราจะเลือกอะไร ระหว่างประชาธิปไตยปรับตัวให้เข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตย

สิ่งที่ปิยบุตรไม่ได้บอกก็คือ ประชาธิปไตยที่ปิยบุตรกำลังหมายถึง คือ ประชาธิปไตยแบบไหน

ซึ่ง แน่นอนว่า มันคงไม่ใช่ที่ พรรคก้าวไกล ออกมาสนับสนุนเด็ก มธ.ว่า สิ่งที่พวกเขาทำ ทำเพื่อปกป้องระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(โดยที่ในคำประกาศ 10 ข้อ แสดงท่าทีเชิงอำนาจที่ไม่เหมาะควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน)

แต่ดูจะมีโมเมนตัม ไปสุดทาง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ที่ปิยบุตรฝันถึงเสียมากกว่า

ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ทำไม พรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ถึงกระโดดหนีม็อบ มธ.กันหมด และ พรรคก้าวไกล ก็จะเข้าโหมด "ยุบพรรค" เพราะมีพฤติกรรม ทำผิดรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างชัดเจน.

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่หลายคนกำลังหาคำตอบ ของข้อกล่าวหา กรณีมีนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และที่สำคัญขบวนการ “ล้มเจ้า” อยู่เบื้องหลัง จริงหรือไม่

แม้ว่า ความชัดเจน บนโลกโซเชียล จะมีคำตอบให้อยู่แล้ว รวมทั้ง ประเด็นต้องการ “ล้มเจ้า”

กระทั่ง การชุมนุมของเยาวชนที่ ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมข้อเรียกร้อง 10 ข้อ จึงไม่มีใครปฏิเสธว่า ความต้องการมีอยู่จริง

เหนืออื่นใด วันนี้ดูเหมือนที่จริงแท้แน่นอนไปกว่านั้น ก็คือ คนที่อยู่เบื้องหลัง เปิดตัวออกมายอมรับมากขึ้น ทั้งที่เปิดเอง และถูกปอกเปลือก

อย่าง ปิยบุตร และธนาธร ที่สถาบันทิศทางไทย เปลือยให้เห็นแล้วว่า คิดอย่างไร ต้องการอะไร จนกระทั่งดูเหมือนแนวคิดถูกผลักดันออกมาแล้ว รวมถึง 105 นักวิชาการที่ออกแถลงการณ์ปกป้องม็อบธรรมศาสตร์ ก็ยิ่งชัดเจน

ทั้งหมดจึงไม่ต้องสงสัยว่า เพราะเหตุใด ม็อบเยาวชนปลดแอก จึงมีลักษณะดาวกระจายได้อย่างเป็นระบบเหมือนจัดตั้ง จนยกระดับมาเป็น “ม็อบคณะประชาชนปลดแอก” ก่อนจัดชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์รังสิต และประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 ส.ค.นี้

และแน่นอน, นี่แค่เกมบนดินเท่านั้น ส่วนใต้ดิน ไม่มีใครรู้ว่า เกมเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในโลกโซเชียลที่คนกลุ่มนี้ถนัด อย่างนี้แล้วประมาทไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว ไม่เช่นนั้น ยุ่งแน่ ไม่เชื่อคอยดู!!!

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0