โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เขียนเพื่อกล่าวเล่าถึงพ่อ - ศุ บุญเลี้ยง

THINK TODAY

เผยแพร่ 24 ก.ย 2562 เวลา 11.02 น.

นอกจากอาชีพหลักของชีวิต เป็นกำนัน เป็นนายเหมือง เป็นชาวประมง เป็นสจ. 

พ่อยังมีอาชีพเสริม คือ ไปงานศพ

ตอนเย็นๆ มักเราจะเห็นพ่อกับแม่ ใส่ชุดดำ เดินทางออกจากบ้าน ราวกับเป็นอีกหนึ่งอาชีพ

ยิ่งอายุมาก ก็ยิ่งดูเหมือนจะกลายเป็นอาชีพหลัก

เข้าออกวัดโน้นวัดนี้อยู่เสมอ

จึงไม่แปลกใจถ้างานศพของพ่อกับแม่ จะมีแขกเหรื่อมากันมากมาย

……………………………….

เวลาครูถามว่า พ่อเธอมีอาชีพอะไร

บางทีก็ตอบไม่ถูก เพราะพ่อเปลี่ยนแปลงอาชีพ หรือมีงานอันทับซ้อนกันอยู่ 

พ่อหยุดประมงมาทำโรงสี พ่อเป็นสจ.สมาชิกสภาจังหวัด ลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาพ่อเป็นกำนัน บางทีพ่อก็ทำเหมืองแร่

ว่างๆ ก็แต่งเพลง ให้ชาวบ้านรำ ควบคุมออกแบบท่าเต้น เช่นระบำกะลา

เพราะพ่อมีความเป็นศิลปิน ชอบขีดเขียน แต่งเพลงร้องเพลง

เพลงสามเพลงที่เปิดให้แขกซึ่งมางานศพได้ฟัง ทั้ง ‘นางนวล’ ‘หนุ่มสมุยสาวพงัน’ และ ‘หนุ่มพงันฝันหา’ คือเพลงซึ่งพ่อประพันธ์ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง 

และที่น่าภาคภูมิใจยิ่งนัก คือพ่อเป็นคนรักความยุติธรรม พ่อพร้อมจะขึ้นหลังคารถกระบะ กล่าวไฮปาร์คต่อต้าน คัดค้าน ประท้วงทันที หากมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับบ้านเมืองและชุมชน

………………………………..

ในงานสวดศพลูกๆ ยังได้ฟังเรื่องราวอันพอจะปะติดปะต่อ บอกเล่าความเป็นพ่อ จากคนแก่คนเฒ่าเล่าต่อกันมาว่า

“น้องฝังพล เป็นคนเรียบร้อย”

“สมัยก่อนแกเกือบจะโดนจับเพราะไปแจกใบปลิว”

“คำหาเสียงของแก เป็นกลอน จำง่าย”

พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า บางคราเขียนบนใบปลิว สั้นๆ ว่า 

‘ปากกับใจตรงกัน’

พ่อแต่งตัวสุภาพแม้อยู่บ้าน ชุดนอนพ่อบางทีเรียบร้อยกว่าชุดไปทำงานของลูกเสียอีก

ครูบนเกาะสมุยที่ว่าดุ พ่อน่าจะดุกว่า บางคราพ่อเขียนจดหมายถึงครู บอกกล่าวว่าทำไมเด็กไม่ควรทำการบ้านเยอะจนเกินจำเป็น

ผมยังจำได้ว่าน่ากลัวตัวสั่นขนาดไหนที่ต้องเอาจดหมายจากพ่อไปส่งให้คุณครูที่โรงเรียน

พ่อชอบดุ เสียงดัง แกบอกว่า ถ้าดุเสียงค่อยต้องดุหลายครั้ง

ดุเสียงดัง ทีเดียวจบเลย 

ไก่ชน ปลากัด ห้ามเลี้ยง ห้ามยุ่ง อุ้มก็ไม่ยอม

ฝรั่งเป็นนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เพื่อนเล่น ห้ามแซว 

พูดไม่ชัดไม่ได้ งองู ไม่ใช่ ฮอฮู พ่อทั้งสอนทั้งขู่ จนเราพูดงองู งอเงินได้ ถ้าฮอเฮิน นอกจากพ่อไม่ให้เฮินแล้ว ยังโดนก้านมะยมได้

สิ่งที่พ่อสอน มักนำไปใช้ได้ดี เพราะเป็นความคิดซึ่งเป็นระบบ

อย่างเช่น โรงเรียนไม่ต้องอยากไป ถึงเวลาไปเลย

กลับบ้านมาให้รีบลงมือทำการบ้าน ไม่ต้องรอความอยาก อาบน้ำก็ไม่ต้องอยาก ถึงเวลาอาบเลย

นั่นคือพ่อสอนให้แยกแยะระหว่างหน้าที่กับความอยาก ถ้าเป็นหน้าที่เราต้องทำ ไม่ต้องอยากก็ต้องทำ

การพนัน ยาเสพติดพ่อห้ามอย่างแรง แกว่าขอไว้สามข้อ หนึ่งอย่าลอง สองอย่าลอง และสามคืออย่าลอง แค่นี้แหละถ้าไม่ลองก็คงไม่ติด

อุบัติเหตุพ่อเตือนเสมอ เวลาลูกๆ ขึ้นรถว่า

“โรงพยาบาลคิวยาวแล้วนะ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปต่อคิวเพิ่มอีก”

ตอนแต่งงาน พ่ออวยพรว่า

แต่งงานแล้วอย่าใช้เหตุผลนัก เหตุผลของแต่ละคนดีๆ ทั้งนั้น มันจึงขัดแย้งกัน

ตอนเริ่มรักกันนั้นควรใช้เหตุผล แต่ถ้าแต่งงานแล้ว ไม่ต้องใช้ ให้ใช้ความรัก

………………………….

พ่อมีความเป็นช่าง ชอบซ่อมแซม ออกแบบประณีตอย่างยิ่ง ถ้าบ้านหลังไหนพ่อไปช่วยคุมก่อสร้าง ผู้รับเหมาเกาหัวแน่ 

เคยมีเจ้านายต้องข้ามเกาะมาตามช่าง ว่ามาทำบันไดหรือมาติดสาวบนเกาะกันแน่ ทำไมทำงานให้บ้านนี้ใช้เวลานานนักหนา ทำบันไดอะไรนานจัง จนช่างชี้ว่าลุงคนนี้แกคุมเข้ม แล้วถ่ายทอดเคล็ดวิชาทำบันไดแลกเปลี่ยนกัน

พ่อทำบันไดเก่ง ควบคุมตั้งแต่การซื้อไม้ เคล็ดลับเริ่มตั้งแต่สั่งซื้อไม้ 

หากเป็นไปได้ให้ใช้ไม้ต่อเรือมาทำบันได เพราะไม้ต่อเรือจะคงรูปคงทนไม่บิดงอ บางทีเลือกซื้อไกลถึงมหาชัย

พ่อเป็นนักออกแบบ งานอดิเรกคือ การหยิบจับเศษวัสดุมาจัดวาง ตกแต่ง ไม่ว่าจะไม้ผุ หรือเศษไม้ที่ลอยมาจากทะเล คนอื่นเห็นเพียงรอยผุพัง แต่พ่อหยิบจับมาตั้ง มาตกแต่ง มาจัดวาง

พ่อชอบร่องรอยลวดลายหยักงอของไม้ ชอบเอาไม้มาเกลามากลึง ทำเป็นไม้เท้านานาชนิด ตัวเองไม่ค่อยถือ แต่ไว้แจกคนที่รัก

……………………………..

พ่อเป็นนักอ่าน หนังสือที่บ้านจึงเยอะ

พ่อเป็นนักเขียน ในสมุดบันทึกจึงมีทั้งจดหมายและบทกวี

พ่อเป็นนักเลงกลอน ท่านที่มาร่วมงานวันนี้ก็คงจะได้รับหนังสือรวบรวมผลงานกลอนของพ่อติดมือกลับไป

ลูกหลานคัดสรรมาเป็นตัวอย่าง จัดวางไว้ให้อ่านในงาน

ดาวยังเกลื่อนเดือนยังมีสุรีย์ส่อง

จะมัวหมองหม่นไหม้ทำไมหนอ

คืนยังผันวันยังเปลี่ยนหมุนเวียนรอ

อย่าแท้ท้อถอยถดหมดอาลัย

ฝนยังพรมลมยังพัดสะบัดโบก

จะวิโยคโศกซึ้งไปถึงไหน

น้ำยังไหลไฟยังร้อนนิ่งนอนใย

จงมั่นใจมุ่งหวังโชคยังมี

………..

จากบทกลอน : อย่าท้อใจ : เขียนไว้เมื่อปี 2506

พ่อเพิ่งจะครบ 90 ปี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หลังจากนั้นก็คล้ายจะหมดอาลัยไยดี

แม้ไม่ได้มีโรคใดรุมเร้า แต่ไม่ยอมทานอาหารและน้ำ

ช่วงวาระสุดท้าย ได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเกาะสมุย และลูกหลานเห็นว่าสมควรแก่อายุขัย จึงไม่ได้พยายามจะยื้อยุดและเลือกปฏิเสธการรักษาถ้าหากฝืนธรรมชาติ

ชีพจรจึงค่อยๆ อ่อนแรงไปเรื่อยๆ จนสงบ

พ่อฝังพล บุญเลี้ยงได้จากไป…

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562 เวลาเช้า 7 นาฬิกา14 นาที 

เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการปล่อยตัวนักวิ่งและแข่งจักรยาน แถวบริเวณถนนไปโรงพยาบาลพอดี

ลูกๆ หลานๆ ก็วิ่งวุ่นกับการนำร่างมายังวัดที่พ่อคุ้นเคย

จะนับว่าอายุ 90 หรือ 91 ปี ก็แล้วแต่ใครจะตีความ 

ท่านจากไปหลังประเพณีวันรับตายาย

ใครบางคนก็เลยบอกว่า สงสัยแม่ (ยายฉลาด)จะมารับ ไปหยอกเย้ากันบนสวรรค์

วาระการตายของพ่อก็คงจดจำง่าย

จำว่าเป็นช่วงวันรับส่งตายาย หรือจะจำ ‘สมุยเฟสติวัล’ ก็ได้ง่ายดี

………………

การมาพบกันในงานศพ ก็เหมือนได้พบญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งที่ใกล้ชิดและห่างเหินไปนาน

ความตายย่อมไม่ใช่สิ่งน่าเสียใจเสมอไป โดยเฉพาะกับคนที่อายุ ๙๑ และใช้ชีวิตมาคุ้มค่าทั้งต่อตนและชุมชน

คนที่อยู่ไกลมาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพียงส่งจิตอธิษฐาน หรืออินบ็อกซ์ เฟซบุ๊กกันมาก็เพียงพอ ไม่อยากให้ต้องเดินทางลำบากนัก 

เพียงแค่ร่วมแสดงความอาลัยพอให้รับรู้ก็ดีต่อใจ

คนที่จากไปแล้วไม่ค่อยน่าห่วง ทั้งพ่อและแม่ เพราะสะสมเสบียงบุญไว้มากมาย นามสกุลก็ ‘บุญเลี้ยง’อยู่แล้ว

ท่านใช้ชีวิตมา คุ้มค่าแก่ห้วงเวลา ทั้งประโยชน์ตนและคนอื่นๆ

แต่เป็นเรื่องน่าใจหาย เพราะลูกๆ ต้องกลายเป็นลูกกำพร้า ขาดทั้งร่มโพธิ์และร่มไทร

…………………………………….

อยากจะกล่าวคำขอบคุณอย่างสุดซึ้ง ต่อผู้ที่สละเวลา เดินทางมาจากสารพัดแห่งหน ข้ามฟ้าข้ามทะเลมาร่วมงาน มาร่วมกินร่วมทานอาหาร มาโอบหลังโอบไหล่ทักทาย มาไหว้กราบ  

ยังนับว่าเป็นโอกาสได้ทำบุญร่วมกัน โดยจะนำเงินที่ได้จากการจัดงานนี้ มอบต่อให้โรงพยาบาลเกาะสมุย และเหลือไว้พอเป็นทุนการศึกษาของเยาวชนซึ่งต้องการโอกาส  

เพราะนี่เป็นสิ่งที่พ่อกับแม่ชื่นชอบและชื่นชม 

สุดท้ายอยากบอกกล่าวอีกสักครั้ง

เมื่องวดวันที่ 16 กันยาที่ผ่านมา ยังไม่มีใครที่ซื้อลอตเตอรี่ในงานนี้ถูกรางวัลใดๆ

สำหรับคนที่หวังว่าจะมีโชคลาภได้ถูกหวยจากงานศพพ่อ  

อาจจะต้องขอแสดงความเสียใจด้วย

เพราะพ่อไม่ชอบการพนัน…..

ขอบคุณครับ

ศุ บุญเลี้ยง

๒๑ กันยายน ๒๕๖๒

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0