โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ร้านค้าในห้างทยอยปิดตัว เจรจาลดค่าเช่าพื้นที่ต่อลมหายใจ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 10 ส.ค. 2563 เวลา 08.28 น. • เผยแพร่ 08 ส.ค. 2563 เวลา 08.49 น.
ภาพจากเฟซบุ๊กร้าน Vanilla
ภาพจากเฟซบุ๊กร้าน Vanilla

พิษโควิด-19 ทุบร้านค้าสายป่านสั้น “อาหาร-กาแฟ-เบเกอรี่-แฟชั่น” ตัดใจปิดสาขาไม่ทำเงินในห้าง รักษาสภาพคล่อง โอดต้นทุนสูง ยอดขายไม่ดีดกลับ รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ขาดสภาพคล่องหนัก จ่อปิดเพิ่มรอสัญญาหมด สมาคมค้าปลีกไทยพุ่งหาแบงก์ชาติขอซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำต่อลมหายใจ ถกสภาพัฒน์ฟื้น “ช็อปช่วยชาติ” หวังกระตุ้นจับจ่าย-ปลุกเศรษฐกิจ

ขณะนี้แม้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านสินค้าความงาม ร้านเสื้อผ้า ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟ-เบเกอรี่ ฯลฯ จะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่า สถานการณ์โดยรวมจะยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร โดยเฉพาะในแง่ของรายได้ ยอดขายที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม จากการจับจ่ายที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนทั้งค่าเช่าพื้นที่ในห้าง ค่าจ้างพนักงาน ที่เป็นตัวแปรสำคัญยังคงที่

ทยอยปิดสาขา-รักษาสภาพคล่อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ในย่านถนนรัตนาธิเบศร์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา บางแค และปิ่นเกล้า พบว่า มีภาพของร้านค้าที่เปิดให้บริการในศูนย์การค้าจำนวนหนึ่งที่ทยอยปิดร้านไป

โดยร้านค้าที่ปิดส่วนใหญ่ของแต่ละแห่งจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร ร้านจำหน่ายเสื้อแฟชั่น ร้านกาแฟ-เบเกอรี่ ร้านจำหน่ายสินค้าความงาม ร้านจำหน่ายกล้อง-อุปกรณ์กล้อง ฯลฯ โดยจากการสอบถามยังพบว่ามีร้านจำนวนหนึ่งที่ปิดเพราะหมดสัญญา และศูนย์อยู่ระหว่างการหาผู้เช่ารายใหม่เข้ามาแทน นอกจากนี้ ยังมีร้านจำนวนหนึ่งที่ปิดสาขาและยุบไปรวมกับสาขาใกล้เคียงเพื่อลดต้นทุน

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทร้านอาหารรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยปิดสาขาร้านอาหารแบรนด์ในเครือลงจำนวนหนึ่งแล้ว ล่าสุดจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ขณะนี้แม้ว่าร้านอาหารจะกลับมาเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบ และต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย แต่ในแง่ของจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการยังมีไม่มากนัก บริษัทจึงมีแผนจะปิดสาขาในศูนย์การค้าเพิ่ม แต่คงต้องรอให้สาขาดังกล่าวหมดสัญญาการเช่าพื้นที่ก่อน และจากนี้ไปจะไปเน้นการขยายสาขานอกห้างมากขึ้น

“ด้วยข้อจำกัดด้านความปลอดภัย และทำให้จำนวนที่นั่งในร้านหายไป 50-60% บางสาขากำหนดความจุไว้ 20-30 ที่นั่ง ค่าเช่าพื้นที่สูง กำลังซื้อที่ลดลง ลูกค้าน้อยลง ฯลฯ ทำให้บริษัทต้องหันมาเน้นการบริหารการจัดมากขึ้น สาขาไหนไม่ทำกำไร เปิดแล้วขาดทุน ก็ต้องปิด”

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทเจ้าของร้านกาแฟรายหนึ่งกล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้แม้ว่าศูนย์การค้า ร้านค้าต่าง ๆ จะกลับมาเปิดได้แล้ว และจำนวนทราฟฟิกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีความวิตกกังวลเรื่องของโควิด-19 ยังไม่สะดวกใจเต็มร้อยที่จะนั่งดื่ม นั่งกินในร้าน ซึ่งยอมรับว่าตอนนี้ยอดขายของแต่ละสาขายังถือว่ายังมีตัวเลขที่ไม่มากนัก และไม่คุ้มกับต้นทุนที่เปิด ที่ผ่านมาจึงได้มีการเจรจากับเจ้าของพื้นที่เพื่อขอผ่อนปรนเรื่องค่าเช่าสำหรับบางสาขา ขณะเดียวกันก็ได้ตัดสินใจทยอยปิดสาขาลงไป 8-9 สาขา โดยเฉพาะสาขาที่มีต้นทุนสูง และยอดขายไม่มาก

“เป้าหมายคือเพื่อรักษาแคชโฟลว์ และประคับประคองธุรกิจ เพราะหลังจากนี้ไปไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร และนอกจากค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ที่เป็นต้นทุนหลัก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ลดการใช้จ่าย จากกำลังซื้อที่ลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาก คนเดินห้างมีมากขึ้นจริง แต่ส่วนใหญ่เดินดู ไม่ซื้อ ไม่จับจ่าย”

สายป่านไม่ยาวอาการหนัก

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์ และซิซซ์เล่อร์ ฯลฯ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็ก-รายกลางที่ไม่มีสายป่านยาว และไม่มีแพลตฟอร์มช่องทางขายเป็นของตัวเองค่อนข้างลำบาก มีหลายรายที่ต้องปิดตัวไปเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว สำหรับกลุ่มไมเนอร์ฟู้ดเอง ซึ่งป็นเชนร้านอาหารรายใหญ่และมีหลายแบรนด์ ที่ผ่านมาก็ได้มีการเจรจากับศูนย์การค้าเพื่อขอลดหรือผ่อนปรนเรื่องค่าเช่า และทำให้บริษัทรักษาสภาพคล่องได้

ขณะที่ นายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านเอ็มเคสุกี้, ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ, ร้านมิยาซากิ, แหลมเจริญซีฟู้ด ฯลฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์และผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น นอกจากบริษัทจะมีการปรับตัว โดยมีนโยบายจะชะลอการขยายสาขาของร้านอาหารเอ็มเคสุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ที่เป็นแบรนด์หลักแล้ว อีกด้านหนึ่งบริษัทก็จะทบทวนการปิดสาขาที่มีกำไรน้อย และมีค่าเช่าพื้นที่ที่สูงด้วย

ดัน “ช็อปช่วยชาติ” ฟื้น ศก.

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพการปิดร้านหรือสาขาของผู้ประกอบการดังกล่าว ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ทางการต้องประกาศล็อกดาวน์ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ฯลฯ และส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ซึ่งปกติร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายกลางรายย่อย หรือเอสเอ็มอี เหล่านี้จะมีสภาพคล่องโดยเฉลี่ย 4-6 เดือน ตอนนี้แม้ว่าศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร จะกลับเปิดให้บริการได้ แต่ในแง่ของรายได้ที่กลับเข้ามายังถือว่าน้อยมาก โดยเฉลี่ยแล้วยังไม่ถึง 50% แต่ร้านต่าง ๆ ยังมีต้นทุนที่เป็นฟิกซ์คอสต์ หลัก ๆ คือเรื่องของค่าเช่าพื้นที่ และค่าพนักงาน หลาย ๆ รายต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อรักษาสภาพคล่องเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาคมพยายามจะหาแนวทางเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นซัพพลายเชนของค้าปลีกที่มีอยู่ประมาณ 2-4 แสนราย โดยได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจะนำซอฟต์โลนที่มีวงเงินอยู่ 5 แสนล้านบาท มาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ยังได้หารือกับ ธปท. สภาพัฒน์ ถึงแนวทางการกระตุ้นการจับจ่าย ด้วยการนำมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” กลับมาใช้ และคิดว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น หรือช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงจะต้องรอฟังนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง

ห้างผ่อนปรนค่าเช่าช่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ทางการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ และปิดศูนย์การค้า ร้านค้า ภายในศูนย์ชั่วคราว ผู้ให้เช่าพื้นที่รายใหญ่หลายรายได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบและเยียวยาให้กับร้านค้าภายในศูนย์ในหลายรูปแบบ อาทิ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น เจ้าของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ได้ยกเว้นค่าเช่าให้ร้านค้าที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้จากการปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราว และ
ได้ให้ส่วนลดค่าเช่า 10-50% ให้ร้านค้าภายในศูนย์การค้าที่ยังเปิดให้บริการตามปกติ แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับ บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของศูนย์การค้าแพลทินัม ที่ยกเว้นค่าเช่า ค่าบริการ และค่าส่วนกลางรายเดือน 100% ให้กับร้านค้ารายย่อย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึง 17 พฤษภาคม ที่รัฐบาลอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง รวมทั้งได้มีมาตรการบรรเทาภาระ ด้วยการยกเว้นค่าเช่ารายเดือนให้อีก 2 เดือน รวมถึงบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เจ้าของศูนย์การค้าเอ็ม บี เค, เดอะ ไนน์ พระราม 9 ที่มีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่า ด้วยการให้ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่ 10-20% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0