โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ฤทธิ์โควิด สะเทือนธุรกิจ คนว่างงานยาวนานกว่า 3 ปี ทะลุ 10 ล้านราย

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 14 ส.ค. 2563 เวลา 05.00 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 01.00 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

โควิดส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง ตัวเลขคนว่างงานสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการ เพราะต้องเพิ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และแม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของเชื้อโควิด แต่ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ภาวะปกติภายในกลางปี 2565

กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ก่อปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ คาดว่าจำนวนแรงงานที่ตกงานในปี 2563 อาจพุ่งสูงถึง 3-4 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 มีแรงงานตกงานเฉลี่ยปีละ 3 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน ช่วยเหลือผู้ว่างงานกลุ่มต่างๆ เช่น การจัดอบรมเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพอิสระ หรือจัดอบรมเพิ่มความรู้ เพื่อรอกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปลดคนงาน 1-2 ล้านคน เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยคาดหวังทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้ยาแรง ด้วยการใช้งบอย่างน้อย 4-6 แสนล้านบาท พยุงไม่ให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ หรือปลดคนงาน

เช่นเดียวกับ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกมาระบุ ผลกระทบจากโควิด ทำให้หลายภาคส่วนกังวลสถานการณ์ว่างงานในประเทศ โดยเฉพาะการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ในปี 2564 จำนวน 493,875 คน อาจว่างงานแบบถาวร เพราะการจ้างงานในประเทศน้อยลง จนส่งผลให้ตลาดแรงงานไม่พอรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ เพราะนายจ้างมีปริมาณงานลดลง ปิดกิจการ ลดขนาดองค์กร มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจากเต็มเวลา เป็นแบบพาร์ทไทม์ และรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปรับงานอิสระที่สามารถกำหนดเวลาการทำงานได้เป็นบางช่วงเวลา งานพาร์ทไทม์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

จากการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานขององค์กรในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม พบว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 รวมกันอยู่ที่ 303,776 อัตรา ซึ่งมีการเปิดรับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 124,629 อัตรา แต่ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนการจ้างงานลดลง 16.5% เทียบกับเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและกระจายวงกว้างมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนด้านผู้ใช้งาน หางาน สมัครงาน มีการใช้งานมากกว่า 11 ล้านคน เติบโตขึ้น 7.5% มีการสมัครงาน 8,876,727 ครั้ง เติบโตขึ้น 31.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
น.ส.แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า การระบาดของเชื้อโควิด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง มีผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมตลาดแรงงาน และจากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูล เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานและพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 พบว่า
 

5 ประเภทธุรกิจ มีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1. อาหาร-เครื่องดื่ม 58,724 อัตรา แม้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะปรับตัวลดลง (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) แต่ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ประเภทธุรกิจนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานมาเป็นอันดับแรก ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 22.9%

2. บริการ 44,750 อัตรา ความต้องการแรงงานในธุรกิจประเภทนี้ จะเป็นธุรกิจบริการที่นอกเหนือจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจบริการทำความสะอาด ธุรกิจบริการด้านระบบ และธุรกิจบริการฝึกอบรม

3. ก่อสร้าง 41,353 อัตรา SCB EIC ได้ประเมินว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป แต่การก่อสร้างโครงการภาครัฐยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบิน โครงการท่าเรือ โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสภาพัฒน์

4. ยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 39,883 อัตรา ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกให้ชะลอตัวลง และยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) แม้ธุรกิจนี้จะอยู่ในห้าอันดับแรกที่ต้องการแรงงานมากแต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าความต้องการแรงงานลดลงถึง 31.8%

5. ค้าปลีก 37,482 อัตรา ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมมีผลกระทบค่อนข้างมาก ยกเว้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารและของใช้ส่วนตัว ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ยังคงมีความต้องการแรงงาน
 

5 ประเภทธุรกิจ มีความต้องการแรงงานน้อยที่สุด

1. ธุรกิจท่องเที่ยว 1,690 อัตรา การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรงหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ที่มีประกาศใช้มาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งความต้องการแรงงานในธุรกิจนี้ลดลงถึง 65.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)

2. ธุรกิจความบันเทิง 2,075 อัตรา เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ ประกอบกับมาตรการควบคุมโรค โดยห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ โฆษณา

3. ธุรกิจกระดาษ/เครื่องเขียน 2,200 อัตรา ธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อสิ่งพิมพ์มีความต้องการลดลง ส่วนธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แม้มีความต้องการใช้เติบโตขึ้น แต่โดยภาพรวมจะเห็นว่าธุรกิจนี้อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการแรงงานน้อย เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม

4. ธุรกิจโรงแรม/Resort/Spa/สนามกอล์ฟ 2,820 อัตรา จากมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจกลุ่มนี้ ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีการจ้างงานลดมากที่สุด โดยลดลงถึง 75.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

5. ธุรกิจอัญมณี/เครื่องประดับ 3,092 อัตรา การผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับปรับตัวลดลง เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสองธุรกิจที่สภาอุตสาหกรรมประเมินว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก

ส่วน 5 สายงานยอดนิยมที่มีอัตราการแข่งขันสูง พบว่า งานที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด คือ นำเข้า-ส่งออก มีการแข่งขันอยู่ที่ 10.2 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสอง บุคคล/ฝึกอบรม โดยมีการแข่งขันอยู่ที่ 9.9 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสาม เลขานุการ การแข่งขันอยู่ที่ 9.4 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสี่ วิทยาศาสตร์/วิจัย การแข่งขันอยู่ที่ 8.2 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับห้า วิเคราะห์/เศรษฐศาสตร์ การแข่งขันอยู่ที่ 7.2 คน ต่อ 1 อัตรา

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด อันดับหนึ่ง นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง 3,374 อัตรา อันดับสอง นิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี 3,140 อัตรา อันดับสาม นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 2,789 อัตรา อันดับสี่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา 2,339 อัตรา อันดับห้า เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี 2,264 อัตรา
 
นอกจากนี้ องค์กรที่มีอัตราการเปิดรับมากที่สุด อันดับหนึ่ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อันดับสอง บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) อันดับสาม บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด อันดับสี่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และอันดับห้า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
 
สำหรับองค์กรที่มีคนสมัครมากที่สุด อันดับหนึ่ง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อันดับสอง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) อันดับสาม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อันดับสี่ กลุ่มบริษัทเครือเบทาโกร จำกัด อันดับห้า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 
 
สิ่งที่เกิดขึ้นจากผลกระทบโควิด ทำให้นักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ ต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับอนาคต โดยสายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่มากที่สุด อันดับหนึ่ง พนักงานขาย คิดเป็น 23.3% อันดับสอง พนักงานบริการ คิดเป็น 11.8% อันดับสาม พนักงานธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 9.0% อันดับสี่ วิศวกร คิดเป็น 7.2% อันดับห้า ช่างเทคนิค คิดเป็น 7.1%
 
หากแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ช่วง ในช่วงก่อนระบาดหนัก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ (มีนาคม-เมษายน) และ ช่วงคลายล็อกดาวน์ (พฤษภาคม-มิถุนายน) พบว่า ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ มีสายงานเดียวที่เปิดรับคนเพิ่มขึ้น คือ แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข เพิ่มขึ้น 0.5% ส่วนช่วงคลายล็อกดาวน์ มีการเปิดรับฟรีแลนซ์ เพิ่มขึ้น 36.4%

“ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านตลาดแรงงานมีความผันผวนจากการระบาดของเชื้อโควิด องค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ คนทำงานเองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานยุคนี้” น.ส.แสงเดือน กล่าว

สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไปคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อดูสถิติช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พบว่าสายอาชีพที่มีแน้วโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟรีแลนซ์, อาจารย์/ครู, แพทย์/เภสัชกร และสาธารณสุข.

ผู้เขียน : ปูรณิมา

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0