โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

เบรนท์ฟอร์​ด “Moneyball” แห่งเกมลูกหนัง

Soccersuck

เผยแพร่ 05 ส.ค. 2563 เวลา 09.35 น. • Soccersuck

ถ้าไม่นับแฟนบอลของตัวเองการกลับคืนสู่ พรีเมียร์ลีก ภายในปีเดียวของ ฟูแล่ม ด้วยการเอาชนะ เบรนท์ฟอร์ด 2-1 อาจไม่ได้ทำให้คนทั่วไปรู้สึก “ว้าว” มากเท่าไหร่
เพราะทีมเล็กๆแห่งลอนดอนทีมนี้เราเห็นหน้าค่าตากันอยู่บ่อยครั้งแต่มันคือความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของการเริ่มเส้นทางอาชีพการคุมทีมของ สก็อตต์ ปาร์คเกอร์
อดีตนักเตะของ ฟูแล่ม และ เชลซี ในวัย 39 ปีรับงานที่ คราเวน คอทเทจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ในตำแหน่ง “ชั่วคราว” หลังสโมสรปลด “อ่อนภาษา” เคลาดิโอ รานิเอรี่ ที่ผลงานสุดห่วยพาทีมร่วงไปอยู่รองบ๊วย
ด้วยความที่ ปาร์คเกอร์ มารับงานที่มันเน่าอยู่แล้วเขาไม่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ใดๆครับ “เจ้าสัว” ตกชั้นด้วยผลงานชนะ 3 แพ้ 6
ชาฮิด คาห์น เจ้าของสโมสรชาวอเมริกันเชื้อสายปากีสถานไว้ใจมอบหมายให้ ปาร์คเกอร์ นำทัพ ฟูแล่ม สู้ศึกใน เดอะ แชมเปี้ยน ชิพ ด้วยการจับเซ็นสัญญาถาวร 2 ปี
ครับ ถือว่า ฟูแล่ม กลับมาไม่ใช่ไวอย่างเดียว ไวโคตรๆเพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่ามีไม่น้อยเลยที่ตกชั้นแล้วตกระกำลำบาก กว่าจะกลับมาอีกทีก็ 10-20 ปี หรือออกทะเลก็นู่นเลยลีกวัน ลีกทู
และดันเลือกเวลากลับมาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะเนื่องจากการระบาดของ covid-19 มันกระทบการเงินไปทั่วโลก สโมสรใหญ่ยังแย่แล้วพวกเล็กๆจะไปเหลืออะไร
ฟูแล่ม จะได้รับเงินอย่างน้อยๆ 135 ล้านปอนด์ตลอด 3 ปีหลังคว้าตั๋วสู่ พรีเมียร์ลีก เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา
แต่ที่น่าสงสารและเห็นใจในช่วงเวลาเดียวกับที่ “เจ้าสัว” เลื่อนชั้นก็คือน้ำตาของ เบรนท์ฟอร์ด ที่ต้องรอคอยการเล่น พรีเมียร์ลีก เป็นหนแรกต่อไปแบบไม่มีกำหนด
แต่ถ้าตัดคำว่า “พรีเมียร์” ออกและใช้คำว่า “top flight” หรือ “ลีกสูงสุด” เบรนท์ฟอร์ด สูดอากาศบนนั้นครั้งล่าสุดปี 1947 หรือเมื่อ 73 ปีมาแล้ว
โดยส่วนตัวแล้วผม “ไม่เห็นด้วย” กับการเพลย์ออฟในระบบลีกที่เตะกันน้ำบานถึง 9 เดือนมานานแล้วครับ ครั้งแรกที่ผมแสดงความเห็นเรื่องนี้ก็ตั้งแต่สมัยทำ นสพ. คิกออฟ เมื่อสิบกว่าปีก่อน
การเตะ 46 นัดในลีกมันหมายถึงใครสม่ำเสมอกว่าก็สมควรได้ “รางวัล” ตอบแทนใน “ทันที” หลังจบซีซั่นเหมือนทีมแชมป์ และ รองแชมป์
นั่นหมายความว่า เบรนท์ฟอร์ด ภายใต้การทำทีมของ โธมัส แฟร็งค์ ที่ได้อันดับ 3 ควรได้รางวัลแห่งความพยายาม ยังดีที่รอบนี้ ฟูแล่ม ซึ่งได้อันดับ 4 มี 81 แต้มเท่ากันแต่ประตูได้เสีย “เจ้าสัว” น้อยกว่า 26 ลูก!!
หรือฤดูกาลก่อนๆที่บางทีมเล่นแบบขอเกาะติดอันดับ 5-6 ไม่ต้องทุ่มเทอะไรมากแล้วไปวัดดวงกันในรอบเพลย์ ออฟ อีกที ผมรู้สึกถึงความไม่ค่อยยุติธรรมซักเท่าไหร่
สำหรับทีม เบรนท์ฟอร์ด มีหลายคนเอาใจช่วยเพราะอยากให้ทีมหน้าใหม่มาเล่นใน พรีเมียร์ลีก
เจ้าของฉายา “The bees” หรือ “ผึ้งพิฆาต” จะมีอายุครบ 131 ปีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
การทำทีมของ เบรนท์ฟอร์ด ที่ใช้ชื่อสนามว่า เบรนท์ฟอร์ด คอมมูนิตี้ กราว์น และจุผู้ชมได้ราว 17,250 คนถือว่าน่าสนใจไม่น้อยครับ
เจ้าของสโมสรที่มีนามว่า แมทธิว เบนแฮม (คนซ้ายในภาพประกอบ) แกเป็นแฟน “The bees” มาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ (1979) และเหมือนฝันเมื่อแกเข้ามาโอบอุ้มทีมรักที่กำลังพะงาบๆเมื่อปี 2012
ด้วยการจ่ายเงิน 500,000 ปอนด์เพื่อเคลียร์หนี้สินทั้งหมด
แกทำธุรกิจอะไรถึงร่ำรวยทั้งๆที่ก็ไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนมีเงินอยู่แล้ว?
ใช่ครับ แกรวยมาจากธุรกิจพนัน เริ่มจากเป็นลูกจ้างให้ โทนี่ บลูม เจ้าของสโมสร ไบรจ์ตัน ที่ทำธุรกิจให้คำปรึกษาสำหรับนักแทงพนันกีฬาในชื่อบริษัท Starlizard
แต่ทุกๆธุรกิจย่อมมีการขัดแย้งทำให้ เบนแฮม ชิ่งหนีก่อนมาตั้งบริษัท SmartOdds
คอนเซปของ SmartOdds ไม่แตกต่างจาก Starlizard คือการให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล, สถิติ เพื่อให้ “ผู้เล่น” นำไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุน “แทง”
แม้ว่าตัวเลขลูกค้าไม่มากเหมือนพี่เบิ้ม Starlizard แต่ก็มีรายงานจากข้อมูลเก่าว่าในปี 2017 มีรายได้ต่อปีที่ 12 ล้านปอนด์จากลูกค้าในอังกฤษและทั่วโลก
เบนแฮม ก้าวไปไกลกว่านั้นด้วยการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Matchbook ซึ่งเป็นธุรกิจพนัน betting exchange ที่ลูกค้าสามารถแทงกันเองโดยไม่ต้องผ่านโต๊ะใหญ่
นับตั้งแต่นั้น เบนแฮม ที่ปัจจุบันอายุ 52 ปีอัดฉีดเงินไปร่วม 100 ล้านปอนด์เพื่อสร้างอคาเดมี่, สิ่งอำนวยความสะดวกและสนามใหม่จึงไม่ต้องแปลกใจใดๆที่แกเป็นที่รักใคร่ของแฟนบอล
ในปี 2014 หรือ 2 ปีหลังฮุบ เบรนท์ฟอร์ด นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ผู้นี้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือพูดง่ายๆคือเจ้าของสโมสร มิดทิลแลนด์ และภายในซีซั่นนั้นพวกเขาเป็นแชมป์ลีกเดนมาร์ก เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย
ด้วยการที่ เบนแฮม คลุกคลีอยู่กับ “data” หรือ “ข้อมูล” และ “สถิติ” ทำให้เขาถูกนำเอาไปเปรียบเทียบการบริหารงานเหมือนในหนังอันโด่งดังอย่าง “Moneyball“
เบนแฮม หมกมุ่นให้ความสำคัญกับ KPI (ตัวชี้วัดความสำเร็จ), สถิติ และ อัลกอริทึ่ม
ยกตัวอย่างเช่นยแทนที่แกจะให้ความสำคัญกับจำนวนประตูที่กองหน้ายิงแต่ดันไปตัดสินที่ตัวเลขและคุณภาพจากการสร้างโอกาสของกองหน้ารวมถึงทีมทำผลงานโดยรวมทั้งหมดเป็นอย่างไรภายใต้บริบทต่อฟอร์มของแต่ละคนอีกที
“ครึ่งหนึ่งผมเคยไม่เชื่อในเรื่องของการใช้สถิติเฉพาะของนักเตะแต่ละคน”
“ตอนนี้ผมเริ่มเปิดใจให้มันมากขึ้นเรื่อยๆ”
“มันมีทั้งบวกและลบ เรื่องดีๆคือบางครั้งนักเตะซักคนอาจเข้าบอลและตัดบอลเก่งมากแต่คุณไม่มีทางรับรู้ได้อย่างจริงๆจังๆเลยเพราะนักเตะบางคนเข้าบอลเยอะก็จริงแต่ก็ด้วยการเข้าแบบว่องไวไม่ได้มีแนวโน้มเป็นพวกเข้าบอลหนักโดยธรรมชาติเหมือนอย่าง สจ๊วต เพียร์ซ”
“ในอีกมุมนึง นักเตะอีกคนเข้าแท็คเกิ้ลเยอะเพราะยืนผิดตำแหน่งตั้งแต่แรกหรือเปล่า? ดังนั้นเรื่องพวกนี้เอามาใช้ได้เยอะเลยนะแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทด้วย”
ตัวเลขกับ เบนแฮม เป็นที่ยืนยันว่าแกให้ความสำคัญเหลือเกินหลังตัดสินใจปลด มาร์ค วอร์เบอร์ตัน, มือขวา และ ผู้อำนวยการ เรียบวุธทั้งๆที่ทั้ง 3 คนร่วมกันพาทีมเลื่อนชั้นสู่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 2015
โดยเขาเชื่อว่าอันดับในตารางขาดความแม่นยำค่อนข้างสูงเนื่องจากจำนวนของความไม่แน่นอนในการแข่งขัน
ช่วงที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ร่วงไปอยู่ในโซนตกชั้นหลังผ่านไปครึ่งซีซั่นของฤดูกาล 2014/15 แต่ เบนแฮม กลับให้ “เสือเหลือง” เป็นทีมที่ดีที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในแง่ของสถิติ
อดีตทีมของ เยอร์เก้น คล็อปป์ แค่ “อับโชค” เท่านั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อใดที่คุณพูดถึงคำว่า “Moneyball” เบนแฮม จะฉุนสุดขีดเพราะเขายืนยันว่า “สถิติ” เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการบริหารสโมสร หาใช่เป็น main หลักเหมือนที่ทุกๆคนกล่าวอ้างกัน
“ขอบคุณสำหรับการยกย่องอะไรแบบนี้นะแต่ผมเกลียดมันว่ะ”
“เข้าใจผิดกันไปเยอะเลย คนชอบพูดกันว่า ‘โอว์ มันนี่บอล หมอนี่เอาสถิติของเบสบอลมาใช้กับฟุตบอล’
“มันนี่บอล มันไม่ใช่แนวคิดของการเอาสถิติเก่าๆมาใช้แต่เป็นสถิติของวิชาการและวิทยาศาสตร์เพื่อมาพิจารณาประกอบว่าสถิติตัวเลขตรงไหนช่วยวิเคราะห์ได้ตรงแม่นยำ”
“มันนี่บอล อาจสร้างความสับสนนะเพราะผู้คนจะพากันคิดว่าเราใช้สถิติมากกว่าพยายามใช้ในแง่ของวิทยาศาสตร์”
ครับ มาถึงตรงนี้ น่าเสียดายที่ เบรนท์ฟอร์ด เกือบจะได้เป็นสโมสรที่ 50 ที่เคยได้เล่นใน พรีเมียร์ลีก และเกือบเป็นทีม “หน้าใหม่” อีกทีนับตั้งแต่ ไบร์จตัน และ ฮัดเดอร์ฟิลด์ เลื่อนชั้นในปี 2017
แม้ เบนแฮม ปฏิเสธ แนวคิด “Moneyball” แต่หลังอ่านบทความนี้จบผมเชื่อว่าหลายๆทีมอยากเอาใจช่วย เบรนท์ฟอร์ด ที่มีแนวทางการทำทีมไม่เหมือนใครกลับสู่ลีกสูงสุดให้ได้ในเร็ววัน…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0