ถ้าพูดถึงจำนวนสินค้า ที่อยู่ใน 3 แพลตฟอร์มใหญ่ในไทย คงหนีไม่พ้น Lazada, Shopee และ JD Central ที่สร้างมูลค่าให้กับ ตลาด E-Commerce พุ่งสูง 3.2 ล้านล้านบาท ในปี 2561 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่เมื่อเจาะลึกลงไปถึงงบการเงิน พบว่า 3 เจ้าที่ว่านั้น ขาดทุนมหาศาล รวมกันเกือบ 8 พันล้านบาท
Lazada ก่อตั้งโดยบริษัท Rocket Internet จากเยอรมนีในปี 2555 เน้นเจาะตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เติบโตได้ดีที่สุดในสิงคโปร์ และเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000,000,000 บาท ต่อมา Alibaba ได้ควบรวมกิจการเมื่อปี 2559 ด้วยเม็ดเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้ทำให้ Alibaba เป็นเจ้าของ Lazada ใน อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ลาซาด้า จำกัด ปี 2561 มีรายได้รวม 8,163 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,645 ล้านบาท
JD Central เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง JD.com และ Central Group ด้วยเม็ดเงินกว่า 17,500 ล้านบาท ในชื่อกลุ่ม JD Central หรือ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด กับเป้าหมายการขึ้นเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ ปี 2561 มีรายได้รวม 458 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 944 ล้านบาท
Shopee เปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสิงคโปร์และไต้หวัน และยังให้บริการในอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ Shopee ก่อตั้งโดยบริษัท Garena ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Sea Ltd. เพราะมีเป้าหมายต้องการมุ่งสู่การเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียน Garena ถือเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพที่ใหญ่สุดรายหนึ่งในอาเซียน
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ปี 2561 มีรายได้รวม 165 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,114 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าLazada, Shopee และ JD Central รวมกันแล้วจะขาดทุนมหาศาส แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้ตลาด E-Commerce ไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในหลายปีติดต่อกัน ดูได้จาก ผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปี โดย ETDA ได้เก็บสถิติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าจากจำนวนเพียง 9.3 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันมีคนใช้มากถึง 45 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การพัฒนาของเครื่องมือสื่อสาร และราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตไปด้วย ทั้งจำนวนผู้ซื้อ ผู้ขายทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับจำนวนแพลตฟอร์มโดยผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ตลาด E-Commerce โต แต่แพลตฟอร์ม ขาดทุน ?
มาถึงจุดนี้ หลายคนคงตั้งคำถามว่า ในเมื่อมูลค่า E-Commerce ไทยโตต่อเนื่อง แต่ทำไมแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ทั้ง Lazada, Shopee และ JD Central ยังยอมที่จะขาดทุน หรือนี่เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจอีคอมเมิรซ์ที่จะต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อให้ได้มาร์เก็ตแชร์ หรือได้ตลาด และ พยายามหาลูกค้าได้มากที่สุด เพราะเมื่อคนซื้อแล้วติด ชินกับพฤติกรรมการซื้อของบนแพลตฟอร์มหรือเว็บเป็นประจำคนก็จะไม่เปลี่ยน ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วที่อเมริกา นั่นก็คือ อเมซอน ซึ่งเคยขาดทุนเป็น 10 ปี แต่วันนี้กลายเป็นเบอร์หนึ่งแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่อเมซอนทำ กำลังกลายเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ที่ยอมขาดทุนก่อนในช่วงแรก และหวังกินกำไร ในอนาคต
ความเห็น 2
Surapun
ขาดทุนลวง หลบหลีกภาษี .. ขาดทุนจริงมันคงไม่เติบโตหรอกครับ
05 ก.ค. 2562 เวลา 12.39 น.
เบสคุง
Shopee ข้อมูลผิดหรือเปล่า รายได้น้อยเกินไป
05 ก.ค. 2562 เวลา 13.38 น.
ดูทั้งหมด