โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น : กิโมโนชั้นสูง-ตำนานทวยเทพ ที่จะปรากฏในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์สู่รัชสมัยเรวะ

Khaosod

อัพเดต 16 พ.ค. 2562 เวลา 16.51 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 03.56 น.
_106436997_gettyimages-14-771f72cf76b00a8cbfa6b15cc424b9fad1845fa1

สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น : กิโมโนชั้นสูง-ตำนานทวยเทพ ที่จะปรากฏในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์สู่รัชสมัยเรวะ – BBCไทย

พระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร จะเป็นพระราชพิธีที่ “เคร่งขรึม” ตามครรลองประเพณี นอกเหนือจากเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 3 สิ่งแล้ว กิโมโน หรือเครื่องแต่งกายตามประเพณีญี่ปุ่น มีส่วนสำคัญต่อพระราชพิธีเช่นกัน

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กิโมโนโอเมะ เคโซ ซูซูกิ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี อธิบายว่ากิโมโนที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่จะทรงสวมในวันที่ 1 พ.ค. 2562 เรียกว่า ‘โซกุไต’ (Sokutai) เป็นชุดบุรุษสูงศักดิ์โบราณ มีประวัติย้อนไปนับแต่สมัยเฮอัน

กิโมโน ‘โซกุไต’ ไม่ได้นำมาสวมใส่บ่อยนักในปัจจุบัน เพราะความซับซ้อนในการสวมใส่ และเป็นชุดที่ต้องสวมทับหลายชั้น

“ฉลองพระองค์ในพระราชพิธีของผู้ชายเรียกว่าโซกุไต ส่วนผู้หญิง จะเรียกว่าจูนิฮิโตะ” ซูซูกิ ระบุ “เป็นกิโมโนตามประเพณีนับแต่สมัยเฮอัน (ระหว่างศตวรรษที่ 8 ถึง 12)”

ส่วนสำคัญที่สุดของฉลองพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ คือ พระมาลา (หมวก) คันมูริ สีดำด้านและมีหางยาวตั้งสูงตรงถึง 60 เซ็นติเมตร

นกฟินิกซ์

กิโมโนหลวง (Royal Kimono) ที่สมาชิกในราชวงศ์ญี่ปุ่นสวมใส่ มักจะมีลวดลาย ‘นก’ ซึ่งชาวญี่ปุ่นถือเป็นทูตสวรรค์ตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะลวดลายนกฟินิกซ์ หรือนกไฟอมตะ บนกิโมโนของสมเด็จพระจักรพรรดินั้น ซูซูกิ บอกว่า “มีความหมายถึงสันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์”

ลวดลายนกฟินิกซ์ หรือ โฮโอ ตามภาษาญี่ปุ่น
ลวดลายนกฟินิกซ์ หรือ โฮโอ ตามภาษาญี่ปุ่น

ซูซูกิอธิบายต่อว่า สีน้ำตาลทองเป็นสีของกิโมโนที่สมเด็จพระจักรพรรดิเท่านั้นทรงสวมได้ เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ ส่วนสมาชิกในราชวงศ์พระองค์อื่นจะทรงสวมฉลองพระองค์สีดำ แดง น้ำเงิน หรือสีอื่น ๆ ตามยศถาบรรดาศักดิ์

ระหว่างพระราชพิธีนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิและสมาชิกราชวงศ์ชาย จะทรงถือคทา ที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ชาขุ’ (Shaku) ทำจากแผ่นไม้ทรงแบนเรียบ ไว้ในพระหัตถ์

ในอดีตนั้นมีบางครั้งที่มีการสอดหมายกำหนดการไว้ด้านหลังชาขุเพื่อช่วยให้ดำเนินตาม ขั้นตอนของพระราชพิธีที่มีความสลับซับซ้อนได้โดยไม่ติดขัด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โทมิทาโร ฮาชิโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชินโตศึกษา มหาวิทยาลัยเรตาคุ ชี้ว่า คทา ‘ชาขุ’ ยังมีบทบาทอื่นอีกด้วย

“คนรอบข้างจะสังเกตเห็นได้ทันทีว่า จิตใจคุณมีสมาธิ หรือว่อกแว่กหรือไม่ จากการที่ชาขุเอียงไปด้านข้าง”

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงถือคทา ‘ชาขุ’
สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงถือคทา ‘ชาขุ’

ฉลองพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดินี

ว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดินี เจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายาในมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ จะทรงฉลองพระองค์ด้วยกิโมโนชั้นสูงที่ตัดเย็บอย่างประณีต ซึ่งชาวญี่ปุ่นรู้จักในชื่อ ‘จูนิฮิโตะ’ (Junihitoe) หรือกิโมโนที่มีหลายชั้น

“เริ่มจากสวมโคะโซะเดะสีขาว ทับด้วยฮะกะมะสีแดง สีม่วง สีเขียว และสุดท้ายฮะกะมะสีกุหลาบ พอซ้อนทับรวมกันแล้ว พระอังสา (บ่า) ต้องรับน้ำหนักถึง 12 กิโลกรัมเลยทีเดียว” ซูซูกิ อธิบาย

แม้จูนิฮิโตะ จะแปลว่า 12 ชั้น แต่ในความเป็นจริง ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีต้องทรงฉลองพระองค์กี่ชั้น ยกตัวอย่าง สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะทรงฉลองพระองค์ 9 ชั้น ในพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระสวามี

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กิโมโนโอเมะวิเคราะห์ว่า เจ้าหญิงมาซาโกะ จะทรงเลือกสีของกิโมโนแต่ละชั้นด้วยพระองค์เอง แต่จะคงลวดลายที่คล้ายกับฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะทรงสวมใส่ในปี 2532

ประกอบด้วยกิโมโนโทนสีแดงเข้ม ชายกิโมโนและส่วนล่างของอาภรณ์ชั้นต่าง ๆ จะมองเห็นได้จากภายนอก แล้วทรงสวมเสื้อคลุมสีครีมที่มีปกเสื้อสีม่วงอ่อนทับอีกชั้นหนึ่ง

สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ ในฉลองพระองค์ ‘จูนิฮิโตะ’
สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ ในฉลองพระองค์ ‘จูนิฮิโตะ’

พระเกศาจะขมวดขึ้นและแผ่บานออกด้านข้าง พร้อมด้วยพระเวณี (ผมเปีย) ยาวมาด้านหลัง และจะทรงประดับปิ่นปักผมสีทองขนาดใหญ่บริเวณพระนลาฎ (หน้าผาก)

เช่นเดียวกับชุดโซกุไต ฉลองพระองค์จูนิฮิโตะ เป็นชุดที่สมเด็จพระจักรพรรดินีไม่ทรงสวม บ่อยนัก นอกเหนือจากในพระราชพิธีสำคัญ และพระราชพิธีเสกสมรส เพราะมีน้ำหนักมาก

เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งเทพ

สำหรับพระราชพิธีขึ้นครองราชย์นี้ จุดสำคัญจะอยู่ที่การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สามสิ่ง หรือเรียกว่า ไตรราชกกุธภัณฑ์ (ซันซู โนะ จิงงิ) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรพรรดิ

ตามประเพณีญี่ปุ่น พระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีที่ถือตามคติทางชินโต หรือวิถีแห่งเทพ เพราะตามตำนานญี่ปุ่นเล่าว่า สุริยะเทวีอามาเทราสึ ประทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 3 สิ่งนี้ ให้พระนัดดา นินิงิ โนะ มิโคโตะ เสด็จลงจากสวรรค์มาปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษิตริย์แห่งยามาโตะ พระนามว่า จักรพรรดิจิมมุ เมื่อ 711 ปีก่อนคริสตกาล

ไตรราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ กระจก ‘ยาตะ โนะ คากามิ’, พระขรรค์ ‘คุซานางิ โน ซุรุกิ’ และอัญมณีมางาตามะ ‘ยาซาคานิ โน มางาตามะ’ ซึ่งมีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ

ทั้งนี้ กระจก พระขรรค์ และอัญมณีมางาตามะ ไม่เคยปรากฏในภาพถ่าย แม้แต่สมเด็จพระจักรพรรดิเองก็ไม่เคยได้ทอดพระเนตร

ดังนั้น ในพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ วันที่ 1 พ.ค. 62 เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่จะถวายให้สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ จะประกอบด้วย พระขรรค์จำลอง และอัญมณีมางาตามะของจริง ส่วนกระจกจำลองนั้น ไม่ได้นำมาใช้ในพระราชพิธี โดยทั้งหมดจะห่อหุ้มด้วยผ้า และจะนำไปประดิษฐานไว้ในพระราชวังต่อไป

youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0