โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ลุ้น! ‘ประกันสังคม’ ลดเงินสมทบรอบ 2 ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายไม่เกิน 300 บาท

The Bangkok Insight

อัพเดต 04 ส.ค. 2563 เวลา 07.59 น. • เผยแพร่ 04 ส.ค. 2563 เวลา 07.59 น. • The Bangkok Insight
ลุ้น! ‘ประกันสังคม’ ลดเงินสมทบรอบ 2 ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายไม่เกิน 300 บาท

ลุ้น! “ประกันสังคม” ออกมาตรการ ลดเงินสมทบ รอบ 2 เยียวยาโควิด-19 ชงจัดเก็บจาก "ลูกจ้าง-นายจ้าง" แค่ 2% หรือไม่เกิน 300 บาท ระหว่าง ส.ค.- ต.ค. 63

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สำหรับนายจ้างและผู้ลูกจ้างในระบบกองทุนประกันสังคม ผ่านรายการสถานีประกันสังคม

นางพิศมัยกล่าวว่า ล่าสุดได้มีการเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม ขอ ลดเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เหลือ 2% ต่อเดือน โดยบอร์ดได้อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยเบื้องต้นได้นำเสนอว่า การลดอัตราสมทบควรดำเนินการสำหรับค่าจ้าง 3 งวด ตั้งแต่ค่าจ้างงวดเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 แต่นายจ้างและผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบภายในระยะเวลาปกติ ไม่มีการเลื่อนแต่อย่างใด ดังนี้

  • ค่าจ้างงวดเดือนสิงหาคม 2563 จะต้องจ่ายเงินสมทบในวันที่ 15 กันยายน 2563
  • ค่าจ้างงวดเดือนกันยายน 2563 จะต้องจ่ายเงินสมทบในวันที่ 15 ตุลาคม 2563
  • ค่าจ้างงวดเดือนตุลาคม 2563 จะต้องจ่ายเงินสมทบในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
ประกันสังคม ลดเงินสมทบ
ประกันสังคม ลดเงินสมทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ออกมาหลายมาตรการ รวมถึงมาตราการ ลดเงินสมทบ ของนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ดังนี้

  • นายจ้าง ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 4% หรือสูงสุด 600 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือลูกจ้างพนักงานเอกชน ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 1% หรือสูงสุด 150 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือผู้เคยเป็นลูกจ้างมาตรา 33 มาก่อน แต่ได้ลาออกจากบริษัทเอกชนแล้ว ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 432 บาทต่อเดือน เหลือ 86 บาทต่อเดือน

สำหรับมาตราการ ลดเงินสมทบ รอบใหม่ของกองทุน ประกันสังคม เหลือ 2% ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 ที่กำลังจะเสนอ ครม. จะมีผลดังนี้ ถ้าหาก ครม. เห็นชอบตามที่เสนอ

  • นายจ้าง ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 2% หรือสูงสุด 300 บาทต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดอัตราเงินสมทบจากปกติ 5% หรือ 750 บาทต่อเดือน เหลือ 2% หรือสูงสุด 300 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือรอบใหม่ของกองทุนประกันสังคมยังน้อยกว่าข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ต้องการให้ลดอัตราเงินสมทบเหลือแค่ 1% จนถึงสิ้นปี 2563

โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยื่นข้อเสนอว่า เอกชนเสนอให้ภาครัฐช่วย ลดเงินสมทบ ประกันสังคม ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

นายสุชาติ จันทรนาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงานโควิด-19 กล่าวเสริมว่า ภาคเอกชนขอเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและเยียวยา 7 ข้อ ดังนี้

  • ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  • เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40 - 41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4 - 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ. ส่งเสรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
  • ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือ 0.01%
  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี
  • จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง

นอกจากนี้ ขอให้สํานักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน Upskill Reskill ให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (งบ 400,000ล้านบาท) เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0