โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ศุกร์ (สุข) ละวัด กับ ‘วัดพระแก้ว’ จังหวัดชัยนาท

The Bangkok Insight

อัพเดต 07 ส.ค. 2563 เวลา 04.56 น. • เผยแพร่ 07 ส.ค. 2563 เวลา 04.53 น. • The Bangkok Insight
ศุกร์ (สุข) ละวัด กับ ‘วัดพระแก้ว’ จังหวัดชัยนาท

ศุกร์ (สุข) ละวัด กับ 'วัดพระแก้ว' จังหวัดชัยนาท

 วัดพระแก้วตั้งอยู่ที่ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 23 กิโลเมตร วัดพระแก้ว เป็นวัดที่เก่าแก่รุ่นเดียวกับ วัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี "วัดพระแก้ว" หรือวัดพระแก้วเมืองสรรค์ แต่เดิมมีชื่อว่าวัดป่าแก้ว เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งต่อมามีคนพบพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดเท่าปลายนิ้วมือทำด้วยแก้วจากในเจดีย์

จึงเรียกกันติดปากว่า วัดพระแก้ว ที่หน้าประตูทางเข้าวัดพระแก้ว จังหวัดชัยนาท เขียนอธิบายไว้ว่า  ศิลปกรรมชิ้นนี้…ซึ่งอยู่ด้านหลังขององค์หลวงพ่อฉาย นักโบราณคดีเรียกว่า "ทับหลัง"เป็นภาพจำหลักบนศิลาทราย ภาพที่เห็นเป็นรูปพระอิศวรทรงช้างเอราวัณ อยู่ในซุ้มเรือนแก้วเป็นศิลปะขอมที่มีอายุเป็นพันปีขึ้นไป

เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงคงมีผู้นำโบราณชิ้นนี้มาจากอาณาจักขอม และนำแท่งศิลทรายที่มีภาพจำหลักพระอิศวรทรงช้างเอราวัณมาแกะเป็นพระพุทธรูป แต่ได้หงายเศียรช้างเอางวงขึ้นด้านบน คงบอกเป็นปริศนาธรรมว่า "ผู้ที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดเช่นพุทธองค์ จะต้องรู้จักปฏิบัติตนทวนกระแสแห่งโลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะพบกับความสุขในชีวิต"

ภายในพระอุโบสถที่ด้านหลังพญานาค จะมีพระพุทธรูปพระประธานคือ หลวงพ่อฉาย ที่สำคัญด้านหลังองค์หลวงพ่อฉายมี "ทับหลัง" แกะสลักด้วยหินทรายติดอยู่ ลักษณะเป็นภาพหงายไม่ใช่ภาพคว่ำแตกต่างจากทับหลังทั่วไป เป็นรูปช้างมอบหงายอยู่บนแท่น

โดยส่วนบนสุดเป็นรูปพระอินทร์ หรือพระศิวะ กำลังหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ไหลถึงตัวช้าง โดยสันนิษฐานว่า ทับหลัง น่าจะขนย้ายมาจากปราสาทแห่งหนึ่ง ในประเทศกัมพูชา ภายในวัดพระแก้ว มีสิ่งที่สำคัญคือ องค์สถูปเจดีย์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะอู่ทอง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบปาละ ของอินเดีย

เป็นเจดีย์ที่มีความงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีลักษณะเป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับเจดีย์แบบทวาราวดีตอนปลาย ใช้เทคนิคการสร้างแบบสอปูน เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานไพที ฐานเขียงและฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ มีพระพุทธรูปปูนปั้นแบบนูนสูงประดับ ทั้งสี่ด้านมีเจดีย์ต่อจากฐานเรือนธาตุตอนบน ทั้งสี่มุมต่อจากเรือนธาตุเป็นฐานสูงแปดเหลี่ยมมีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ต่อขึ้นไปเป็นบัวลูกแก้วและบัวถลาจนถึงองค์ระฆัง

ลักษณะของเจดีย์คล้ายเจดีย์สุโขทัย อาจได้รับอิทธิพลร่วมระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศรีวิชัย บนฐานชั้นสามในซุ้มตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางถวายเนตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยอยู่สองข้าง ลักษณะของพระพุทธรูปน่าจะเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น เพราะมีเค้าโครงศิลปะสุโขทัยผสมที่เห็นได้ชัดถัดจากแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงขึ้นไป เป็นแท่งแปดเหลี่ยม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตรทั้งสี่ด้าน

เหนือขึ้นไปเป็นย่อเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง ต่อจากองค์ระฆังเป็นปล้องไฉน 12 ปล้องรวมความสูง 77 เมตร สันนิษฐานว่า สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 น่าจะได้มีการแฝงคติธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเอาไว้ด้วย หลายประการ อาทิ ฐานสี่เหลี่ยมหมายถึงอริยสัจสี่ฐานสูงแปดเหลี่ยมหมายถึงอริยมรรคมีองค์แปด ปล้องไฉน 12 ปล้อง หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท12 ข้อ ที่เกี่ยวพันกันเหมือนลูกโซ่ ยอดเจดีย์หมายถึงพระนิพพาน

โดยอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ บรมครูทางด้านศิลปะไทย ถึงกับยกย่องว่า สถูปวัดพระแก้วเมืองสรรคบุรีนี้ เป็น"ราชินีแห่งเจดีย์ในเอเชียอาคเนย์"เดิมพระสมุท์โปร่งเจ้าอาวาสวัดพระแก้วได้พบ "หลวงพ่อฉาย"ในสภาพชำรุดหักเป็นสามท่อนอยู่ในป่าแฝกจึงได้จัดทำฐานไว้ชั่วคราวและต่อมา พ.ศ. 2498 ได้บูรณะซ่อมแซมให้สมบูรณ์ดังเช่นในปัจจุบัน และประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าเจดีย์วัดพระแก้ว เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน วัดนี้จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นวัดสำคัญของจังหวัดชัยนาทที่คุณต้องมาให้ได้สักครั้ง

เรื่อง-ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0