โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เจาะลึก “NaRaYA” กระเป๋าผ้าไทยพันล้าน สุดยื้อเจอโควิด รายได้วูบ-ปิดโรงงาน

PPTV HD 36

อัพเดต 05 ส.ค. 2563 เวลา 13.26 น. • เผยแพร่ 05 ส.ค. 2563 เวลา 13.00 น.
เจาะลึก “NaRaYA” กระเป๋าผ้าไทยพันล้าน สุดยื้อเจอโควิด รายได้วูบ-ปิดโรงงาน
จากกรณีบริษัทนารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด เจ้าของแบรนด์ " นารายา (NaRaYA) ” ออกแถลงการณ์ จำต้องปิดโรงงานในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากผลประกอบการย่ำแย่ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ 63 ผ่านมา จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงปัจจุบันออเดอร์กระเป๋าผ้าสินค้าหลักของนารายาหดหาย

พิษโควิด-19 แบรนด์ดัง 'นารายา' ทรุดตั้งแต่ก.พ.สุดยื้อปิดโรงงาน 300 คน เคว้ง!

Zara เตรียมปิดร้านค้า 1,200 สาขาทั่วโลก หลังเจอพิษโควิด-19

เจาะลึก “นารายา” (NaRaYA) แบรนด์กระเป๋าสัญชาติไทย ผู้นำตลาดด้านผลิตภัณฑ์สินค้าไทยมายาวนาน

“นารายา” ภายใต้การบริหารของ “วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด

จุดเริ่มต้นของบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์ อิเล็คทรอนิกส์ และชิ้นส่วนเครื่องยนต์กลไก ก่อนพัฒนาหาผลิตภัณฑ์สินค้ามาเป็นของตัวเอง ด้วยการหันไปเดินหน้าธุรกิจด้านสิ่งทอ ก่อตั้งโรงงานแห่งแรก มีพนักงาน 15 คน ในปี พ.ศ. 2536 และวางขายสินค้าในห้างสรรพสินค้านารายณ์ภัณฑ์ ซึ่งได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ในปี พ.ศ. 2539 บริษัทฯ เข้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “NaRaYa” เป็นภาษาฮินดู แปลว่า พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวฮินดู

ปัจจุบัน “นารายา” มีโรงงานผลิตสินค้าทั้งหมด 5 แห่ง พนักงานมากกว่า 3,000 คน และฝีมือแรงงานจากชนบทอีกว่า 4,000 คน โดยมีการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็น 8 แบรนด์ ทั้ง เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และร้านชา ได้แก่ Aphrodite, DariVari, Evangelisa, LaLaMa, NARA, NaRaYa Tea Room, NR By NaRaYa และ NaRaYa มีสาขาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในไทย 25 สาขา ต่างประเทศ 13 สาขา

“นารายา” ได้รับความนิยม และการยอมรับจากต่างประเทศโซนเอเชียเป็นอย่างมาก ด้วยเอกลักษณ์สินค้าที่มาจากผ้าไหมไทย ผลิตโดยฝีมือคนไทยแท้ ๆ โดยเฉพาะนักท่องที่ยวชาวจีน ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย หนึ่งในโปรแกรมทัวร์คือเข้าร้านนารายา ซื้อกระเป๋าผ้าติดไม้ติดมือกลับบ้าน

วาสนา เจ้าของ นารายา เคยให้สัมภาษณ์เส้นทางเศรษฐี ว่า“คนจีน เรียกกระเป๋าของนารายา ว่า นารายา มั่นกู่ เปา มั่นกู่ แปลว่า แบงคอก เปา คือ กระเป๋า และมักบอกต่อกัน มากรุงเทพฯต้องมาซื้อ นารายา มั่นกู่ เปา”

ในปี 2562 บริษัทฯ มีแผนรุกตลาดออนไลน์ ตามกระแสความนิยมในยุคปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน ใช้ชื่อว่า “NaRaYa Application” พร้อมตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสินค้าไทยเพิ่มขึ้น 10 – 20 %

 

ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุงบการเงิน ย้อนหลัง 5 ปีล่าสุด บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด

ปี 2557 รายได้  1,538  ล้านบาท  กำไร  147  ล้านบาท

ปี 2558 รายได้  1,803  ล้านบาท  กำไร  210  ล้านบาท 

ปี 2559 รายได้  1,660  ล้านบาท  กำไร  191  ล้านบาท 

ปี 2560 รายได้  1,404  ล้านบาท  กำไร   71  ล้านบาท 

ปี 2561 รายได้  1,338  ล้านบาท  กำไร   42  ล้านบาท 

 

ปลายเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2562 จีน เริ่มเจอไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด -19 แพร่ระบาดในประเทศ ก่อนที่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกในไม่กี่เดือนต่อมา ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก หลายชาติประกาศล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดไวรัส รวมถึงไทย รัฐบาลมีการสั่งปิดสถานที่จำนวนหลายแห่ง โดยร้านค้า ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท้ายที่สุด บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ได้ขอยื่นปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่ 1 พ.ค. - 31 ก.ค.  เพื่อให้พนักงานเข้าสู่กระบวนการของรัฐ ได้รับเงินชดเชยประกันสังคม 62% ของรายได้ ตามโครงการเยียวยาโควิด-19ของรัฐ

แม้ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้หันไปผลิตผ้าปิดจมูกเป็นสินค้าหลัก แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอกับต้นทุน บวกกับเศรษฐกิจทั่วโลกก็ยังไม่ดีขึ้น จนนำมาสู่การปิดโรงงาน 1 แห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ลูกจ้าง 300 คน ต้องตกงาน

“บริษัทพยายามแก้ไขสถานการณ์ ไม่ให้เกิดผลกระทบมากนัด และเรียกประชุมผู้บริหารโดยด่วนเพื่อหาทางออก ท้ายที่สุดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ผู้ใช้บริการน้อยลงมากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ต่อมาการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม ร้านค้าปิด ขายของไม่ได้ ไม่มีนักท่องเที่ยว จนถึงปัจจุบันบริษัทไม่มีออเดอร์กระเป๋าผ้าซึ่งเป็นสินค้าหลักเข้ามาแต่อย่างใด จึงมีมติที่ประชุมจะปิดโรงงานที่อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 63 เป็นต้นไป” บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด ชี้แจงผ่านแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม ในท้ายแถลงกาณ์ ผู้ผลิตสินค้า “นารายา” ระบุว่า บริษัทฯ จะยังคงเปิดดำเนินการกิจการต่อไป พร้อมกับขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมถึงคาดหวังด้วยว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นในเร็ววัน

 

 

ขอบคุณข้อมูล : positioningmag.com / เส้นทางเศรษฐี / brandbuffet.in.th / กรมการค้าภายใน / naraya.com 

รูปภาพ : เพจ NaRaYa

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0