โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ส่องการเปลี่ยนแปลงการตลาดของประเทศจีน

Businesstoday

เผยแพร่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 01.00 น. • Businesstoday
ส่องการเปลี่ยนแปลงการตลาดของประเทศจีน

การเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นแนวทางใหม่ๆ มากมายของการตลาด รวมถึงทำให้เกิดการพัฒนา การเร่งปฏิกิริยาของแนวโน้มหรือวิธีการใหม่ๆ ของการทำการตลาดมากมาย แม้กระทั่งประเทศที่มีความล้ำสมัยแล้วอย่างจีน ก็มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าสนใจที่เราน่าจะมาจับตามองกันครับ

สิ่งที่บ่งบอกถึงความล้ำสมัยในตลาดจีนมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จีนมีผู้ใช้ออนไลน์กว่า 854 ล้านคน (99.1% ใช้ผ่านมือถือ) ในปี 2562 งบโฆษณากว่า 71.6% ไปอยู่ที่ออนไลน์ในปี 2563 (ข้อมูลช่วงก่อนโควิด) ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนของไทย ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 20-30% หรือยอดขายอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกกว่า 45% มาจากประเทศจีน จีนใช้ระบบจ่ายเงินผ่านมือถือมากกว่าอเมริกาถึง 3 เท่า นักการตลาดที่จะลุยตลาดจีนก็ต้องเข้าใจโครงสร้างของดิจิทัลจีนให้ถ่องแท้

การซื้อสินค้าของผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบหลักจากโควิดอย่างมาก โดยช่วงเดือน พ.ค. 2563 เทียบกับปีที่แล้ว คนซื้อของออนไลน์ที่เยอะอยู่แล้ว เพิ่มขึ้นไปอีกกว่า 45% เหตุเพราะผู้บริโภคอยู่บ้านกันมากขึ้น เนื่องจากถูกจำกัดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปกรณ์นอกบ้าน (210%) ของตกแต่งในบ้าน (140%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (100%) ซึ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

แม้กระทั่งสินค้าในชีวิตประจำวัน จากการสำรวจกว่า 55% ของคนจีนบอกว่า จะยังคงใช้ออนไลน์ในการซื้อต่อไปถึงจะผ่านช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว ซึ่งทำให้ร้านค้าต่างๆ ที่อยู่นอกโลกออนไลน์ก็ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านเสื้อผ้า ร้านความงาม หรือห้าง ที่มีการซื้อขายลดลง 33%, 59%, 57% ตามลำดับ

ยังมีเรื่องต่างๆ มีอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากโควิด  เช่น การที่คนยังไม่ต้องการจะใช้การเดินทางแบบใกล้ชิดกับคนอื่น จึงผลักให้ยอดขายของจักรยานไฟฟ้าสูงขึ้นกว่า 683% เทียบกับปีที่แล้ว รวมถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายขนาดใหญ่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 133% (ข้อมูลโดย JD.com )

ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือการซื้อของจากออนไลน์ คนที่ลงมือในการซื้อก็ยังคงเป็นวัยรุ่นที่เป็นคนซื้อของออนไลน์ เพียงแต่เปลี่ยนแนวทางจากการซื้อ “เพื่อตัวเอง” เป็นซื้อให้ “ทั้งครอบครัว” (ตัวอย่างเช่น กระดาษใช้ในครัว ที่ซื้อโดยวัยรุ่นเพิ่มขึ้น 2 เท่า) ซึ่งเป็นโจทย์ในการคิดของนักการตลาดว่าคนใช้กับคนซื้อ (ผ่านออนไลน์) เป็นคนละคนกัน จะสามารถวางแผนอย่างไรได้บ้าง

สถานการณ์อย่างโควิดก็ยังเร่งผลักดันให้ระบบอี-คอมเมิร์ซของจีนมีการสนับสนุนให้สินค้าต่างๆ เข้าร่วมกับโมเดลแบบ C2M (Consumer-to-Manufacturer) หรือการนำสินค้าจากผู้ผลิตเข้าถึงลูกค้าตรงๆ ไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งระบบอี-คอมเมิร์ซเอาข้อมูลและระบบที่ตัวเองมีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ ตั้งแต่การวางแผนการผลิตจากการทำนายความต้องการ หรือช่วยออกแบบสินค้า เช่น Pinduoduo ช่วยบอกข้อมูลให้กับผู้ผลิตว่าขนาดของถุงเท้าต้องเป็นแบบไหนที่จะขายได้ดี ซึ่งมาช่วยผู้ผลิตให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ผู้บริโภคเองก็จะได้สินค้าที่ถูกลงเพราะต้นทุนลดลง

หรืออีกตัวอย่างของการทำ C2M ก็อย่างเช่น การเป็นพื้นที่ขายของอย่างการ Live ผ่าน JD.com โดยผู้บริหารสูงสุดของ GREE มาทำการ Live แนะนำสินค้า โดยกวาดรายได้ทำสถิติไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท ภายในไม่ถึง 4 ชั่วโมง

ไม่ใช่แค่การซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ สำหรับเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานความก้าวหน้าอย่าง 5G ก็มีการพัฒนาไปอย่างมาก มีการคาดการณ์ว่าจะมีการติดตั้งระบบ 5G กว่า 1 ล้านจุด ภายในปี 2563 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโควิด  ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลที่มากขึ้น หรือความต้องการระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยตอบโจทย์การสัมผัสกันระหว่างคนมากขึ้น

เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก หลายๆ อย่างในประเทศจีนก็มีการปรับตัวเข้ากับยุคโควิดในแนวทางคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น การย้ายงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงหนึ่งของจีน เช่น Canton Fair ไปอยู่ในออนไลน์ โดยเพิ่มระบบการไลฟ์ รวมถึงติดต่อแสดงความสนใจผ่านระบบออนไลน์ด้วย หรือแม้กระทั่งการประชุมออนไลน์ต่างๆ ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่าจีนเองก็มีความเปลี่ยนแปลงและการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ จากโควิดที่มีการพัฒนาอยู่แล้ว ก็มีการพัฒนาไปในความเร็วที่มากขึ้น การแข่งขันก็รุนแรง เพราะด้วยตลาดที่ใหญ่มหึมากว่าพันล้านคน ก็จะมีผู้เล่นมากมายที่พยายามจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด นักการตลาดที่สนใจจะทำการตลาดในประเทศจีนเองก็จะต้องวางแผนและรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0