โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ส.ว.เสียงแตก แก้โหวตนายกฯ จับตาแฟลชม็อบชนกลุ่มอาชีวะ

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 09 ส.ค. 2563 เวลา 13.32 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2563 เวลา 23.15 น.

ภายหลังนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยยอมให้ตัดอำนาจ ส.ว. ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้ใช้เสียง ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ล่าสุดวานนี้ (9 ส.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองวุฒิสภา กล่าวว่า นายวันชัยแสดงความเห็นส่วนตัว ส่วนเสียง ส.ว. ที่ออกมาแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเสียงส่วนน้อย

“เสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ยังนิ่ง รอดูสถานการณ์อยู่ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. นั้นต้องดูว่า ส.ว. มาโดยรัฐธรรมนูญ มีภารกิจปฏิรูปประเทศ ติดตามยุทธศาสตร์ชาติ เลือกนายกฯที่กำหนดเป้าหมายไว้แต่แรก ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องรอบคอบ จะดูกระแสอย่างเดียวไม่ได้ ต้องว่าด้วยเหตุผล โดยเฉพาะการไม่ให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ต้องเป็นไปโดยความเห็นพ้องต้องกัน รัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติมา ต้องเคารพเสียงประชาชน จะแก้ได้ก็ต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกัน” นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวต่อว่า ข้อเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. ขณะนี้เป็นเรื่องของที่มา ส.ว. ไม่ถูกใจ จึงออกมาเรียกร้อง แต่ไม่ได้ดูเรื่องเหตุผล บวกกับปัญหาการเมืองที่บางพรรคถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เลยอยากให้รื้อใหม่หมด

ขณะนี้ ส.ว. ขอรอดูความเห็นทุกฝ่ายเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ข้อยุติชัดเจนก่อนว่า จะแก้โดยวิธีตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือแก้รายมาตรา เพราะ ส.ส. ยังเห็นไม่ตรงกัน ถ้า ส.ว. รีบเสนออะไรไป โดยยังไม่มีข้อยุติจะยิ่งสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

“พลเดช.”ชี้ส.ว.ยังเห็นต่างกันปมโหวตนายกฯ

ขณะเดียวกัน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. กล่าวว่า ข้อเสนอนายวันชัย ที่ให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ความจริง ส.ว. ไม่ได้เป็นเอกภาพ มีความเห็นแตกต่างกัน ส่วนตัวไม่ขัดข้อง ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ให้โหวตเลือกนายกฯ ผลออกมาเป็นอย่างไร พร้อมยอมรับ

“ผมพร้อมโหวตแก้ให้ แต่ให้มาคุยกันก่อนว่าจะแก้ไขประเด็นใด แก้ทั้งฉบับหรือบางประเด็น เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ไม่ดีทั้งฉบับ ส่วนดีก็มีเยอะ ขอให้มาคุยกัน อย่ามาขู่กัน เพราะไม่มีใครกลัวใคร”

ส่วนการระบุว่าอำนาจ ส.ว. เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนั้น แล้วแต่จะมอง แต่อำนาจ ส.ว. เป็นไปตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ให้ทำหน้าที่ติดตามการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเชื่อว่ากว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเสร็จก็เข้าไปปีที่ 2-4 ของรัฐบาลแล้ว ตอนนั้น ส.ว. ใกล้หมดเวลาแล้ว อย่าใจร้อนเกินไป ควรให้ ส.ว. ทำหน้าที่ครบ 5 ปี เดี๋ยวก็ต้องไป

“ไพบูลย์”ระบุกมธ.ยังไม่สรุปแก้ม.256

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ากมธ.มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จึงได้ซักถามประเด็นนี้ต่อที่ประชุม ซึ่งทางประธานกมธ.แจ้งว่าไม่ได้มีมติเช่นนั้น และตลอดการพิจารณาของกมธ.ก็ไม่ได้มีมติ เพียงแต่มีความเห็นกันในขณะนั้น ซึ่งมีกมธ.อยู่จำนวนหนึ่ง จึงไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

“ดังนั้นจึงยังไม่มีมติใดๆทั้งสิ้น กมธ.จะให้มีคณะทำงานขึ้นมา เพื่อยกร่างรายงาน ซึ่งจะบันทึกความเห็นของกมธ.ที่อภิปรายในแต่ละหมวดแบบใดอย่างใด คาดว่าจะมีมติประมาณวันที่ 27 ส.ค. จะส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นทางสภาฯก็จะนำเข้าบรรจุระเบียบวาระพิจารณาน่าจะประมาณวันที่ 9 ก.ย. เชื่อว่าคงจะมี ส.ส. อภิปรายกันเป็นจำนวนมากในรายงานฉบับนี้ ก่อนจะส่งให้รัฐบาลพิจารณา”

สภาฯประสานตร.คุมชุมนุมแก้รธน.

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ กล่าวถึงการชุมนุมของคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่เชิญชวนประชาชนชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค.ว่า ประธานสภาฯกำชับให้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย รวมถึงอำนวยความสะดวก และป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการชุมนุม ให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุขว่าด้วยการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย

อย่างไรก็ตามสภาฯจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเตรียมมาตรการที่เกี่ยวข้อง และการอำนวยความสะดวก ซึ่งหากผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมายคงไม่มีปัญหา สำหรับการเรียกร้องของประชาชนนั้น ที่ผ่านมานายชวนเคยให้สัมภาษณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น แต่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นต้องเป็นไปตามระบบคือระบบรัฐสภา

จับตาแฟลชม็อบชนกลุ่มอาชีวะ

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวว่า ได้มีการนัดรวมพลประชาชนหน้ารัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค.เวลา 10.10 เพื่อทำกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ปกป้องสถาบันฯ โดยมีแนวร่วมศูนย์กลางประสานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันฯ หรือศอปส .เข้าร่วมด้วย โดยได้ส่งคนไปขออนุญาตทำกิจกรรมที่สน.บางโพ ตามขั้นตอน รวมถึงมีการประสานกับทางรัฐสภา เพื่อขอทำกิจกรรมดังกล่าวหน้ารัฐสภา

“ล่าสุดมาว่าจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีการนัดรวมพลเช่นกัน เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสนับสนุนกิจกรรมแฟลชม็อบ ซึ่งดูแล้วน่าจะมีเจตนาบางอย่าง ทั้งที่ตนเองและกลุ่มแนวร่วมศูนย์กลางประสานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันฯ มีการจองเวลา สถานที่และแจ้งกับตำรวจไว้ล่วงหน้าแล้ว”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0