โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เกิดอะไรในวงการนายตำรวจ ? : วิบากกรรม "คลิปเสียง" สำรองราชการ "วิระชัย" หลุดเก้าอี้ รอง ผบ.ตร.

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 05 ส.ค. 2563 เวลา 07.19 น. • เผยแพร่ 05 ส.ค. 2563 เวลา 07.19 น.
วิระชัย-ทรงเมตตา-2

มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย

จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำกับดูแลหน่วยงานสีกากี เซ็นคำสั่งให้ “บิ๊กต้อย” พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. กลับมาปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หลังถูกย้ายไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีนานกว่า 6 เดือน

โดยระบุเหตุผลว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว

ย้อนชนวนเหตุถูกสั่งย้าย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 สื่อมวลชนหลายสำนักเผยแพร่คลิปเสียงสนทนาคนหนึ่งคล้าย “บิ๊กต้อย” และอีกคนเสียงคล้าย “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เรื่องคดีการลอบยิงรถของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต ผบช.สตม.

ซึ่งเนื้อหาใจความการพูดคุยเป็นไปในลักษณะที่ตำหนิคนเสียงคล้าย พล.ต.อ.วิระชัย ไม่ให้เข้าไปยุ่งกับคดีดังกล่าว เนื่องจากมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว

จนกระทั่ง 23 มกราคม นายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งให้บิ๊กต้อยไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ “บิ๊กแป๊ะ” ให้สัมภาษณ์ในขณะนั้น ยอมรับเป็นผู้เสนอให้มีการโยกย้าย พล.ต.อ.วิระชัย เนื่องจากเป็นปัญหาต่อเอกภาพขององค์กร โดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องคลิปเสียงดังกล่าว

และมีมติเสนอโยกย้าย พล.ต.อ.วิระชัยไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หากอยู่เกรงว่าจะเป็นอุปสรรคปัญหา

การกลับมากรมปทุมวันของ พล.ต.อ.วิระชัยครั้งนี้ “กูรู” หลายสำนักออกมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ บ้างก็บอกว่า ได้แรงหนุนจากผู้ใหญ่คนสนิท ที่เพิ่งได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้สำคัญในการบริหารบ้านเมือง เป็นไปได้หรือไม่ ว่าการย้ายกลับมากะทันหัน ช่วงใกล้แต่งตั้ง ผบ.ตร. เพื่อมาเป็นแคนดิเดต อัพเก้าอี้เป็นแม่ทัพสีกากีคนต่อไป

ท่ามกลางกระแสข่าวลือ เช้าวันที่ 24 กรกฎาคม พล.ต.อ.วิระชัยกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในพิธีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 68 พรรษา โดยเจ้าตัวมีสีหน้าเรียบเฉย พร้อมให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ว่า กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม คือรอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและคดี มีขวัญและกำลังใจในการทำงานที่ดี พร้อมที่จะกลับมาทำงาน

แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการพูดคุยกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์หรือไม่ เจ้าตัวไม่ตอบคำถามดังกล่าว

เหมือนเรื่องราวจะจบลงด้วยดี ทุกอย่างดูราบรื่น แต่ความจริงหาใช่เป็นเช่นนั้น เป็นความเงียบสงบ ทะเลไร้คลื่น ก่อนพายุจะมา

จน พล.ต.อ.วิระชัยต้องเก้าอี้ร้อนอีกครั้ง

ช่วงเย็นวันเดียวกัน สื่อทุกสำนักรายงานข่าวว่า ผบ.ตร.มอบหมายให้กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.วิระชัย ฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ในประเด็นเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่องห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือข้อมูลสื่อสารอื่นใด กรณีเปิดเผยข้อมูลการคุยโทรศัพท์ระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ และ พล.ต.อ.วิระชัย ผ่านสื่อสารมวลชน ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะนิติบุคคลได้รับความเสียหาย และมีฐานความผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับคณะทำงานคดีของ พล.ต.อ.วิระชัยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา มี พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้าคณะ ในส่วนของกองปราบปราม มี พ.ต.อ.มนตรี เทศขัน รอง ผบก.ป. เป็นรองหัวหน้าชุด ส่วนชุดพนักงานสอบสวนจะมี พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. และพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ร่วมคณะดังกล่าว

จับสัญญาณ ผบ.ตร.เปิดหน้าเดินเกมดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.วิระชัย ทำให้เห็นว่ารอยร้าวที่เคยมีคงยากประสาน ข้อตกลงที่เคยพูดคุยกันไว้กลับกลายเป็นศูนย์

ส่งผลถึงเส้นทางชีวิตราชการของ พล.ต.อ.วิระชัยที่ยังเหลืออีก 2 ปี อาจไปไม่ถึงเส้นชัย

ล่าสุด 29 กรกฎาคม บิ๊กแป๊ะสะบัดปากกา “สั่งสำรองราชการ” พล.ต.อ.วิระชัย ระบุเหตุผลว่า ตามคำสั่ง ตร.ที่ 383/2563 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.วิระชัย ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์และการกระทำเข้าลักษณะมีเจตนาเปิดเผยความลับของทางราชการ และฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งว่าด้วยการให้ข่าวสัมภาษณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ตร.อย่างร้ายแรง ประกอบกับกองบังคับการปราบปรามได้รับคำร้องทุกข์ในกรณีกล่าวโทษว่า มีการกระทำอันเป็นการทำผิดต่อรัฐ มีมูลเข้าข่ายตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 74 และตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง การห้ามดักฟังทางโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารอื่นใดนั้น

เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเหตุในการสั่งสำรองราชการได้ ตามนัยข้อ 3(1) แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำ ตร.หรือส่วนราชการใด หรือสำรองราชการ ในส่วนราชการใด พ.ศ.2548 ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัยและอาญา เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในภาพรวมของ ตร. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61(2) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จึงให้ พล.ต.อ.วิระชัยสำรองราชการ ตร. (อัตราเลขที่ สรส.1)

กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำ ตร.หรือส่วนราชการใด หรือสำรองราชการ ในส่วนราชการใด พ.ศ.2548 ยังระบุอีกว่า เมื่อมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจสำรองราชการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้กันตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกันกับตำแหน่งเดิมของผู้ที่ถูกสั่งให้สำรองราชการไว้ มีกำหนด 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คำสั่งสำรองราชการมีผลใช้บังคับ หากผู้ที่ถูกสั่งให้สำรองราชการยังไม่หมดเหตุสำรองราชการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พิจารณาแต่งตั้งผู้อื่นไปดำรงตำแหน่งที่กันไว้ได้

ทำให้ พล.ต.อ.วิระชัยจึงหลุดจากเก้าอี้รอง ผบ.ตร.โดยปริยาย เป็นที่ชัดเจนว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ รอง ผบ.ตร.-ผบก. วาระประจำปี 2563 นี้ ซึ่งแต่เดิมมีเก้าอี้รอง ผบ.ตร.ว่าง 2 ตำแหน่ง เมื่อมีคำสั่งสำรองราชการ ทำให้ได้เก้าอี้รอง ผบ.ตร.เพิ่มมาอีก 1 ตำแหน่ง

เกมการเมืองในกรมปทุมวันมีให้เห็นทุกยุคสมัย อยู่ที่ใครจะวางตัวอย่างไร ไม่ให้สะดุดขาตัวเองก่อนถึงเส้นชัย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0