โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'หลวงปู่มั่น' ฟังธรรมจากพระอรหันต์จนบรรลุ 'พระอนาคามีผล' ที่ถ้ำสาริกา

แนวหน้า

เผยแพร่ 06 ส.ค. 2563 เวลา 12.37 น.

ท่าน (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) พักอยู่ที่ถ้ำ (สาริกา) นั้น มีพระอรหันต์หลายองค์มาเยี่ยมและแสดงธรรมให้ฟังเสมอในวาระต่าง ๆ กัน ซึ่งผิดกับที่ทั้งหลายอยู่มากในชีวิตที่ผ่านมา ธรรมเป็นที่แน่ใจได้ปรากฏขึ้นแก่ท่านในถ้ำนั้น ธรรมนั้นคือพระอนาคามีผล

ธรรมนี้ในพระปริยัติท่านกล่าวไว้ว่าละสังโยชน์ได้ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ ท่านผู้บรรลุธรรมขั้นนี้เป็นผู้แน่นอนในการไม่กลับมาอุบัติเกิดเป็นมนุษย์ และสัตว์ที่มีธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรือนร่างอีกต่อไป หากยังไม่เลื่อนชั้นขึ้นถึงพระอรหันตภูมิในอัตภาพนั้น เวลาตายแล้วก็ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามภูมิธรรมที่ผู้นั้นได้บรรลุในพรหมโลก ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของพระอนาคามีบุคคล ตามลำดับแห่งภูมิธรรมที่มีความละเอียดต่างกัน

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเป็นการภายในว่า ท่านได้บรรลุอนาคามีธรรมในถ้ำนั้น แต่ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจนำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านได้ติชมบ้างหากเป็นการผิดพลาดประการใด ก็ขอได้ตำหนิผู้เขียนว่าเป็นผู้ไม่รอบคอบเสียเอง ท่านพักบำเพ็ญสมณธรรมด้วยความสงบเย็นใจอยู่ที่นั้นหลายเดือน

คืนวันหนึ่ง เกิดความเมตตาสงสารหมู่คณะขึ้นมาอย่างมากมายผิดสังเกตที่เคยเป็นมา สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เนื่องมาจากท่านทำสมาธิภาวนาเกิดความอัศจรรย์หลายอย่างที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นได้ในชีวิต แต่ก็ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจติด ๆ กันทุกคืน

เฉพาะคืนที่คิดถึงหมู่คณะนั้น รู้สึกเป็นคืนที่แปลกมาก คือจิตเป็นสมาธิที่ละเอียดสุขุมมากเป็นพิเศษ ความรู้ความเห็นทั้งภายในภายนอกเป็นพิเศษ ความอัศจรรย์ปรากฏขึ้นกับใจเป็นพิเศษ ถึงกับน้ำตาร่วงไหลออกมาด้วยความเห็นโทษแห่งความโง่ของตนในอดีตที่ผ่านมา ความเห็นคุณของความเพียรที่ตะเกียกตะกายมาจนได้เห็นธรรมอัศจรรย์ขึ้นจำเพาะหน้า ความเห็นคุณของพระพุทธเจ้าผู้มีพระเมตตาประสิทธิ์ประสาทธรรมไว้พอเห็นร่องรอยได้ดำเนินตาม และรู้ความสลับซับซ้อนแห่งกรรมของตนและของผู้อื่น ตลอดสัตว์ทั้งหลาย ขึ้นมาอย่างประจักษ์ ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย ตรงตามธรรมบทว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นของตน เป็นต้น อันเป็นบทธรรมที่รวมความสำคัญของศาสนาไว้แทบทั้งมวล

ท่านเตือนตนว่า แม้จะประสบความอัศจรรย์หลายอย่างขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจก็ตาม แต่ก็ทราบว่าทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ของท่านยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ยังจะต้องทุ่มเทกำลังสติปัญญาและความพากเพียรทุกด้านลงอย่างเต็มกำลังอีกต่อไป

สิ่งที่ทำให้ท่านเย็นใจและอยู่ด้วยความผาสุกทั้งทางกายและทางใจนั้น คือโรคเรื้อรังในท้องที่เคยรบกวนและตัดรอนเสมอมา ได้หายไปโดยสิ้นเชิง จิตใจได้หลักยึดอย่างมั่นคง แม้ยังไม่สิ้นกิเลส แต่ก็มิได้สงสัยปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน ปฏิปทาภายในเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนแต่ก่อน มีความแน่ใจว่าจะไม่ลุ่มหลงสงสัยทางดำเนินเพื่อธรรมขั้นสูงสุดแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ดังที่เคยเป็นมา และมั่นใจว่าตนจะบรรลุถึงธรรมแดนพ้นทุกข์ในวันหนึ่งแน่นอน สติปัญญาก็ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ วันคืนหนึ่ง ๆ เกิดความรู้ความเห็นต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวแก่สิ่งภายในและเกี่ยวแก่สิ่งภายนอกไม่มีประมาณ ทำให้จิตใจรื่นเริงในธรรม และเกิดความสงสารหมู่คณะที่เคยอยู่ด้วยกันมามากขึ้น อยากให้ได้รู้ได้เห็นอย่างที่ตนรู้เห็นบ้าง

ความคิดสงสารนี้เลยกลายเป็นสาเหตุให้ท่านจำต้องจากถ้ำอันเป็นอุดมมงคลนี้ ไปหาหมู่คณะทางภาคอีสานอีก ทั้ง ๆ  ที่อาลัยอาวรณ์ไม่อยากไป

ก่อนที่ท่านจะจากถ้ำนี้ไปราว ๒-๓ วัน ก็ปรากฏว่ามีพวกรุกขเทพ โดยมีเทพลึกลับองค์ที่เคยมาหาท่านเป็นหัวหน้าพามาเยี่ยมฟังธรรมเทศนาท่าน เมื่อท่านให้โอวาทแก่เทวดาจบลง และบอกความประสงค์ที่จะต้องจากถ้ำและคณะเทพทั้งหลายไปสู่ถิ่นอื่นด้วยความจำเป็น บรรดาเทวดาที่รวมกันอยู่จำนวนมาก ไม่ยอมให้ท่านจากไป และพร้อมกันอาราธนานิมนต์ท่านไว้ เพื่อความร่มเย็นและเป็นสิริมงคลแก่ชาวเทพตลอดกาลนาน

ท่านก็บอกว่า ที่มาอยู่ที่นี่ก็มาด้วยความจำเป็น แม้การจะจากไปสู่ที่อื่นก็ไปด้วยความจำเป็นเช่นเดียวกัน มิได้มาและไปด้วยความอยากพาให้เป็นไป จึงขอความเห็นใจจากท่านทั้งหลาย อย่าได้เสียใจ ถ้ามีโอกาสวาสนาอำนวยยังจะได้มาที่นี่อีก

ชาวเทพพากันแสดงความเสียใจและเสียดายท่านด้วยความเคารพรักจริง ๆ ไม่อยากให้ท่านจากไป

…………………………….

คัดลอกจากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตอนที่ ๑ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ตอน "บรรลุพระอนาคามีผลที่ถ้ำสาริกา" ใน http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-12-02.htm
 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0