โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"เจ้าพ่อทิพย์ช้าง" ต้นวงศ์ "เจ้าเจ็ดตน" ผู้ปลดแอกลำปางจากพม่า-สวามิภักดิ์พม่าจริงหรือ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 29 ส.ค. 2566 เวลา 11.26 น. • เผยแพร่ 29 ส.ค. 2566 เวลา 08.42 น.
ภาพปก - เจ้าพ่อทิพย์ช้าง
พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม หรือหนานทิพย์ช้าง ต้นราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ภาพจากหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ (ไฟล์ภาพจาก Wikimedia Commons)

“เจ้าพ่อทิพย์ช้าง” วีรบุรุษของชาวลำปาง ผู้เป็นต้นราชวงศ์ “ทิพย์จักร” หรือ“เจ้าเจ็ดตน” ที่สืบเชื้อสายมาเป็นตระกูล ณ ลำปาง, ณ ลำพูน และ ณ เชียงใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ พระองค์เป็นผู้ปลดแอกให้ชาวล้านนาเป็นไทจริงหรือ?

เมืองล้านนาส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์กรุงอังวะ เมืองเชียงใหม่ เชียงแสน ลำพูน มีขุนนางพม่าปกครอง ขณะที่เมืองลำปางแม้จะไม่มีขุนนางพม่ามาปกครอง ถือเป็น “นครรัฐอิสระ” แต่ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่าอยู่ไม่น้อย เมืองลำปางไม่มีเจ้าผู้ปกครองที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีเพียงแต่ “พ่อเมือง” หรือขุนนางทั้ง 4 ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ในการบ้านเมืองทั้งปวง และต่างก็แก่งแย่งอำนาจกันเองจนบ้านเมืองมิได้สงบสุข ชาวบ้านจึงอยากปลดแอกตนออกจากการอยู่ใต้อำนาจของขุนนางทั้งสี่ และไม่ต้องการถูกครอบงำจากอิทธิพลของพม่าด้วย

เมื่อจุลศักราช 1091 มีข่าวลือหนาหูว่า “สวาธุหลวง” แห่งวัดนายาง ในเมืองลำปางสรรเสริญตนว่าเป็น “เจ้าตนบุญ” คือผู้มีอำนาจบารมี เป็นผู้มีบุญมาก ผู้คนต่างเคารพศรัทธา แม้แต่พระสงฆ์ยังลาสิกขาบทมาเข้าพวกกับ“สวาธุหลวง” ตนนั้น ทำให้เกิดเป็นชุมนุมขนาดย่อม ๆ ถึงกับว่าเป็นกบฏเลยทีเดียว การนี้ล่วงรู้ถึงหู“ท้าวมหายศ” ขุนนางที่กษัตริย์อังวะส่งมาปกครองเมืองลำพูน เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจแก่ท้าวผู้นั้นมาก ถือเป็นการท้าทายอำนาจ จึงส่ง “เจ้ามหายศหลวง” นำกองทัพจากเมืองลำพูนมาปราบเสียมิให้กำราบเป็นเสี้ยนหนามในภายภาคหน้า

ฝ่ายเจ้าตนบุญแห่งวัดนายางก็พ่ายแพ้ เจ้าตนบุญผู้นั้นพร้อมพวกก็ตายตามกันไป เมื่อนั้นท้าวมหายศจึงนำกองทัพมาตั้งมั่นที่“วัดหลวงลำพาง” หรือวัดพระธาตุลำปางหลวง พร้อมกับขูดเบี้ยรีดเงินชาวบ้าน กระทำการเหยียดหยามชาวเมือง กดขี่ข่มเหงสตรี ผู้ใดขัดขว้างไม่ยินยอม หากสมควรฆ่าก็ให้ฆ่า สมควรตีก็ให้ตี สมควรให้ริบทรัพย์ก็ให้ริบ จนสร้างความเคียดแค้นแก่ชาวลำปางอย่างมาก

ฝ่ายท้าวมหายศส่งขุนพล หานฟ้าง้ำ หานฟ้าแมบ และหานฟ้าฟื้น ไปยังเมืองลำปางเพื่อเจรจากับขุนนางของเมืองลำปาง แต่การเจรจานี้เป็นอุบาย หานทั้งสามเข้าฆ่าฟันขุนนางเมืองลำปางล้มตายไปมาก แล้วจึงยกทัพเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ ชาวบ้านพากันหวาดกลัวหนีไปอยู่ตายป่าตามเขา ไม่ก็หลบลี้หนี้เข้าเขตบ้านเมืองอื่นกันเสียมาก เพราะไม่อยากอยู่ใต้อำนาจท้าวมหายศ ทำให้“เมืองนครลำปางก็รุร้างหาผู้คนอยู่มิได้”

“สวาธุเจ้า” ครูบาแห่งวัดชุมพู (ขมภูก็ว่า) เมืองลำปาง เห็นเช่นนั้นจึงทนไม่ได้ หมายจะลาสิกขาบทมาเป็นหัวหอกออกรบกับเมืองลำพูน เพื่อกู้เมืองลำปางเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่บรรดาลูกศิษย์ไม่ยินยอม จึงปรึกษากันว่าให้ “ทิพพจักก์” หรือ “หนานทิพย์ช้าง” เป็นผู้นำในการกู้เมืองลำปาง

นามนี้มีที่มาจากการมีกำลังวิเศษ สามารถไล่ตัดหางช้างป่าได้ จึงได้ชื่อว่า “ทิพย์ช้าง” หรือ เจ้าพ่อทิพย์ช้าง ท่านเป็นผู้มีสติปัญญากล้าแข็ง ว่องไวฉับพลัน และเก่งกาจใช้อาวุธ เมื่อครูบาไปขอให้ออกมาช่วยเป็นหัวหน้ากู้บ้านกู้เมือง หนานทิพย์ช้างจึงตอบรับเพราะมั่นใจตนมากว่าการปราบเมืองลำพูนนั้นไม่ใช่เรื่องลำบาก เพราะเห็นเป็นเพียงคนธรรมดาที่กินข้าวเหมือน ๆ กัน แต่หากให้ท่านเป็นผู้กู้บ้านเมืองแล้ว “จักหื้อเปนเมืองแห่งผู้ข้า” หรือไม่? ฉะนั้น ครูบาจึงปรึกษากับพวกตน เป็นอันตกลงว่าหากหนานทิพย์ช้างกู้บ้านเมืองสำเร็จก็สมควรที่จะยกเมืองลำปางให้หนานทิพย์ช้างปกครองสืบไป

เมื่อถึงวันลงมือ ในคืนนั้นหนานทิพย์ช้างนำกำลังราวสามร้อยแอบซุ่มปิดล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวง พร้อมสั่งให้ทหารดักรอบริเวณประตูทางออก หากได้ “สัญญาณ” แล้วจึงลงมือสังหารพวกเมืองลำพูนเสีย จากนั้นท่านพร้อมด้วยคนสนิทคือ หมื่นยส หมื่นชิด และน้อยทะ ลักลอบเข้าไปในวัดผ่านท่อน้ำ กระทั่งไปพบท้าวมหายศกำลังนั่งเล่นหมากรุกอยู่ แต่หนานทิพย์ช้างไม่รู้ว่าท้าวผู้นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร จึงแสร้งออกอุบายว่าตนเป็นคนลำพูนนำหนังสือมามอบให้ แล้วจึงประกาศถามหาว่าผู้ใดคือท้าวมหายศ ท้าวผู้นั้นไม่เฉลียวใจจึงบอกว่าเป็นตน

เมื่อนั้นหนานทิพย์ช้างจึงชักปืนยิงใส่ท้าวมหายศจนสิ้นใจ ซึ่งปรากฏรอยกระสุนทะลุลูกกรงเหล็กที่ล้อมองค์พระมหาธาตุลำปางหลวงมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วจึงไล่แทงไล่ฟันทหารเมืองลำพูนอย่างไม่ไว้ชีวิต ทหารเมืองลำพูนประหวั่นพรั่นพรึงแตกหนีกันโกลาหล รีบหาทางหนีเอาตัวรอดออกจากวัด ฝ่ายทหารเมืองลำปางที่ดักซุ่มรออยู่จึงเห็นเป็น “สัญญาณ” เข้าไล่แทงไล่ฟันจนทหารเมืองลำพูนหนีตายกระจัดกระจายไปไม่เป็นกระบวน

เมื่อกำจัดศัตรูของบ้านเมืองไปได้แล้ว หนานทิพย์ช้างจึงให้ประกาศออกไปว่าบ้านเมืองสงบสุขแล้ว ขอให้ชาวเมืองลำปางที่หนีไปกลับมาบ้านเรือนของตน ทำไร่ไถนาตามเดิม บ้านเมืองจึงเป็นไทอีกครา แลได้เจ้าเมืองคนใหม่ เฉลิมพระนามว่า “พระญาสุลวลือไชย”

อย่างไรก็ตามใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี ได้ระบุว่าพระญาสุลวลือไชยมิได้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน เนื่องจากมิใช่“เจ้า” โดยสายเลือด ถึงกับรำพึงว่า“แผ่นน้ำหนักดินค็บ่มีใผปลงปันหื้อ”

ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านตลอดจนขุนนาง คือให้กษัตริย์แต่งตั้งให้ท่านปกครองเมืองลำปาง พระญาสุลวลือไชยจำต้องส่งบรรณาการไปถึงโป่ม่านหม่องมยุ ที่ปกครองเมืองเชียงตุง ในฐานะประเทศราชของกรุงอังวะ เพื่อขอให้เป็นคนกลางนำความขึ้นกราบทูลกษัตริย์กรุงอังวะอีกทอดหนึ่ง เมื่อนั้นพระญาสุลวลือไชยจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกษัตริย์กรุงอังวะ แต่งตั้งให้เป็น “พระญาไชยสงคราม” เมื่อจุลศักราช 1094

นับตั้งแต่นั้นมา ลำปาง จึงตกเป็นประเทศราชของกรุงอังวะทางนิตินัยอย่างสมบูรณ์ เรื่องกลับไปสวามิภักดิ์พม่านั้นคงเป็นเพียงการสถาปนาความชอบธรรม เพื่อทำให้ฐานอำนาจของพระญาไชยสงครามในเมืองลำปางมั่นคง แม้ทางนิตินัยจะตกอยู่ภายใต้กษัตริย์กรุงอังวะ แต่ทางพฤตินัยแล้วเมืองลำปางได้เข้าสู่ยุคแห่งความสงบ บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมิแตกแยกดั่งกาลก่อน ได้ปกครองตนเอง มีเจ้าผู้ปกครองท้องถิ่นเป็นของตนเอง ต่อมาในภายหลังลูกหลานของหนานทิพย์ช้างจึงจะกอบกู้เมืองลำปางและดินแดนล้านนาให้เป็นไทจากพม่าอีกครั้ง ก่อนจะเข้าสวามิภักดิ์กับกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์

หนานทิพย์ช้างมีพระราชเทวีคือพระนางพิมมลา (บ้างสะกดพิมมรา) บุตรทั้งหมด 6 คน คือ เจ้าอ้าย เจ้าชายแก้ว เจ้านางคำ เจ้าคำพา (พงศาวดารโยนกสะกดคำภา)เจ้าพ่อเรือน เจ้านางกลม (พงศาวดารโยนกสะกดกม) ปกครองเมืองลำปางได้ 27 ปี จึงถึงแก่พิราลัยในจุลศักราช 1121

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ประชากิจกรจักร, พระยา (แช่ม บุนนาค). (2504). พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร.

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. (2538). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : มิ่งเมืองเชียงใหม่

มหาอำมาตยาธิบดี, พระยา. (2505). พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย. พระนคร : พระจันทร์.

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2524). เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าด้วยประวัติบุคคลสำคัญ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0