โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิญญาณในภาพถ่าย

The101.world

เผยแพร่ 06 ส.ค. 2563 เวลา 06.18 น. • The 101 World
วิญญาณในภาพถ่าย

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง/ภาพ

 

 

“The indexical quality of the photo intensifies its status as harbinger of death and, at the same time, its capacity to signify life. Life is the presence of the object before the camera; death is the “having-been-there” of the object—the radical break, the finality introduced by the past tense. The ça-a-été of the photograph creates the retrospective scene of looking shared by those who survived. In its relation to loss and death, photography does not mediate the process of individual and collective memory but brings the past back in the form of a ghostly revenant, emphasizing, at the same time, its immutable and irreversible pastness and irretrievability. The encounter with the photograph is the encounter between two presents, one of which, already past, can be reanimated in the act of looking.”

Marianne Hirsch,

The Generation of Postmemory: Writing and Visual Culture After the Holocaust,

2012: 134

 

ในมหาสมุทรของการคิดและเขียนเกี่ยวกับภาพถ่าย นอกเหนือไปจากการศึกษาภาพถ่ายในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้ข้อมูลเชิงข้อเท็จจริง (อันอาจจริงหรือไม่จริง หรือจริงอย่างไร) ความสัมพันธ์ระหว่างภาพถ่ายกับความตาย (ทั้งในความหมายตรงตามตัวอักษรและอุปลักษณ์) ยังเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการขยับขยายทั้งในเชิงภูมิปัญญาและอาณาบริเวณทางวิชาการ

หลายสิบปีหลังจาก On Photography (1977) ของซูซาน ซอนแทก (Susan Sontag) และ Camera Lucida: Reflections on Photography (1980) ของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) การคำนึงถึงภาพถ่ายบุคคลในฐานะการทำนายความตายล่วงหน้าได้แตกแขนงไปสู่หลากประเด็นในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในส่วนที่เกาะเกี่ยวไปกับงานศึกษาเรื่องความทรงจำ สงคราม และความรุนแรง

มารีแอนน์ เฮิร์สช์ (Marianne Hirsch) นักวิชาการชาวอเมริกันเชื้อสายยิว (เกิดในโรมาเนียและอพยพไปสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1962) ได้เคลื่อนมโนทัศน์เรื่อง ça-a-été (having-been-there) ของบาร์ตส์ที่ว่าภาพถ่าย คือสิ่งที่เคยมี เคยเป็น เคยเกิดขึ้น “มีบางอย่างเคยอยู่ตรงนั้น” ไปสู่การอธิบายว่า ภาพถ่ายคือการนำอดีตให้หวนกลับมาใหม่ในรูปของผีหรือวิญญาณ (ghostly revenant)

อดีตหลอกหลอนเพราะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หมุนคืนกลับดังเดิมไม่ได้ (immutable, irreversible) เป็นสิ่งที่ไม่อาจกอบกู้ได้ (irretrievability) แต่ตัวตนของสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย—ปัจจุบันที่เคยอยู่ตรงนั้น อดีตที่ตายไปแล้ว—ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่และดำรงอยู่ต่อไปได้ (เยี่ยงผี) ด้วยการมองย้อนกลับเข้าไปจากสายตาของผู้ที่ยังมีชีวิต

ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างภาพถ่ายกับความตายในข้อความที่ยกมาข้างต้น พาผู้เขียนไปสู่นิทรรศการ For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) ของลุค ดักเกิลบี (Luke Duggleby) ช่างภาพอิสระชาวอังกฤษ ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Protection International (PI) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะใหม่เอี่ยม

ในกรณีนี้ ผู้เขียนไม่ได้เริ่มต้นการเขียนจากงานศิลปะเหมือนที่เคยทำอยู่เสมอ แต่เริ่มจากงานเขียนที่กำลังอ่านเพื่อทำงานชิ้นอื่น เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว อ่านหนึ่งได้ถึงสอง เพราะอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองไทยนั้น แม้จะดูเหมือนมีเกียรติ แต่มักไม่ค่อยจะมีกิน

For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) คือนิทรรศการภาพถ่ายที่อุทิศให้ผู้เสียชีวิต หรือสูญหายจากการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยจำนวน 56 คน ดักเกิลบีสืบค้นข้อมูลไปจนถึงกรณีแรกๆ ที่มีการบันทึกไว้ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เขาเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อเยี่ยมครอบครัวหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิต ทำการสัมภาษณ์ และขออนุญาตนำภาพถ่ายที่ใช้ในงานศพของผู้เสียชีวิตมาวางไว้ในจุดที่พบศพ หรือถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะหายตัวไป

แต่ทว่า นั่นก็ยังไม่ใช่ปลายทางของภาพถ่ายที่ขอยืมมา เพราะการนำภาพถ่ายไปที่จุดเกิดเหตุไม่ได้ทำขึ้นเพื่อสร้างผลงานประเภทศิลปะจัดวาง หากแต่เป็นขั้นตอนในการทำงานภาพถ่ายของเขาอีกทีหนึ่ง ดักเกิลบีได้ถ่ายภาพภาพถ่ายนั้นๆ ในสถานที่ที่บุคคลในภาพเคยมีตัวตนเป็นครั้งสุดท้าย—ไม่ว่าเป็นหรือตาย

 

 

ในนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะใหม่เอี่ยม ภาพถ่ายเหล่านี้ติดตั้งบนแผ่นไม้สองแผ่นประกบเข้าหากัน ด้านหน้าเป็นภาพของผู้เสียชีวิตคนหนึ่ง ด้านหลังเป็นภาพของอีกคนหนึ่ง ใต้ภาพมีชื่อ นามสกุล และวันเดือนปีที่เสียชีวิตหรือสูญหาย บนผนังไม่ไกลออกไปมีแผ่นข้อมูลให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตและสูญหายแต่ละคนเป็นใคร เคลื่อนไหวเรื่องอะไร เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่

นิทรรศการ For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) วางอยู่บนฐานของการให้ข้อมูลเชิงข้อเท็จจริง ด้วยวัตถุประสงค์ว่าเรื่องราวของพวกเขาจะต้องเป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง และไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน

เราจะจบบทความที่ตรงนี้ก็ได้ แต่ยังไม่จบก็ได้เหมือนกัน

หากงานเขียนเกี่ยวกับศิลปะเป็นได้มากกว่ารายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะและผู้สร้าง แต่กอปรด้วยการตีความ การเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น มุมมองส่วนตน และอื่นๆ อีกประดามี นิทรรศการภาพถ่ายที่แสดงรายละเอียดของหน้าตา ชื่อ นามสกุล วันเดือนปี และสาเหตุของการเสียชีวิตก็ยังมีเรื่องให้คิดต่อไปได้อีก ที่สำคัญ ผู้เขียนยังไม่ได้ทำอะไรกับข้อความของเฮิร์สช์ที่ยกมายืดยาวเลย (เดี๋ยวจะยกข้อความอื่นมาอีก) ขอสัญญาว่านี่ไม่ใช่การยกมาแปะไว้เก๋ๆ และจะไม่ทำในสิ่งที่เคยบ่น คือทำให้งานศิลปะเป็นแค่ภาพประกอบคำอธิบายทางวิชาการ แต่การ 'อ่าน' ของผู้เขียนจะชวนให้คล้อยตามหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้อ่านจะประเมินตัดสินด้วยตนเอง

 

“As Spector I was interested in Photography only for “sentimental” reasons; I wanted to explore it not as a question (a theme) but as a wound: I see, I feel, hence I notice, I observe, and I think.”

 Roland Barthes,

Camera Lucida: Reflections on Photography,

1980: 21

 

บาร์ตส์กล่าวถึงการสำรวจภาพถ่ายในฐานะ 'บาดแผล' (a wound) และการคิดถึงความรู้สึกของตนที่ภาพถ่ายก่อให้เกิดขึ้น ในแง่นี้ การมองภาพถ่ายมีความเป็นส่วนตัวอย่างมาก นั่นคือ ผู้ชมแต่ละคนอาจรู้สึกกับภาพถ่ายแต่ละภาพแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าภาพถ่ายบางประเภท เช่น ความรุนแรง เหตุการณ์สยองขวัญ มักก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมบางประการ แต่สำหรับภาพเหมือนบุคคลทั่วๆ ไป ภาพถ่ายหน้าตรงเหมือนภาพติดบัตร ภาพที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องระบุตัวบุคคลว่ามีรูปลักษณ์หน้าตาอย่างไรนี้ จะมีอะไรให้เรา 'รู้สึก' ได้? หากการเห็นบาดแผลในภาพถ่ายเป็นสายตาเฉพาะตัว บาดแผลจากการมองภาพในนิทรรศการ For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) คืออะไร? ทั้งนี้ไม่ใช่บาดแผลสำหรับใคร แต่สำหรับผู้เขียนเอง

 

 

ในความเห็นของบาร์ตส์ ภาพถ่ายที่เป็นภาพเหมือนบุคคลมีองค์ประกอบสี่ประการ เบื้องหน้าเลนส์ ฉันคือคนที่ฉันคิดว่าฉันเป็น (the one I think I am), คนที่ฉันอยากให้คนอื่นเห็นว่าฉันเป็น (the one I want others to think I am), คนที่ช่างภาพคิดว่าฉันเป็น (the one the photographer thinks I am) และคนที่เขา (ช่างภาพ) ใช้เพื่อนำเสนอว่าเป็นผลงานศิลปะของตน (the one he makes use of to exhibit his art) (น. 13)

ในแง่นี้ 'ฉัน' จึงเป็นทั้งองค์ประธาน (subject) และผู้ถูกกระทำ (object) ในเวลาเดียวกัน การถ่ายภาพคือชั่วขณะที่ 'ฉัน' กลายเป็นทั้งผู้มองและผู้ถูกมอง (เพราะฉันมองตัวเอง สิ่งที่ฉันมองคือตัวฉันเอง และตัวฉันที่ว่านั้นก็เป็นตัวฉันแบบที่คนอื่นน่าจะมองเห็นด้วย งงไหม? ไม่งง) ขณะเดียวกัน ช่างภาพก็เห็น 'ฉัน' ในแบบที่เขาเห็นด้วย (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นแบบเดียวกันกับที่ฉันคิดว่าอยากให้เขาเห็นไหม) ฉะนั้น 'ฉัน' คนนั้นก็เป็นผลงานศิลปะของเขา เพราะเขาถ่ายภาพเหมือนของฉันออกมา

ภาพถ่ายบุคคลคือตัวตนของเราทั้งในสายตาของเราและของคนอื่นไปพร้อมกัน – ภาพตัวแทน/แทนตัว

ภาพถ่ายผู้เสียชีวิตหรือสูญหายในนิทรรศการ For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) เป็นภาพเหมือนบุคคลที่ส่วนใหญ่แสดงภาพใบหน้าตรง เกือบทั้งหมดเป็นภาพทางการเหมือนรูปติดบัตร บางคนอยู่ในชุดเครื่องแบบ ภาพแบบที่เราไปถ่ายที่ร้านถ่ายรูป สำหรับคนจำนวนไม่น้อย ภาพลักษณะนี้เป็นภาพที่ 'ดีที่สุด' ของตน จึงมักใช้เป็นภาพถ่ายในงานศพด้วย เพื่อให้ภาพดังกล่าวตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้อยู่ข้างหลัง เพราะเกียรตินั้นให้ทั้งกับผู้ตายและผู้ที่ยังอยู่

อำนาจของภาพถ่ายในการ perform ความทรงจำนี้ชวนให้คิดถึงงานของศิลปินและช่างภาพข่าวชาวอเมริกันอีกคนหนึ่งคือ ซูซาน ไมเซลลา (Susan Meisela) ในผลงานชุด Kurdistan: In the Shadow of History ไมเซลลาเดินทางไปตามหมู่บ้านของชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก เพื่อบันทึกภาพผลกระทบหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย เธอสังเกตเห็นว่าชาวบ้านบางคนห้อยภาพถ่ายของสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไว้ในล็อกเก็ต (ดูหัวข้อ Mass Grave)

ในทั้งสองกรณี ภาพเหมือนบุคคลทำหน้าที่ย้ำเตือนความทรงจำ กระตุ้นไม่ให้ลืม ทั้งยังแสดงความใกล้ชิด เป็นสายใยที่เชื่อมโยงผู้จากไปกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ภาพถ่ายในงานศพและล็อกเก็ตห้อยคอคือภาพรอยอาลัย อ้อยอิ่งกับความตาย ต่อต้านความตายและการหลงลืมด้วยภาพถ่ายที่เป็นภาพที่เหลืออยู่ เพราะเราที่เป็นผู้ชมรู้อยู่แก่ใจว่าพวกเขาไม่มีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้แล้ว ไร้ซึ่งกายเนื้อ เหลือแต่ภาพ ดำรงอยู่เยี่ยงผี (a ghostly revenant)

 

“Photographs state the innocence, the vulnerability of lives heading towards their own destruction and this link between photography and death haunts all photos of people.”

Susan Sontag,

On Photography,

1977: 70

 

ความน่าเศร้าอยู่ตรงที่ว่าภาพถ่ายทุกใบบอกถึงความตายล่วงหน้า ชั่วขณะที่ถ่ายภาพ ไม่ว่าจะยิ้มร่าหรือทำหน้าเคร่งขรึม เราล้วนไร้เดียงสาต่อความตาย หากแต่ความตายที่ดูเหมือนไกลตัวนั้นวันหนึ่งจะมาถึง เพราะชีวิตนั้นเปราะบาง หลังความตาย ภาพถ่ายจะเป็นร่างหนึ่งที่เหลืออยู่ของเรา สำหรับผู้เป็นที่รัก ภาพถ่ายบุคคลเป็นทั้งภาพตัวแทนของคนๆ นั้นและความทรงจำที่มีต่อเขา ภาพถ่ายคือบาดแผล การมองภาพถ่ายคือความเศร้าระคนสุข

ความสัมพันธ์ระหว่างภาพถ่ายกับความตายและผู้ที่ยังมีชีวิตซับซ้อนขึ้นในกรณีของ For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) ในกระบวนการทำงานของดักเกิลบี เขานำภาพถ่ายบุคคลแบบทางการ (ซึ่งกลายเป็นภาพถ่ายหน้าศพ) มาจัดวางและถ่ายซ้ำในบริบทใหม่ เช่นนั้น พื้นที่เกิดเหตุจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่าย เป็นกรอบล้อมรอบภาพบุคคล พวกเขาถูกจัดวางในฉากใหม่ที่อ้างอิงไปถึงเหตุการณ์ชวนสลด ซึ่งก็คือสถานที่ที่พวกเขาเคยไปมาแล้วในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง เมื่อดัลเกิลบีถ่ายภาพ in situ ภาพถ่ายก็กลับสู่การเป็นภาพถ่าย กลายเป็นภาพถ่ายของภาพถ่าย

ผ่านภาพถ่ายที่ใช้ในงานศพ เหล่าผู้ที่เคยมีชีวิตถูกช่างภาพนำกลับไปยังสถานที่ที่เคยไป เคยเป็น (และอาจเสียชีวิตลงตรงนั้น) และนำกลับออกมา เพื่อที่จะหวนคืนสู่ความรับรู้ของผู้คนผ่านการจัดแสดง

 

 

ภาพที่แต่เดิมดูไร้อารมณ์สไตล์ภาพถ่ายทางการ กลับเร้าความรู้สึกหดหู่วังเวงขึ้นมาด้วยการจัดการของดักเกิลบี นี่คือการรวมหมู่ของภาพถ่ายงานศพ นิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะใหม่เอี่ยมอบด้วยอวลไอของความตาย ลักษณะการจัดแสดงที่เป็นการติดตั้งบนแท่นไม้นั้นชวนให้คิดถึงแท่นหินที่หลุมศพ (tombstone) แท่นไม้วางเรียงรายเป็นแถวเหมือนกับว่าเราเดินลัดเลาะเข้าไปในสุสาน บรรยากาศของความอาลัย ปะปนอยู่กับการทวงถามถึงความยุติธรรมที่ยังไม่มาถึงนั้นโรยตัวอยู่อย่างเงียบสงัด

ในสุสานสมมตินี้ เวลาและสถานที่ของความตายหรือการสูญหายแต่ละกรณีก่อตัวเป็นภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ความรุนแรง เรื่องราวของแต่ละคนร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านการเชื่อมโยงกับความรุนแรงจากรัฐ หรือรัฐมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ปัญหาสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม และการลอยนวลพ้นผิดที่ดำรงอยู่มานานหลายทศวรรษ

เมื่อเรามองภาพถ่าย ผู้เสียชีวิตเหล่านี้ก็จ้องมองเรากลับมาผ่านภาพ เป็นการสื่อสารไร้เสียง ข้ามภพ พวกเขากลายเป็นหัวใจสำคัญในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ผู้สูญหายทางการเมือง เผยให้เห็นด้านที่ไม่น่าพิสมัยของสังคมที่ประวัติศาสตร์ชาติแบบทางการมักให้ภาพว่าเป็นดินแดนแห่งความเจริญและสงบสุข พร้อมกันนั้น ก็เน้นย้ำการเรียกร้องความยุติธรรมและการเยียวยาที่ยังรั้งรออยู่โดยไม่มีกำหนด

 

 

แรงปรารถนาที่จะสถาปนาความรับรู้และผลสืบเนื่องคือความทรงจำของคนในสังคม บ่งชี้ถึงการคัดง้างกับความตาย ซึ่งในความหมายหนึ่งก็คือการหลงลืม For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) อัดแน่นไปด้วย archival impulse จดหมายเหตุ การบันทึก การจดจำ และความมีตัวตน อดีตคละเคล้ากับปัจจุบันและอนาคตด้วยความมุ่งหวังที่ว่าสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วจะได้รับการชำระสะสางและนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ประวัติศาสตร์และความทรงจำไม่แยกขาดออกจากกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว ความทรงจำที่ได้รับการสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์หาใช่รูปแบบเดียวของการเก็บรักษาและส่งต่อ เรื่องเล่าปรากฏตัวได้ในหลายรูปแบบ อยู่ในงานศิลปะ ในงานรณรงค์ ในวรรณกรรม เรื่องสั้น บทกวี และเสียงเพลง ในวัตถุหลากชนิดและหน้าตา ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ บนท้องถนน บนหอคอยงาช้าง

 

เขียนในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ครบรอบสองเดือนการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

แด่ความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเราได้พบกันในพนมเปญ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0