โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สรรเสริญเหล่าฮีโร่ “วันรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ผู้เสี่ยงชีวิตช่วยผู้บริสุทธิ์ จุดประกายความหวัง

LINE TODAY

เผยแพร่ 26 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น.

เป็นเวลากว่า 75 ปีแล้ว ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ผู้นำนาซีและพรรคพวก ยึดแนวคิด “กีดกันผู้ที่ไม่ใช่อารยัน” หรือคนที่มีสายเลือดเยอรมันบริสุทธิ์ มีตาสีฟ้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างค่ายกักกัน “เอาท์ชวิตซ์” เพื่อส่งชาวยิว ผู้ที่เห็นต่าง ผู้พิการ และกลุ่มคนรักร่วมเพศ ไปทำงานหนักที่คุกนรกดังกล่าว และนำมาซึ่งความตายแก่ประชาชนกว่า 6 ล้านคน

ในช่วงเวลานั้นเองที่เหล่าฮีโร่ผู้กล้าหาญเลือกที่จะยืนหยัดปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ บางคนเป็นทหารกล้าที่มองเห็นความถูกต้อง บางคนเป็นเพียงคนธรรมดาที่เลือกเสี่ยงชีวิตเพื่อกำจัดความอยุติธรรม จุดประกายความหวังให้เราได้รู้ว่าแม้ในวันที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ก็ยังมี “แสง” ส่องสว่างและนำทางให้เราได้มองเห็นเนื้อแท้อันงดงามของมนุษย์อีกครั้ง

นิโคลัส วินตัน กับหนึ่งในเด็กที่เขาช่วยชีวิตเอาไว้ ภาพจาก : nytimes.com
นิโคลัส วินตัน กับหนึ่งในเด็กที่เขาช่วยชีวิตเอาไว้ / ขอบคุณภาพจาก : nytimes.com

Sir Nicholas Winton (เซอร์นิโคลัส วินตัน) 

ชาวอังกฤษผู้ไม่เคยเอ่ยถึงวีรกรรมสุดกล้าหาญของตัวเองเกือบตลอดชีวิตของเขา จนกระทั่งวันหนึ่งที่ภรรยาของนิโคลัสไปพบสมุดบันทึกที่เต็มไปด้วยชื่อ รูปภาพ และรายละเอียดของเด็ก ๆ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขาได้ช่วยเหลือให้หลบหนีก่อนถูกส่งไปที่ค่ายกักกัน 

แผนการของนิโคลัสเริ่มต้นจากทริปเล่นสกีที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงที่ปราก สาธารณรัฐเชกโกสโลวาเกีย แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการส่งเด็กชาวยิวที่พ่อแม่ยินยอมออกนอกประเทศ ให้ปลอดภัยจากการส่งตัวไปค่ายนาซี

ความยากคือนิโคลัสต้องส่งเด็ก ๆ ข้ามประเทศ ทำข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษ และเกลี้ยกล่อมครอบครัวจำนวนมากให้ยอมอุปถัมภ์เด็กผู้โชคร้ายเหล่านี้ 

ตลอดระยะเวลาที่นิโคลัสลักลอบให้การช่วยเหลือเด็ก ๆ เขาช่วยชีวิตเด็กบริสุทธิ์ไปมากกว่า 669 คน ซึ่งในปี 1988 รายการของ BBC ยังเซอร์ไพรส์นิโคลัสด้วยการจัดรายการระลึกถึงคุณงามความดีของเขา โดยเชิญให้เด็ก ๆ ทุกคนที่เขาเคยช่วยเหลือมาร่วมรายการ ทำให้รู้สึกเลยว่าการช่วยชีวิตคนนั้นช่างยิ่งใหญ่จริง ๆ 

เฟรดดี้ ในวัยสาว ขอบคุณภาพจาก : history.com
เฟรดดี้ ในวัยสาว / ขอบคุณภาพจาก : history.com

Freddie Oversteegen (เฟรดดี้ โอเวอร์สตีเกน) 

เฟรดดี้อายุ 14 ปี ตอนที่เธอเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านของดัตช์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอใช้วิธีหลอกล่อทหารนาซีมาให้สมาชิกกลุ่มสังหารในช่วงแรก ก่อนถูกเลื่อนขั้นเป็นมือสังหารเองตอนอายุเพียง 16 ปี ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเธอและพี่สาวกำจัดทหารนาซีไปเป็นจำนวนกี่คน แต่ภารกิจที่เธอเคยทำ มีทั้งพาชาวยิวไปซ่อนในที่ปลอดภัย ช่วยงานในโรงพยาบาล รวมทั้งระเบิดทางรถไฟที่ทหารนาซีใช้สัญจรอีกด้วย

 เวอร์จิเนีย ฮอลล์ ขณะได้รับเหรียญกล้าหาญ ขอบคุณภาพจาก : smithsonianmag.com
เวอร์จิเนีย ฮอลล์ ขณะได้รับเหรียญกล้าหาญ / ขอบคุณภาพจาก : smithsonianmag.com

Virginia Hall (เวอร์จิเนีย ฮอลล์) 

สายลับอเมริกันที่ชาวนาซีต้องการตัวมากที่สุด “แม่สาวพิการ” ที่นาซีตั้งฉายาให้นี้ แม้ขาข้างหนึ่งของเธอจะเป็นขาเทียมจากอุบัติเหตุในการล่าสัตว์สมัยเด็ก แต่ครอบครัวของเวอร์จิเนียสนับสนุนเธอในทุกกิจกรรมที่เธอสนใจ ทำให้เวอร์จิเนียเติบโตขึ้นมาเป็นสาวที่ทั้งแข็งแรง ฉลาด และมีอารมณ์ขัน

แม้จะได้รับการปฏิเสธจากการสมัครเข้ากองทัพสหรัฐฯ หลายครั้ง ในที่สุดเวอร์จิเนียก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติการต่อต้านนาซีที่ฝรั่งเศส ทำหน้าที่สร้างข่าวปลอมทางวิทยุให้ทหารนาซี ทำลายภารกิจ และปล่อยข่าวความเคลื่อนไหวของทหารนาซีให้ทางการฝรั่งเศสรับรู้ ทำให้เวอร์จิเนียเป็นสายลับฝรั่งเศสที่ก่อความโกลาหลในกองทัพนาซีได้มากที่สุด

ออสการ์ ชินเลอร์ ขอบคุณภาพจาก : historyextra.com
ออสการ์ ชินเลอร์ / ขอบคุณภาพจาก : historyextra.com

Oskar Schindler (ออสการ์ ชินเลอร์) 

เรื่องราวของออสการ์ถูกนำไปสร้างเป็นหนังสุดประทับใจที่ได้รางวัล Academy Award ในปี 1982 ด้วยวีรกรรมน่ายกย่องที่ช่วยเหลือและอุปถัมภ์ชาวยิวกว่าพันคน โดยเริ่มจากการที่เขาเคยเป็นสมาชิกสำนักข่าวกรองของนาซี และซื้อโรงงานกระเบื้องในเมือง Krakow ในโปแลนด์ และว่าจ้างชาวยิวเป็นจำนวน 1,000 คน ในจำนวนคนงานทั้งหมด 1,750 คน เขาปกป้องคนงานของเขาโดยการให้สินบนทหารนาซี และใช้เงินส่วนตัวในการซื้อข้าวของในตลาดมืดให้พนักงานโรงงานของตัวเองจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว 

โรงงานของออสการ์ หรือ Oskar Schindler’ s Factory กลายเป็นสถานที่อีกแห่ง นอกจากค่ายกักกันเอาท์ชวิตซ์ที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์หลักของนักเดินทางที่ต้องการเรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ใครได้ไปเที่ยวโปแลนด์ก็อย่าลืมไปทำความเคารพและขอบคุณคุณออสการ์กันด้วย

โยฮัน แวน ฮัลสท์ ขอบคุณภาพจาก : jewishworldreview.com
โยฮัน แวน ฮัลสท์ / ขอบคุณภาพจาก : jewishworldreview.com

Johan van Hulst (โยฮัน แวน ฮัลสท์) 

ระหว่างปี 1942 และ 1943 คุณครูชาวดัตช์ โยฮัน แวน ฮัลสต์ ได้ช่วยชีวิตเด็กชาวยิวไว้กว่า 600 คน โดยให้พยาบาลแยกตัวเด็กออกมาจากพ่อแม่ในด่านกักกัน และส่งต่อไปซ่อนตัวในโรงเรียนที่โยฮันเป็นครูใหญ่ ก่อนจะเดินทางต่อไปที่ชายแดนและถูกพาหลบหนีออกนอกประเทศโดยหน่วยต่อต้าน ช่วยให้หลายร้อยชีวิตได้เติบโตและใช้ชีวิตของตัวเอง โดยไม่ต้องถูกนำตัวไปทรมานที่ค่ายกักกันนาซี

--

วัน "Holocaust Memorial Day"เป็นวันรำลึกเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั่วโลก รวมถึงกรณีในประเทศกัมพูชา รวันดา บอสเนีย และดาร์ฟู 

โดยดั้งเดิมมีที่มาจากการระลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยความหวังว่ามนุษย์เราจะไม่ตัดสินใจผิดพลาด และเลือกทำสิ่งซึ่งไร้มนุษยธรรมอย่างในอดีตอีก

--

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0