โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วัคซีนโควิด ความหวังของโลก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ส.ค. 2563 เวลา 04.42 น. • เผยแพร่ 15 ส.ค. 2563 เวลา 11.00 น.
วัคซีนโควิด
REUTERS/Diego Vara

คอลัมน์ สามัญสำนึก ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วปานติดจรวด ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 14 สิงหาคม รายงานการติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 21 ล้านคน หรือขยับเพิ่มขึ้นทีละ 1 ล้านคน ในอัตราเร่งเพียง 4 วัน หลังจากผ่านหลัก 10 ล้านคนแรกในปลายเดือนมิถุนายน การขยับขึ้นมาทีละล้านของผู้ติดเชื้อ ยิ่งใช้เวลาสั้นลง จากฐานคนติดเชื้อทั่วโลกที่ใหญ่ขึ้น และหากโลกยังรักษาอัตราเร่งแบบนี้ ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมน่าจะมีคนติดโควิด-19 ทะลุ 26-27 ล้านคน พร้อม ๆ กับเตรียมต้อนรับการมาถึงของเดือนกันยายน ด้วยตัวเลขการติดเชื้อ 30 ล้านคนแน่ ๆ

การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งมากมายมาจากไหน ถ้าจะติดตามตัวเลขย้อนหลังจะพบในกลุ่มประเทศ 5 อันดับแรก ที่ตัวเลขยังพุ่งทะยานขึ้นสูง โดยอันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ล่าสุดมีรายงานการติดเชื้อ 5,413,696 คน รองลงมา ได้แก่ บราซิล 3,224,876 คน, อินเดีย 2,459,613 คน, รัสเซีย 907,758 คน และ แอฟริกาใต้ 572,865 คน รวมกัน 5 ประเทศมีคนติดเชื้ออย่างเป็นทางการถึง 12,578,808 คน หรือคนติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด “เกินกว่า” ครึ่งอาศัยอยู่ใน 5 ประเทศนี้

ตัวเลขที่ย่ำแย่เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความ “ล้มเหลว” ในการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ของประเทศใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา เมื่อเทียบกับจีน ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ประเทศแรกที่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในช่วงแรก ๆ ของการระบาด แต่จีนกลับควบคุมได้ดีและอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ดูเหมือนว่าความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สหรัฐ-บราซิล-อินเดีย-รัสเซีย ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด ทั้งการไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน การบริหารงานทางด้านสาธารณสุขที่ผิดพลาด นโยบายทางการเมืองไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของกลุ่มประเทศขนาดใหญ่เหล่านี้ แต่มันกลับ “ฉุดรั้ง” การควบคุมการแพร่ระบาดและ “หายนะ” ทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

จะมีประโยชน์ในภาพรวมอันใด เมื่อมีไม่กี่ประเทศในโลกนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขการติดเชื้อต่ำถึงต่ำมาก หรือไม่พบการติดเชื้อเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ประเทศรอบข้างหรือประเทศอื่น ๆ ที่มีความ “จำเป็น” ต้องติดต่อกัน มีรายงานการระบาดอย่างย่ำแย่ ส่งผลให้ประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดีกลายเป็น “ไข่แดง” ที่ต้องปิดตัวเองจากประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

แน่นอนว่าการสู้รบกับโควิด-19 ของประเทศติดเชื้อขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีหนทางเดียวที่เป็นความหวัง นั่นก็คือ “วัคซีนโควิด-19” ที่มีรายงานการพัฒนาถึง +140 ชนิดทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จากวิธีพัฒนาหลาย ๆ รูปแบบ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้ระยะเวลาในการพัฒนาจนถึงขั้นตอนใช้ในมนุษย์สั้นลง อาทิ การพัฒนาวัคซีนโดยใช้ยีนของไวรัส (genetic vaccines), การใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงและไม่ก่อให้เกิดโรคมาตัดต่อใส่สารพันธุกรรม (viral vector vaccines), การใช้ชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส (protein-based vaccines), การใช้ไวรัสที่ตายแล้ว (whole-virus vaccines) และพัฒนาวัคซีนที่พร้อมใช้สำหรับโรคระบาดอื่น ๆ (repurposed vaccines)

แต่วัคซีนเหล่านี้ต้องการ “เวลา” ในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพในการควบคุม หรือป้องกันการติดเชื้อและความปลอดภัยในมนุษย์ที่ใช้มัน ด้วยการไม่ละเลยขั้นตอนความปลอดภัยที่กำกับไว้ แต่ด้วย “อัตราเร่ง” ในการติดเชื้อและจำนวนคนตายที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ประเทศที่มีการติดเชื้อขนาดใหญ่และควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องข้ามขั้นตอนหรือลดขั้นตอนลง

ตัวอย่างในกรณีนี้ ได้แก่ รัสเซีย ที่ประกาศให้การ “รับรอง” วัคซีน Sputnik-V เป็นตัวแรกของโลก ท่ามกลางความสงสัยที่ว่ามันจะได้ผลจริงหรือเปล่า ทว่าในสภาพของรัสเซียที่มีอัตราการติดเชื้อเป็นอันดับ 4 ของโลก ที่ใกล้จะทะลุ 1 ล้านคน ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ได้กลายเป็นความจำเป็นที่บังคับให้รัสเซียต้องเร่งผลักดันวัคซีนออกมา โดยใช้คนรัสเซียการันตีประสิทธิภาพของมันเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0