โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'หลวงปู่มั่น' เข้าทำสมาธิภาวนา 'แสดงธรรมโปรดชาวเทพ' ที่มาขอฟังธรรม

แนวหน้า

เผยแพร่ 15 ส.ค. 2563 เวลา 12.36 น.

เวลาท่าน (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) พักอยู่ภาคอีสานบางจังหวัด ขณะท่านแสดงธรรมอบรมพระตอนดึก ๆ หน่อย ในบางคืนซึ่งเป็นกรณีพิเศษ ท่านยังสามารถทราบและมองเห็นพวกรุกขเทวดาที่พากันมาแอบฟังท่านอยู่ห่าง ๆ เพราะพวกเทพฯ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง มีความเคารพพระมาก

ท่านเล่าว่า เวลาพวกเทพฯ ชั้นบนลงมาจากชั้นต่าง ๆ มาฟังธรรมท่านในยามดึกสงัด จะไม่มาทางที่มีพระพักอยู่ แต่จะมาตามทางที่ว่างจากพระ และพร้อมกันทำประทักษิณสามรอบขณะที่มาถึง แล้วนั่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เสร็จแล้วหัวหน้ากล่าวคำรายงานตัวที่พาพวกเทพฯ มาจากที่นั้น ๆ ประสงค์อยากฟังธรรมนั้น ๆ ท่านก็เริ่มทักทายพอสมควร แล้วเริ่มกำหนดจิตเพื่อธรรมที่สมควรจะแสดงแก่ชาวเทพฯ จะผุดขึ้นมา จากนั้นก็เริ่มแสดงให้ชาวเทพฯ ฟังจนเป็นที่เข้าใจ จบแล้วชาวเทพฯ พร้อมกันสาธุการสามครั้งเสียงลั่นโลกธาตุ สำหรับผู้มีหูทิพย์ได้ยินทั่วกัน ส่วนหูกระทะหูหม้อต้มหม้อแกงไม่มีทางทราบได้ตลอดไป

พอจบการแสดงธรรมแล้ว ชาวเทพฯ พร้อมกันทำประทักษิณสามรอบ แล้วลาท่านกลับอย่างมีระเบียบสวยงาม ผิดกับชาวมนุษย์เราอยู่มาก แม้ผู้เป็นพระและผู้เป็นอาจารย์พวกชาวเทพฯ ก็ไม่สามารถทำได้อย่างสวยงามเหมือนเขา เพราะความหยาบความละเอียดแห่งเครื่องมือคือกายต่างกันกับเขามาก พอออกไปพ้นเขตวัดหรือที่พักแล้ว ชาวเทพฯ เหล่านั้นพากันเหาะลอยขึ้นสู่อากาศเหมือนปุยนุ่นหรือสำลีเหาะปลิวขึ้นบนอากาศฉะนั้น

เวลาที่ชาวเทพฯ มาก็เช่นกัน พากันเหาะลอยมาลงนอกบริเวณที่พัก แล้วเดินเข้ามาด้วยความเคารพอย่างมีระเบียบสวยงามมากและมิได้พูดคุยกันอึกทึกครึกโครมเหมือนชาวมนุษย์เราเข้าไปหาอาจารย์ที่ถือว่าเป็นที่เคารพนับถือ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพวกเทพฯ เป็นกายทิพย์ จะพูดอย่างมนุษย์จึงขัดข้อง ข้อนี้พวกเทพฯ ต้องยอมแพ้มนุษย์ที่พูดเสียงดังกว่า มนุษย์จึงได้เปรียบพวกเทพฯ ตรงนี้เอง

พวกเทพฯ ขณะฟังเทศน์มีความสำรวมดีมาก ไม่ส่ายโน่นส่ายนี่ ไม่แสดงทิฐิมานะออกมาให้กระทบจิตใจของผู้จะให้อรรถให้ธรรม ตามปกติก่อนหน้าพวกเทพฯ จะมาฟังเทศน์ ท่านเคยทราบไว้ก่อนเสมอ เช่น เขาจะมาในราวที่สุดของสองยาม คือ ๖ ทุ่ม พอตกตอนเย็นท่านทราบไว้ก่อนแล้ว บางวันท่านคิดว่าจะมีการประชุมพระตอนเย็นก็ต้องสั่งงดในคืนวันนั้น พอขึ้นจากทางจงกรมแล้ว ท่านเริ่มเข้าที่ทำสมาธิภาวนา พอจวนเวลาพวกเทพฯ จะมาถึง ท่านเริ่มถอยจิตออกมา รออยู่ขั้นอุปจารสมาธิและส่งกระแสจิตออกไปดู ถ้ายังไม่เห็นมา ท่านก็เข้าสมาธิอีก พักอยู่พอสมควรแล้วถอยจิตออกมาอีก บางครั้งพวกเทพฯ มาถึงก่อนแล้ว บางครั้งกำลังหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณที่พัก บางครั้งท่านก็รอคอยอยู่ขั้นอุปจารสมาธินานพอสมควร จึงเห็นพวกเทพฯ มา

วันไหนที่ทราบว่าเขาจะมาดึก ๆ หน่อย ราวตี ๑ ตี ๒ หรือตี ๓ ก็มีห่าง ๆ วันเช่นนั้นพอทำความเพียรจนถึงเวลาพอสมควรแล้วท่านก็พักผ่อนจำวัด ไปตื่นเอาตอนนั้นทีเดียว แล้วเตรียมต้อนรับแขกตามเวลาที่กำหนดไว้ พวกเทพฯ ที่มาฟังเทศน์ท่านเวลาพักอยู่ทางภาคอีสานไม่ค่อยมีมาบ่อย ๆ และไม่มีมากนัก ส่วนรายที่มาแอบฟังเทศน์ท่านอยู่ห่าง ๆ

ขณะที่ท่านกำลังอบรมพระนั้น พอทราบท่านก็หยุดการอบรมในเวลานั้นและสั่งพระให้เลิกประชุม สำหรับองค์ท่านก็รีบเข้าที่ทำสมาธิภาวนาเพื่อแสดงธรรมให้ชาวเทพฯ ฟังในลำดับต่อไปจนจบ พอพวกเทพฯ กลับไปแล้ว ท่านก็พักจำวัดจนกว่าถึงเวลาอันควร ก็ตื่นทำความเพียรต่อไปตามปกติที่เคยทำมาเป็นประจำ

การต้อนรับชาวเทพฯ เป็นกิจของท่านโดยเฉพาะไม่ให้คลาดเคลื่อนเวลาได้เลย เพราะเขามาตามกำหนดเวลา คำสัตย์เขาถือเป็นสำคัญมาก แม้พระทำให้เคลื่อนโดยไม่มีความจำเป็นเขาก็ตำหนิติเตียน พวกเทพฯ เคารพหัวหน้ามาก คอยฟังคำสั่งและปฏิบัติตามด้วยความสนใจ

พวกนี้ไม่ว่าจะมาจากชั้นบน หรือที่เป็นรุกขเทพฯ มาจากที่ต่าง ๆ ต้องมีหัวหน้าเป็นผู้นำเสมอ การสนทนาระหว่างพวกเทพฯ กับพระใช้ภาษาใจภาษาเดียวเท่านั้น ไม่มีหลายภาษาเหมือนมนุษย์และสัตว์ชนิดต่าง ๆ กัน เนื้อหาของใจที่คิดขึ้นเพื่อผู้ตอบนั้นเป็นคำถามของภาษาใจที่แสดงออกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วผู้ตอบเข้าใจได้ชัดเช่นเดียวกับเราถามกันเป็นประโยคด้วยคำพูดทางวาจา ประโยคที่ผู้ตอบคิดขึ้นแต่ละประโยคแต่ละคำเป็นเนื้อหาของภาษาใจอย่างเต็มที่แล้ว ผู้ถามเข้าใจได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน ภาษาของใจยิ่งตรงตามความรู้สึกที่ระบายออกทีเดียว ไม่ต้องแยกแยะหรือขยายเนื้อความให้เด่นชัด เหมือนใช้คำพูดทางวาจาเป็นเครื่องมือของใจอีกวาระหนึ่ง ซึ่งบางประโยคความรู้สึกทางใจกับคำพูดที่จะใช้ให้เหมาะสมไม่ค่อยตรงกัน จึงทำให้เสียความมุ่งหมายอยู่บ่อย ๆ

ตราบใดที่ใช้วาจาเป็นสื่อแทนใจอยู่ ความไม่สะดวกย่อมมีอยู่ตราบนั้น แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่คนเราไม่รู้ภาษาใจของกันและกัน จำต้องใช้วาจาเป็นเครื่องมือของใจอยู่ตลอดไปอย่างแยกไม่ออก ทั้ง ๆ ที่ไม่สู้จะตรงกับความมุ่งหมายของใจเท่าไรนัก เพราะโลกหากพานิยมใช้กันมาอย่างนี้ ไม่มีทางแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นซึ่งดียิ่งกว่านี้ได้ นอกจากจะรู้ภาษาใจกันเท่านั้น สิ่งลี้ลับก็กลับเปิดเผยและยุติกันไปเอง

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเชี่ยวชาญทางนี้มาก เครื่องมือท่านก็มีพร้อมในการฝึกอบรมคนให้เป็นคนดี ส่วนพวกเราแม้แต่จะคิดขึ้นมาใช้เฉพาะตัว ยังต้องเที่ยวหาหยิบยืมจากผู้อื่น คือเที่ยวศึกษาอบรมจากครูอาจารย์ในที่ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ แม้เช่นนั้นก็ยังหลุดไม้หลุดมือไปได้ รักษาไว้ไม่อยู่ คือฟังจากท่านแล้วก็หลงลืมไปแทบไม่มีอะไรเหลือติดตัว แต่สิ่งที่ไม่ดีอันมีอยู่ดั้งเดิม คือความผิดพลาดขาดสติปัญญาความระลึกรู้ไตร่ตรอง ไม่ยอมหลงลืมและตกไป คงยังสมบูรณ์อยู่ตลอดไป ฉะนั้น จึงมีแต่ความผิดหวัง คือนั่งอยู่ก็ผิดหวัง เดินไปก็ผิดหวัง ยืนอยู่ก็ผิดหวัง นอนอยู่ก็ผิดหวัง อะไร ๆ มีแต่ความผิดหวัง เพราะขาดคุณธรรมดังกล่าวที่จะทำให้มีหวังในสิ่งที่พึงใจทั้งหลาย

……………………….

คัดลอกจากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตอนที่ ๑ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ตอน "โปรดชาวเทพที่มาขอฟังธรรม" ใน http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-12-03.htm
 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0