โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิธีเลิกเป็นคนประเภท 'เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด' ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดี

LINE TODAY

เผยแพร่ 02 ส.ค. 2562 เวลา 06.45 น. • nawa.

เคยไหมคะ ชอบช่วยเหลือคนอื่นจะบางทีตัวเองก็เดือดร้อน หรือบางทีตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะไม่ช่วยก็ไม่ได้ กลัวคนจะมองไม่ดี แต่ถ้าช่วยแล้ว ตัวเองก็ลำบาก มันจึงเป็นที่มาของประโยคสุดคลาสิก ‘เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด’ กลายเป็น ‘ช่วย’ จนเรา ‘ซวย’ แทน 

ยิ่งสังคมไทยยิ่งให้คุณค่ากับคนที่มีน้ำใจมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ มันไม่เข้าใครออกใคร หลายคนน่าจะเคยประสบปัญหานี้ คนใกล้ตัวมาขอยืมเงิน จะไม่ให้ก็กลัวเขาโกรธ กลัวเขาว่าใจจืดใจดำ แต่หากให้ไปแล้ววันนึงเกิดบาดหมางกันก็ดูจะไม่คุ้มค่ากับความสัมพันธ์ที่ต้องสูญเสียไป อีกประเด็นฮิตคือเรื่องงาน เป็นคนใจดี ทำงานได้ทุกอย่าง ได้ค่ะพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน รู้ตัวอีกทีก็จมอยู่ในกองงานจนไม่มีเวลาใช้ชีวิต เจอแบบนี้ทั้งทุกข์ทั้งเครียด แล้วความเอ็นดูของเรามันจะมีประโยชน์ไหมก็ไม่รู้ 

ผู้อ่านคะ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้ทุกท่านมีลิมิต มีขีดจำกัด มีขอบเขตของตัวเอง วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยยับยั้งชั่งใจให้เราไม่เป็นคนที่ใจดีเกินไปจนโดนเอาเปรียบ มีอยู่ดังนี้ 

1. ตั้งปณิธานให้เด็ดขาด

ตั้งขอบเขตของตัวเองในทุกเรื่อง บอกว่าจะช่วยเท่าที่ทำไหว ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องเงิน หรือเรื่องอื่น บางคนยึดถือในใจเลยว่า จะไม่มีวันให้คนรอบข้างยืมเงินเด็ดขาด เพราะไม่ต้องการมีปัญหากัน พูดให้ชัด ประกาศให้แจ้งเลยว่า หากเดือดร้อนเรื่องเงินทอง เชิญป้ายหน้า ฉันจะไม่มีทางให้ใครหยิบยืมอย่างเด็ดขาด 

หรือมีลิมิตว่า ให้ได้แค่เท่านี้เท่านั้น อย่าลืมว่าส่วนมากเวลาคนมาขอยืมเงิน มักจะขอเผื่อได้ไปก่อน เช่น ชีวิตจริงอาจจะต้องการเงินแค่ 5,000 บาท แต่มาขอยืมหมื่นนึง เราไม่จำเป็นต้องให้ตามจำนวนที่เขาต้องการ แต่ให้เท่าที่เราไม่เดือดร้อน อาจจะแค่ 3,000 บาทก็ไม่ผิด

หรือคิดเลยว่า ให้แล้วให้เลย ไม่เคยคิดจะได้คืน เมื่อคุณให้ใครสักคนยืมเงินแล้ว บอกเลยว่าต้องเผื่อใจไว้ครึ่งหนึ่งว่าอาจจะไม่ได้คืนก็ได้ หากตัดใจเลยว่าเงินก้อนนี้ไม่ได้คืนก็จะไม่เสียใจ เพราะตั้งใจแล้วว่าจะให้ ไม่คิดแค้นย้อนหลัง คิดเสียว่านี่เป็นค่าใช้จ่ายอะไรสักอย่างในชีวิตก็เท่านั้น

2. เลิกเกรงใจคนอื่น แต่หันมาเห็นใจตัวเองบ้าง 

นี่เป็นสาเหตุหลักที่นำมาซึ่งอาการเอ็นดูเขา เอ็นเราขาด เพราะมัวแต่คิดแทนคนอื่น คิดว่าเขาจะโกรธ คิดว่าเขาจะไม่พอดี คิดว่าตัวเองจะเป็นคนเห็นแก่ตัว คิดได้ค่ะ ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราต้องหันกลับมามองตัวเองด้วยว่าในสถานการณ์นั้น ๆ มีวิธีอื่นที่ช่วยเหลือเขาได้ไหม หรือมีใครคนอื่นที่สามารถสนับสนุนเขาได้ดีกว่าเรา ก็ต้องแนะนำไป อย่าลืมว่าเราอาจจะไม่ได้เป็นคนเดียวที่เหลืออยู่แล้วต้องช่วยเขา 100% ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนขี้สงสารตลอดเวลา เราสามารถช่วยเหลือเขาด้วยวิธีอื่น หรือแนะนำทางออกอื่นให้เขาก็ได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องลงมือเอง 

3. กล้าที่จะปฏิเสธให้เป็น 

การปฏิเสธไม่ได้แปลว่าเราใจดำ!

การปฏิเสธไม่ได้แปลว่าเราใจดำ!

การปฏิเสธไม่ได้แปลว่าเราใจดำ!

ท่องจำไว้เลยค่ะ หลาย ๆ คนไม่กล้าจะปฏิเสธใครเลยเพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นคนไม่มีน้ำใจ เป็นคนใจร้าย แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปนะคะ ต้องหัดพูดคำว่า ‘ไม่’ เสียบ้าง ความขี้เกรงใจไม่เข้าเรื่องนี่แหละที่จะนำปัญหา ความปวดหัวมาให้กับเราได้โดยไม่รู้ตัว แถมบางทีต้องปวดหัวกับเรื่องคนอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเองอีก

มีงานวิจัยของเมืองนอกแนะนำว่า ให้รู้จักพูดคำว่า ‘ไม่’ แบบตรง ๆ จะดีกว่า เพราะจะทำให้เราหนักแน่นในการปฏิเสธได้ดีที่สุด 

4. เลิกคิดมาก 

ด้วยความที่เป็นคนใจดี อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนคิดเล็กคิดน้อยได้โดยไม่รู้ตัว อย่างที่เขาบอกว่า ทำดีร้อยครั้งคนไม่จำ ปฏิเสธครั้งเดียวจำไปจนตาย นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องช่วยเหลือคนอื่นอยู่เสมอจนบางทีก็เดือดร้อนซะเอง เพราะไม่รู้จักความพอดี สิ่งจำเป็นคือต้องไม่เก็บความรู้สึกเหล่านั้นมาคิดมาก ไม่ช่วยเหลือไม่ได้เป็นความผิด รู้จักปฏิเสธเพื่อเอาตัวรอดเสียบ้างก็ไม่เป็นไร

จำไว้ว่า อย่าเป็นคนใจดีเกินไปจนไม่มีใครเกรงใจเรา ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ช่วยเท่าที่ตัวเองไหว อย่าช่วยจนเขาลืมตัวไม่สามารถแก้ปัญหาของเขาได้เอง แบบนั้นการช่วยเหลือของเราก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0