โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ล้งทุเรียนอ่วม จีนเก็บ VAT 13% ต้นทุนพุ่ง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 10 ส.ค. 2563 เวลา 02.54 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2563 เวลา 06.50 น.
ทุเรียน ส่งออกทุเรียน
ต้นทนพุ่ง - การส่งออกทุเรียนในภาคใต้ปีนี้กำลังประสบปัญหาจากการเก็บภาษีที่เข้มงวดของประเทศจีนผู้นำเข้าหลัก ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนส่งออกสูงขึ้น

ล้งทุเรียนอ่วม จีนใช้ระบบ single window เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% เข้มงวด ทำต้นทุนส่งออกพุ่งอีก 5-6 แสนบาทต่อตู้ แถมชาวสวนฮั้วราคาขายทำต้นทุนพุ่งหน้าสวน 100 บาทต่อ กก.แล้ว ขณะที่ปลายทางขายในจีน ทำราคาได้ไม่สูง เหตุโควิด-19 ระบาดรอบ 2 คนจีนใช้จ่ายประหยัดขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการล้งทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ล้งส่งออกทุเรียนกำลังประสบปัญหาสำคัญในการส่งออกทุเรียน และมังคุดไปจีน เนื่องจากจีนมีความเข้มงวดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 13 จากการนำเข้าทุเรียน หลังจากจีนเปลี่ยนหน่วยงานจัดเก็บภาษี และทำการจัดระเบียบการค้าชายแดนใหม่ โดยจัดทำระบบ single window ซึ่งรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของรถขนส่งสินค้าและระบบการแจ้งสำแดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยจะต้องกรอกข้อมูลเข้าระบบล่วงหน้า และใช้ระบบถ่ายรูปตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ตรงกัน

แหล่งข่าวคนดังกล่าวระบุว่า ช่วงจีนได้เริ่มทดสอบระบบตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 แต่ที่ผ่านมาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลยังไม่สมบูรณ์และระบบยังไม่เสถียร ทำให้ที่ผ่านมาแต่ละด่านจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เท่ากัน ประมาณ 9-10% แต่ปัจจุบันระบบดังกล่าวมีความสมบูรณ์ ทำให้จีนไม่สามารถเหมารวมเก็บ VAT ได้เหมือนฤดูกาลที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนในการส่งออกทุเรียนของล้งไทยเพิ่มขึ้นสูง โดยเฉลี่ยต่อตู้ต้องจ่าย VAT รวมประมาณ 5-6 แสนบาทต่อตู้

“ตอนนี้การส่งออกทุเรียนไปจีนมีราคาสูงอยู่แล้ว เนื่องจากชาวสวนจับมือฮั้วราคากัน ทำให้ราคาทุเรียนหน้าสวนสูงถึง 100 บาทต่อ กก. หรือกว่า 100 บาทต่อ กก. แถมคุณภาพของทุเรียนที่ได้ไม่ดี มีทั้งทุเรียนอ่อน และหนอนเจาะ ขณะที่การทำตลาดในจีนปีนี้ตั้งราคาสูงไม่ได้ เพราะกำลังซื้อในประเทศจีนมีจำกัด การแพร่ระบาดของโควิดทำให้คนจีนใช้จ่ายอย่างประหยัด เมื่อมาเจอจีนเข้มงวดในการเก็บ VAT ส่งผลให้ต้นทุนของล้งสูงขึ้นไปอีกมาก ปีนี้จึงค้าขายค่อนข้างลำบาก” แหล่งข่าวกล่าว

ราคาทุเรียน

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สสก.ที่ 5 จ.สงขลา) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมผลผลิตทุเรียนในภาคใต้ปี 2563 คาดการณ์เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 480,000 ตัน ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 60% ยังคงเหลือประมาณ 200,000 ตัน หรือประมาณ 30% แต่มาโดนพายุถล่มเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 ที่ จ.ชุมพร และ จ.พัทลุง บางส่วน ได้รับความเสียหายโดยภาพรวมไปประมาณ 20-30% คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมดได้ในเร็ว ๆ นี้

ผอ.สสก.ที่ 5 กล่าวว่า ราคาทุเรียนปีนี้ถือว่าค่อนข้างดีมาก เพราะผลผลิตออกมาไม่พร้อมกันในแต่ละพื้นที่ เพราะจากสภาพภูมิอากาศ ส่งผลทำให้ราคาทุเรียนหน้าสวนเคลื่อนไหวที่ดีในระดับ 100 บาท/กก. เทียบกับปีที่ผ่านมา ราคาหน้าสวนเคลื่อนไหวตั้งแต่ 50-70 บาท/กก. ส่วนทุเรียนนอกฤดูในปี 2563 มีประมาณ 5,000 ตัน ราคาตั้งแต่ 130 บาท/กก. คิดเป็นภาพรวมมูลค่าทุเรียนในปี 2563 ประมาณเกือบ 50,000 ล้านบาท

ส่งผลให้ในปีนี้ทุเรียนเข้าสู่กระบวนการฟรีซดรายมีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียนไม่สามารถประกอบการได้ เพราะจะประสบภาวะขาดทุน เพราะเข้าสู่การขบวนการฟรีซดราย ราคาทุเรียนจะต้องอยู่ที่ไม่เกินประมาณ 50 บาท/กก. จึงจะคุ้มทุนประกอบการได้

นายสุพิทกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันภาคใต้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 570,000 ไร่ มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15% ต่อปี โดย จ.ชุมพรมีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับ 1 แต่ถือว่ามีการขยายตัวไม่สูงมาก และอีกทั้งต้นทุเรียนมีอัตราการตายด้วย ดังนั้นในการทำสวนทุเรียนจะต้องเป็นมืออาชีพ และทิศทางปลูกทุเรียนยังไปได้ดี หากไม่เกิดอุปสรรคเรื่องของการส่งออก และภาคใต้ถือเป็นพื้นที่เหมาะสมมากในการปลูกทุเรียน เพราะความเป็นธรรมชาติฝนดี น้ำดี และมี 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน จึงทำให้ทุเรียนได้คุณภาพมาก

นายสุพิทกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของมังคุดปี 2563 ได้ผลผลิตประมาณ 110,000 ตัน โดยล่าสุดราคาประมูลอยู่ที่ 105 บาท/กก. ลูกเบอร์ 1 เกรดเอเป็นราคาที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีของผลไม้มังคุด ที่ได้ราคาเฉลี่ยสูงสุด เมื่อเทียบจากปีที่แล้วราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35 บาท/กก. และไม่เกิน 50 บาท/กก. และคาดราคาเฉลี่ยทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 70 บาท/กก. ทั้งนี้ มังคุดเข้าสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ประมาณ 30% ยังเหลืออีก 70% จะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จภายในเร็ว ๆ นี้ ภาพรวมปี 2563 ผลผลิตทุเรียน และมังคุดในภาคใต้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เกือบประมาณ 60,000 ล้านบาท

เจ้าของสวนทุเรียน

เจ้าของสวนทุเรียน หมู่ 3 บ้านด่านโลด เทศบาลตำบลควนเสาธง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนรุ่น 1 ที่ออกในปีนี้ได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากฝนที่ตกลงมาช่วงนี้ทำให้ผลผลิตทุเรียนอ่อนร่วงหล่น นอกจากนี้มีหนอน กระรอก กระแตกัดกิน ได้รับความเสียหาย เมื่อผลผลิตในตลาดลดลง ทำให้ราคาสูงขึ้นไป 120-300 บาทต่อ กก.

รายงานข่าวจากจังหวัดพัทลุงเปิดเผยว่า ใน จ.พัทลุง ทุเรียนมีมากที่ อ.ตะโหมด กงหรา ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต และ อ.ป่าพะยอม ภาพรวมประมาณ 16,000 ไร่ มีทั้งสวนผสมและสวนเชิงเดี่ยว โดยมีผลผลิตประมาณ 2 ตัน/ไร่ ประมาณ 32,000 ตัน สำหรับทุเรียนรุ่นที่ 1 ได้เก็บเกี่ยวหมดแล้วตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 ตอนนี้เข้าสู่การเก็บเกี่ยวรุ่นกลาง 2 3 4 และรุ่นสุดท้ายที่ 5 จะเก็บเกี่ยวสิ้นสุดประมาณเดือนกันยายน 2563

อนึ่ง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยสถิติการค้าระหว่างประเทศช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-เมษายน) ว่า การส่งออกทุเรียนสดไทยขยายตัว โดยเฉพาะในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 72) โดยการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 78 คิดเป็นมูลค่าส่งออก 567 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดส่งออกทุเรียนสู่ตลาดโลกในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 30 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 788 ล้านเหรียญสหรัฐ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0