โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก : เมื่อความหลอนในวัยเยาว์หลอมให้เขาเป็นเจ้าพ่อหนังสยองขวัญ

Sarakadee Lite

อัพเดต 19 ส.ค. 2563 เวลา 01.44 น. • เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 14.01 น. • ทศพร กลิ่นหอม

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ชื่อของหนึ่งในตำนานผู้กำกับต้องมีชื่อของปรมาจารย์ทางภาพยนตร์สยองขวัญ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ผู้ได้รับการยกย่องจากสถาบันภาพยนตร์ตะวันตกหลายสำนัก และเป็นผู้กำกับที่มีชื่อบรรจุอยู่ในบทเรียนของสถาบันการศึกษาภาพยนตร์ทั่วโลก

อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก เป็นต้นฉบับของการทำภาพยนตร์ระทึกขวัญ-สยองขวัญ เจ้าของผลงานต้นตำรับหนังสยองในตำนานอย่าง Psycho (ออกฉาย ค.ศ.1960) ที่ดัดแปลงจากนวนิยายของ โรเบิร์ต บลอช (Robert Bloch) สู่ภาพยนตร์สยองขวัญเชิงจิตวิทยาสะเทือนจอภาพยนตร์ Psycho ประสบความสำเร็จทั้งจากคำวิจารณ์ด้านคุณภาพและกวาดรายได้ไปกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock)
อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock)

ไม่เพียงแต่เรื่องนี้เท่านั้น ฮิตช์ค็อกยังพิสูจน์ความเป็นปรมาจารย์ด้านภาพยนตร์ด้วย Vertigo (ออกฉาย ค.ศ.1958) หนึ่งในภาพยนตร์ประจำสถาบันการศึกษาภาพยนตร์และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล “The Greatest of all Time” จากนิตยสาร Sight & Sound ในการดูแลของ สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (The British Film Institute) ความยิ่งใหญ่จากผลงานและการส่งเสริมของสถาบันต่าง ๆ ทำให้ชื่อของ ฮิตช์ค็อก ถูกจารึกอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มาจนถึงปัจจุบัน

อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก
อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก

ปฐมเหตุระทึกขวัญสู่ความเชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์

จริงอยู่ว่า ฮิตช์ค็อก เป็นต้นแบบด้านภาพยนตร์สยองขวัญ แต่ไม่ใช่ว่าคนทำหนังสยองขวัญหรือระทึกขวัญจะไม่มีความกลัวใด ๆ ตรงกันข้ามเขากลับเติบโตมาด้วยความทรงจำด้านความกลัว เริ่มตั้งแต่ในวัย 5 ขวบ เด็กน้อยฮิตช์ค็อกจำได้ว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถูกพ่อจับไปไว้ในสถานีตำรวจใกล้บ้านและให้เจ้าหน้าที่จับเขาขังในห้องขังโรงพักเป็นเวลา 10 นาที ทั้งพ่อยังบอกกับเขาว่า “นี่คือสิ่งที่เด็กซน ๆ ต้องได้รับ” หลังจากนั้นความกลัวจากเรื่องนี้ก็ได้ขยายไปสู่ความกลัวที่ฝังหัวไปตลอดชีวิตของเขา

ฮิตช์ค็อกกลายเป็นคนกลัวตำรวจ แม้กระทั้งในวัยที่เติบโตมาแล้วเขาก็กลายเป็นคนที่ห่วงด้านความปลอดภัยของตนเองอย่างหนักถึงขั้นวิตกกังวล และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมในภาพยนตร์ระทึกขวัญ-สยองขวัญของฮิตช์ค็อก ตำรวจจึงไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชน อีกทั้งตัวละครของเขามักจะหลีกหนีการมีปฏิสัมพันธ์กับตำรวจ และภาพของตำรวจมักเป็นสิ่งที่ดูเขร่งขรึมน่ากลัวมากกว่าจะเป็นมิตรกับประชาชน

Psycho (1960)
Psycho (1960)

เช่นใน Psycho มีฉากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่แว่นดำขณะจ้องมองนางเอกอย่างเย็นชาด้วยกิริยาที่น่าสะพรึงในฉากนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดทั้งการตัดต่อ จัดแสง ออกแบบฉาก การแสดง ที่ทำให้รู้สึกว่าตำรวจเป็นอาชีพที่น่าสะพรึงกลัวอย่างแท้จริง

ความระทึกที่กลายเป็นลายเซ็นของฮิตช์ค็อก คือความระทึกขวัญที่ลงรายละเอียดไปถึงขั้นการทำงานกับจิตวิทยาผู้ชมเช่น การออกแบบฉากระทึกใน Psycho (1960) ฉากสุดคลาสสิกที่นางเอกถูกแทงในห้องน้ำฮิตช์ค็อกใช้เทคนิคด้านเสียงดนตรีประโคมจังหวะบาดเสียดพร้อมไปกับออกแบบให้สถานการณ์สังหารเกิดขึ้นในห้องน้ำขณะอาบน้ำซึ่งโดยปกติพื้นที่ห้องน้ำจะเป็นส่วนตัว ล็อกประตูมิดชิดและดูปลอดภัยสูงสุดการบุกแทงในห้องน้ำจึงสะเทือนขวัญผู้ชมอย่างมากประกอบกับการจัดแสงที่เข้มจัด ใส่ความขาวดำมืดสว่างของฝั่งเหยื่อและฆาตกรตัดกันไปมา มีดกับเนื้อหนังและเลือดถูดตัดสลับอย่างรวดเร็ว การออกแบบเหล่านี้จึงเป็นการแสดงความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคความระทึกของเขาได้เป็นอย่างดี

Spellbound (1945)
Spellbound (1945)

นอกจากการออกแบบความระทึกขวัญแล้ว ฮิตช์ค็อกยังมีการทดลองใช้เทคนิคใหม่ ๆ อยู่เสมอเช่นในเรื่อง Rope (ออกฉาย ค.ศ.1948) เขาใช้เทคนิคการถ่ายทำขนาดยาว หรือ Long take ด้วยฟิล์ม ส่วนใน Spellbound (ออกฉาย ค.ศ.1945) เขายกระดับความอลหม่านทางจิตไปอีกขั้นด้วยการร่วมสร้างสรรค์ฉากกับ ซัลบาโด ดาลี (Salvador Dali) ศิลปินสุดเซอร์เรียลแห่งยุคในการเนรมิตความฝันอันสุดซับซ้อนของตัวละคร
ฮิตช์ค็อกใช้เวลาทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับงานภาพยนตร์ โดยมีผลงานการกำกับภาพยนตร์มากกว่า 50 เรื่อง และได้รับรางวัลเกียรติยศ Life Achievement Award ในปี ค.ศ. 1979จากสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (The American Film Institute) ทั้งหมดทั้งมวลนั้นการันตีความน่าสนใจและรายละเอียดที่ถูกสร้างสรรค์อย่างละเอียดของหนึ่งบุคคลสำคัญของโลกภาพยนตร์อย่าง…อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก

อ้างอิง

The post อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก : เมื่อความหลอนในวัยเยาว์หลอมให้เขาเป็นเจ้าพ่อหนังสยองขวัญ appeared first on SARAKADEE LITE.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0