โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลงแส้ ตีตราขับไล่ จุ่มลงในบ่อน้ำ ประวัติศาสตร์ของการทำให้อับอายในที่สาธารณะ

a day magazine

อัพเดต 07 ส.ค. 2563 เวลา 04.50 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2563 เวลา 18.09 น. • มนสิชา รุ่งชวาลนนท์

‘การทำให้อับอาย’ เป็นหนึ่งในวิธีที่ถูกใช้เพื่อควบคุมความประพฤติของคนในสังคม ในขณะที่โลกปัจจุบัน การทำให้อับอายอาจสามารถทำได้แม้ในโลกออนไลน์ โดยผู้กระทำอาจไม่ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมหรือคำตัดสินจากศาล การป่าวประกาศความผิด การประทับตรา และการชี้หน้าบอกว่าบุคคลตรงหน้าได้ละเมิดบรรทัดฐานสังคมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่มีประวัติศาสตร์กลับไปไกลถึงยุคกลาง

ในยุคที่โลกออนไลน์ยังไม่ตั้งไข่ และการบอกกล่าวความผิดของใครสักคนต้องใช้มากกว่าการออกประกาศ (เพราะคนส่วนมากยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้) การทำให้อับอายจึงเป็นการลงโทษเพื่อให้ปรากฏร่องรอยทางกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถูกลงทัณฑ์เป็นที่จดจำและไม่ถูกเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

พาเหรดแห่งความอับอาย

ผู้ที่ถูกลงโทษโดยการทำให้อับอาย (Shame Punishments) มักทำผิดในคดีเล็กน้อย เช่น เมาในที่สาธารณะ ฉ้อโกง ใส่ร้ายป้ายสี ลวนลามสตรี ส่งบัตรเชิญงานเลี้ยงปลอมส่งผลให้เกิดความอับอายขายขี้หน้า การเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นเท็จ ขายอาหารหมดอายุ ขายเหล้าปลอม ไวน์ปลอม ฯลฯ ผู้ทำผิดคดีเหล่านี้ไม่มีโทษคุมขัง แต่จะถูกนำไปประจานในที่สาธารณะโดยการจองจำไว้กับขื่อไม้ ซึ่งมีช่องให้สอดบางส่วนของร่างกายโดยใช้ลิ่มตรึงไว้ไม่ให้หลุด สำหรับผู้ที่ถูกตรึงที่ส่วนคอและข้อมือจะอยู่ในท่ายืน แต่หากส่วนที่ถูกตรึงคือข้อเท้า ผู้ถูกลงทัณฑ์จะอยู่ในท่านั่ง

ความผิดของผู้ถูกลงโทษมักถูกเขียนไว้ในพื้นที่ใกล้กัน ดังนั้นพื้นที่สำหรับลงโทษจึงมักเป็นลานว่างที่มีผู้คนเดินผ่านไป-มามาก ประชาชนทั่วไปสามารถหัวเราะ ล้อเลียนหรือขว้างปาสิ่งของใส่ผู้ถูกลงโทษได้แต่ห้ามทำร้ายร่างกาย สิ่งของที่ถูกขว้างปาสามารถเป็นของทั่วไปอย่างอาหารเน่า ซากสัตว์ อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเสีย ฯลฯ แต่ห้ามการขว้างปาก้อนหิน ของแข็ง และของมีคม (กฎนี้ไม่เข้มแข็งนักเพราะมักมีรายงานว่าผู้ถูกลงทัณฑ์ต้องเสียเลือดหรือบาดเจ็บเล็กน้อยอยู่เสมอ) 

ระยะเวลาในการถูกยืน (หรือนั่ง) ประจานอาจยาวนานแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อวัน และอาจต้องมารับโทษติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ในระหว่างการถูกลงทัณฑ์ห้ามสวมหมวกหรืออุปกรณ์ปกปิดใบหน้า และบางครั้งการประจานก็อาจไม่ได้ส่งผลร้ายกับเจ้าตัวเสมอไป แดเนียล เดโฟ (1660-1731) ถูกตัดสินโทษให้ถูกตรึงกับขื่อเพื่อประจานจากความผิดที่เขาตีพิมพ์บทความต่อต้านศาสนาและการปกครอง

ข้อเขียนของเขาถูกใจประชาชนจนทำให้สิ่งของที่ถูกขว้างปาออกมาเป็นสายฝนของดอกไม้และเสียงแซ่ซ้องยินดี ในปี 1763 ชายแก่ชาวอังกฤษสองคนถูกประจานในลานกว้าง ข้อหาของพวกเขาคือการเล่นสวาท (คาดว่าชายสองคนเป็นคู่รักเพศเดียวกัน) พนักงานไปรษณีย์ที่ผ่านมาบันทึกไว้ “ชายทั้งสองร้องไห้อย่างหนัก ผู้คนผ่านไป-มารู้สึกเห็นใจ หลายคนถึงขั้นให้เงินช่วยเหลือพวกเขา” 

ในยุคของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 (ครองราชย์ปี 1509-1547) มีบันทึกการลงโทษผู้ทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะที่หาญกล้านำสิ่งปฏิกูลไปเททิ้งกลางถนน เขาถูกลงโทษให้คุกเข่าลงบนกองสิ่งปฏิกูลที่สูงถึงเข่า มีขื่อตรึงไว้ไม่ให้ขยับหนี และมีหมวกกระดาษสวมไว้บนหัว เขียนประจานความผิดพลาดต่อหน้าที่ การลงโทษแบบนี้อาจไม่ได้จำเป็นต้องอยู่กับที่เสมอไป

ในปี 1552 มีบันทึกการลงโทษชาย-หญิงที่นำหมูจากต่างเมืองเข้ามาในลอนดอนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งสองถูกตัดสินให้โดนแห่ประจาน โดยการแขวนซากหมูไว้ที่คอ สวมกีบหมูไว้บนหัว ขบวนประจานของทั้งคู่มีผู้ป่าวประกาศความผิดไปตลอดทาง การประจานแบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายชื่อเสียงเป็นหลักจึงมักจะไม่ทำให้บาดเจ็บหรือถึงตาย ในอังกฤษมีบันทึกว่านักโทษถูกฝูงชนทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตเพียง 10 รายเท่านั้นในช่วงศตวรรษที่ 18 

การลงแส้ในที่สาธารณะ 

ในบางครั้งการถูกตรึงไว้กับขื่อ อาจไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายมากที่สุด เพราะสิ่งที่เจ็บปวดมากกว่าคือการถูกหวดด้วยแส้ท่ามกลางสายตาคนทั้งเมือง ในกรณีนี้ผู้กระทำความผิดจะถูกบังคับให้เดินตามเส้นทางที่ผู้คนพลุกพล่านโดยมีคนด้านหน้าประกาศความผิด และคนด้านหลังคอยลงแส้ตลอดเส้นทาง การลงโทษเช่นนี้มักไม่จบลงหากผู้ถูกลงทัณฑ์ไม่โชกไปด้วยเลือด ผู้ถูกลงทัณฑ์ถูกบังคับให้ถอดเสื้อหรือเดินตัวเปล่าเปลือยในที่สาธารณะ การลงโทษแบบนี้แม้ไม่ถือเป็นโทษตายแต่ทำให้เจ็บสาหัส หลายคนเสียชีวิตในภายหลังด้วยภาวะติดเชื้อเพราะไม่มีเงินมากพอไปหาหมอ หรืออับอายเกินกว่าจะเข้ารับการรักษา

สำหรับผู้ใหญ่ การลงแส้จะเน้นไปที่บริเวณไหล่ ในขณะที่หากผู้กระทำผิดเป็นเด็ก การลงแส้จะหวดไปที่บั้นท้าย ในปี 1533 มีหญิงท้องแก่ถูกลงโทษด้วยการลงแส้ในที่สาธารณะเพียงเพราะกล่าวว่าพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอนคือราชินีที่แท้จริงของอังกฤษ ไม่ใช่แอนน์ โบลีน (ปี 1533 เป็นปีที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 หย่าขาดจากพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอนเพื่อสมรสใหม่กับแอนน์ โบลีน) 

 

การตีตราและขับไล่

การตีตราถือเป็นโทษที่หนักกว่าเพราะปรากฏร่องรอยถาวรบนร่างกาย การตีตรานอกจากจะทำให้อับอายยังเป็นการขับไล่ทางอ้อมให้บุคคลผู้นั้นไม่สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ในสังคม การประทับตรามักทำในส่วนที่มองเห็นได้ชัด ส่วนมากกระทำกันบนใบหน้า โดยใช้ตัวอักษรแสดงความผิดของบุคคลผู้นั้นเช่น T มาจากคำว่า Thief (ขโมย) B มาจากคำว่า Blaspheme (ดูหมิ่นศาสนา) F มาจากคำว่า Fraymaker (ผู้ที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท) FA มาจากคำว่า Falsely Accused (กล่าวเท็จ) M มาจากคำว่า Murderer (ฆาตกร) 

ในปี 1598 เบน จอห์นสัน กวีและนักเขียนชาวอังกฤษ ฆ่าเกเบรียล สเปนเซอร์ นักแสดงหนุ่มตายในการดวลดาบ โทษของเขาควรถูกประหารด้วยการแขวนคอ แต่ด้วยความสามารถด้านภาษา จอห์นสันถือเป็นบุคคลมีค่าของประเทศ เขาได้รับการละเว้นโทษถึงตาย เหลือแค่การประทับตราไว้เท่านั้น การลงทัณฑ์แบบนี้เป็นที่มาของปัญหาบานปลาย หลายคนไม่กล้ากลับเข้าเมืองหรือไม่ได้รับความไว้วางใจให้ประกอบอาชีพสุจริตจึงหนีเข้าป่ากลายเป็นโจร เท่ากับเป็นการผลักปัญหาจากสังคมเมืองไปอยู่รอบนอก น่าเสียใจว่าการลงโทษแบบนี้ถูกใช้ในอังกฤษจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 

 

ลงทัณฑ์ด้วยความเงียบ 

สำหรับผู้หญิงที่ชอบเถียงสามี ซุบซิบนินทาหรือว่าร้ายเพื่อนบ้าน หนึ่งในการลงโทษที่น่าอับอายและเจ็บปวดที่สุดคือการสวมหมวกเหล็กที่มีแท่งแหลมแทงเข้าไปในปาก แท่งที่ว่าทำให้ผู้ถูกลงทัณฑ์ไม่สามารถพูดจาได้ และหากพยายามส่งเสียง แท่งเหล็กที่ว่าจะทิ่มแทงปากและลิ้นจนทำให้เกิดบาดแผล หญิงผู้โชคร้ายจะถูกบังคับให้เดินไปทั่วเมืองเพื่อเป็นการประจาน การบังคับให้เงียบเป็นการสั่งสอนกลายๆ บอกให้ผู้หญิงรู้จักหน้าที่ของตัวเองที่ต้องเงียบ เชื่อฟัง และทำตามคำสั่งของผู้ชาย 

เก้าอี้จมน้ำ 

ถ้าการลงโทษด้วยการสวมหมวกเหล็กยังไม่มากพอ การลงโทษที่น่าอับอายและอันตรายมากกว่าคือการนำผู้หญิงที่กระทำความผิดไปผูกติดไว้กับเก้าอี้ซึ่งจะถูกจุ่มลงในบ่อน้ำ ลำธาร หรือแม่น้ำจนมิดหัวก่อนถูกยกขึ้นมาและจุ่มซ้ำกลับลงไปเรื่อยๆ การลงโทษแบบนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้หญิงที่ ‘อารมณ์ร้อน’ รู้จักใจเย็นลง

ในความเชื่อของตะวันตก ผู้หญิงมีความเกี่ยวข้องกับธาตุเย็น ในขณะที่ผู้ชายมีความเกี่ยวของกับธาตุร้อน ทารกเกิดมาเป็นเพศหญิงเพราะแม่ไม่ได้ดูแลครรภ์ให้ดีทำให้เด็กอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นและเปียกชื้น ในขณะที่ทารกเพศชายเกิดมาในสภาพสมบูรณ์กว่าเพราะแม่ดูแลครรภ์ให้อบอุ่นและแห้งสบาย ดังนั้นการระบุเพศในยุคกลางถึงเรอเนซองซ์จึงกำหนดให้สีของเพศชายเป็นสีแดงและชมพู แต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้หญิงมักมีสีโทนเย็นอย่างฟ้าและน้ำเงิน ผู้หญิงที่หัวร้อนเกินไปจนกล้าถกเถียง ไม่เชื่อฟังหรือมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นหมายถึงผู้หญิงที่มีความผิดปกติทางอารมณ์และกำลังทำตัวเกินฐานะ ดังนั้นต้องถูกทำให้เย็นลงด้วยการจับแช่น้ำ 

หนังสือพิมพ์ London Evening Post รายงานว่ามีผู้มาชมการลงทัณฑ์ผู้หญิงด้วยวิธีนี้ถึงครั้งละ 2-3 พันคน นั่นคือปี 1745 แน่นอนว่าผู้ชมหลายท่านมองว่าเป็นความบันเทิงและเป็นเรื่องที่รับได้ (เพราะเป็นการช่วยปรับจิตใจผู้หญิงให้กลับมาเป็นปกติ) การถูกจับแช่น้ำอาจกลายเป็นเรื่องทรมานมากหากถูกกระทำในช่วงหน้าหนาว

แม้ว่าการลงโทษด้วยการทำให้อับอายจะถือเป็นเรื่องสามัญทั่วไปที่เกิดขึ้นในทุกวัน แต่การลงโทษเหล่านี้ก็ถูกจำกัดไว้ใช้กับบุคคลธรรมดา ไม่สามารถใช้กับขุนนางมีศักดิ์หรือราชวงศ์ ยกเว้นแต่ว่าสมาชิกชนชั้นสูงจะเต็มใจรับการลงโทษด้วยวิธีแบบนี้ด้วยตัวเอง กษัตริย์อังกฤษเพียงองค์แรกและองค์เดียวที่เต็มใจรับการลงทัณฑ์ให้อับอาย คือพระเจ้าเฮนรีที่ 2 (ครองราชย์ปี 1154-1189) พระองค์เคยแต่งตั้งเพื่อนรักให้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีแต่เกิดเรื่องผิดใจกันในภายหลัง

กล่าวกันว่าอาร์ชบิชอปเคร่งครัดเกินไปจนขัดใจกับกษัตริย์หลายครั้ง วันหนึ่งพระเจ้าเฮนรีตรัสกับกลุ่มทหารโดยไม่ตั้งใจว่า “จะไม่มีใครช่วยกำจัดนักบวชคนนี้ให้พ้นจากสายตาเลยหรือ?” กลายเป็นว่ากลุ่มทหารเข้าใจว่าพระองค์ทรงสั่งให้ไปสังหารท่านอาร์ชบิชอปทิ้งเสีย จึงยกพลบุกเข้าโบสถ์ไปสังหารนักบวชในคืนนั้น ข่าวดังไปทั่วยุโรปว่ากษัตริย์อังกฤษช่างโหดร้ายฆ่าได้กระทั่งพระ พระเจ้าเฮนรีไม่รู้ว่าจะสยบข่าวลือยังไงจึงตั้งใจเดินเข้างานศพของอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีด้วยเท้าเปล่า ทรงขอให้นักบวชทุกรูปฟาดพระองค์ด้วยแส้คนละหนึ่งครั้งเพื่อเป็นการลงโทษ หากมองกันตรงนี้การลงโทษให้อับอายอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาได้เหมือนกัน 

แม้การลงโทษให้อับอายจะลดลงไป หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมความต้องการแรงงานทำให้เกิดการลงโทษแบบใหม่ คือการส่งไปใช้แรงงานหนักตามโรงงานซึ่งเป็นการฝึกอาชีพไปในตัว ปัจจุบันระบบเรือนจำและการลงทัณฑ์ในยุโรปพัฒนาไปถึงขั้นการพยายาม rehabilitate (ฟื้นฟู) และพาคนกลับคืนสู่สังคม ไม่ใช่การลงโทษเพื่อให้อับอายหรือตัดขาดผู้กระทำผิดออกจากสังคม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแนวคิดในการมองผู้กระทำผิดไม่ได้คิดว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนเลวร้ายโดยกำเนิด แต่มองมุมกว้างว่าความผิดต่างๆ อาจเกิดจากระบบสังคมที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบ การพัฒนาระบบการลงโทษเปลี่ยนจากการตีตราขโมยด้วยตัว T (Thief) เป็นการให้คำปรึกษา ช่วยฝึกหาอาชีพ เป็นแนวคิดที่เปลี่ยนจากการลงโทษให้อับอายเป็นการมอบโอกาสที่สองให้ทุกคนสามารถกลับใจและใช้ชีวิตที่สุจริตได้ในสังคม

 

อ้างอิง

londonist.com

londonist.com/2015/12/a-history-of-public-shaming-in-london

www.youtube.com

Highlights

  • 'การทำให้อับอาย' เป็นหนึ่งในวิธีที่ถูกใช้เพื่อควบคุมความประพฤติของคนในสังคม เป็นการลงโทษเพื่อให้ปรากฏร่องรอย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถูกลงทัณฑ์เป็นที่จดจำและไม่ถูกเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
  • ผู้ที่ถูกลงโทษโดยการทำให้อับอาย(Shame Punishments) มักทำผิดในคดีเล็กน้อย ไม่มีโทษคุมขังแต่จะถูกนำไปประจานในที่สาธารณะด้วยวิธีต่างๆ เช่น การลงแส้ การตีตรา ขับไล่ ลงทัณฑ์ด้วยความเงียบ และเก้าอี้จมน้ำ 
  • ปัจจุบันระบบเรือนจำและการลงทัณฑ์ในยุโรปพัฒนาไปเป็นการพยายามrehabilitate (ฟื้นฟู) และพาคนกลับคืนสู่สังคม ไม่ใช่การลงโทษเพื่อให้อับอายหรือตัดขาดผู้กระทำผิดออกจากสังคม
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0