โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รวมแอพฯ ‘แพทย์ทางไกล’ ในไทย เพิ่มทางเลือก รับบริการการแพทย์

The MATTER

อัพเดต 06 ส.ค. 2563 เวลา 12.24 น. • เผยแพร่ 05 ส.ค. 2563 เวลา 10.58 น. • Health

แม้ 'การแพทย์ทางไกล' (telemedicine) จะยังไม่อาจมาแทนที่สถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ได้ก็ตาม

แต่ก็ถือเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้คนได้ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยและดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้คนเข้าถึงบริการการแพทย์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ไปในเวลาเดียวกัน

The MATTER ขอถือโอกาสนี้ แนะนำแอพพลิเคชั่นเพื่อให้บริการการแพทย์ทางไกลที่มีให้บริการแล้วในเมืองไทย (บางส่วน) นี่คือตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมของการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น

ChiiWii

- เปิดให้บริการปี 2560

- บริการ: ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ (เน้นสุขภาพผู้หญิง แม่และเด็ก สุขภาพจิต และการดูแลสุขภาพกายของคนในครอบครัว)

- อัตราค่าบริการ: มีหลายแพ็คเกจ

- ขั้นตอนการให้บริการ: ค้นหาหมอ ทำนัดหมาย แล้วเลือกรับบริการผ่านแชท โทรศัพท์ หรือ vdo call

- ที่มา: เว็บไซต์ทางการระบุว่า เห็นข้อมูลการแพทย์ที่ท่วมออนไลน์แล้วไม่แน่ใจว่าอันไหนจริง-เท็จ ความเชื่อ หรือโฆษณา จึงทำเว็บบอร์ดขึ้นมาถามตอบปัญหาสุขภาพ ก่อนจะพัฒนาเป็นแอพฯ

See Doctor Now

- เปิดให้บริการปี 2560

- บริการ: ปรึกษาแพทย์

- อัตราค่าบริการ: รายปี 2,990 ปี ไม่จำกัดครั้ง รายครั้ง 490 บาท/10 บาท

- ขั้นตอนใช้บริการ: พิมพ์บอกอาการเบื้องต้น คุยกับพยาบาลวิชาชีพที่จะเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญให้ผ่าน vdo call หลังจากนั้นจะมีการสรุปข้อมูลอาการเจ็บป่วยพร้อมคำแนะนำ

- ที่มา: เว็บไซต์ทางการให้ข้อมูลว่า จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์แผนกฉุกเฉินราว 70% ไปโดยไม่จำเป็น / ให้การปรึกษาแพทย์ทำได้ง่ายขึ้น ทุกที่ทุกเวลา / วางตัวเองเป็น ‘ผู้ช่วยเพิ่มเวลา’ ให้กับแพทย์’ ทำงานได้จากบ้านไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง

Ooca

- เปิดให้บริการปี 2560

- บริการ: ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา

- อัตราค่าบริการ: เริ่มต้น 1,000 บาท/30 นาที

- ขั้นตอนการให้บริการ: นัดวันเวลาที่สะดวก ผู้ให้บริการจะติดต่อไปผ่าน vdo call

- ที่มา: ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้งบอกว่า Ooca เกิดขึ้นมาได้ เพราะมีกำแพงใหญ่กั้นระหว่างประชาชนกับจิตแพทย์ เลยอยากทำช่องทางให้การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตง่ายขึ้น

Raksa

- เปิดให้บริการปี 2561

- บริการ: ปรึกษาแพทย์

- อัตราค่าบริการ: ตามระยะเวลาที่ขอปรึกษาแพทย์ 15 นาที 30 นาที 45 นาที 60 นาที

- ขั้นตอนการให้บริการ: ดูว่าหมอคนไหนออนไลน์ทักเข้าไปขอคำปรึกษาได้ทันที (แยกความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น สูตินารีแพทย์ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์) หรือถ้าหมอที่อยากพบออฟไลน์อยู่ก็นัดหมายเวลาได้ / รูปแบบการขอคำปรึกษามีทั้งแชท โทรคุย vdo call / มีบทความเกี่ยวกับสุขภาพ และให้บริการซื้อยาส่งถึงบ้านภายใน 2 ชั่วโมง

- ที่มา: กวิน อัศวานันท์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตามสถิติผู้ป่วย 40% ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลด้วยซ้ำ หมอจำนวน 3 หมื่นคนมีเวลาไม่พอจะตรวจคนไข้ทั้งหมด คนไทยบางส่วนชอบใช้วิธีค้นหาชื่อโรคจากอินเทอร์เน็ตซึ่งอาจผิดพลาด จึงใช้เทคโนโลยีมาช่วย

Doctor A to Z

- เปิดให้บริการปี 2562

- บริการ: ปรึกษาแพทย์ นัดหมายโรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์อื่นๆ

- อัตราค่าบริการ: เฉพาะปรึกษาแพทย์มีแพ็คเกจ 3 ครั้ง/750 บาท 7 ครั้ง/1,500 บาท 12 ครั้ง/2,500 บาท

- ขั้นตอนการให้บริการ: นัดหมายรับบริการที่โรงพยาบาล หรือนัดหมายหมอเพื่อ vdo call ปรึกษาอาการเจ็บป่วย โดยจะต้องกรอกอาการป่วยแล้วรอหมอติดต่อกลับ

- ที่มา: นพ.อนุชา พาน้อย ผู้ก่อตั้ง มีความตั้งใจ อยากให้ทุกคนมี ‘โอกาส’ เข้าถึงแพทย์ได้ดีที่สุด ง่ายที่สุด รวดเร็วที่สุด และไม่มีค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปโดยใช้เทคโนโลยี

Samitivej Virtual Hospital

- เปิดให้บริการปี 2562

- บริการ: ให้คำแนะนำและบริการทางการแพทย์ (ไม่ถือเป็นการรักษา)

- อัตราค่าบริการ: 500 บาท/15 นาที

- ขั้นตอนใช้บริการ: ไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า พบพยาบาลประเมินอาการ แล้วค่อยพบแพทย์เฉพาะทางผ่านทาง vdo call ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไข้ของ รพ.สมิติเวชมาก่อน / มีบริการจัดส่งยาผ่าน LINE MAN ถึงบ้าน และบริการเจาะเลือดนอกสถานที่

- ที่มา: นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ real-time มุ่งให้เกิดความสะดวกสบายสำหรับผู้รับบริการเป็นสำคัญ

Doctor Anywhere Thailand

- เปิดให้บริการปี 2563

- บริการ: ปรึกษาแพทย์

- ขั้นตอนใช้บริการ: วางตัวเองเป็น ‘คลินิกออนไลน์’ ปรึกษาแพทย์ที่ออนไลน์อยู่ตอนนั้น หรือนัดหมายแพทย์ที่ออฟไลน์ภายหลัง ผ่านทาง vdo call และรับยาภายใน 3 ชั่วโมง (สำหรับผู้ป่วยในเขต กทม.) ถ้าอาการหนักแพทย์จะแนะนำไปให้โรงพยาบาล

- ที่มา: สตาร์ตอัพสิงคโปร์มาลงทุนในไทย

Siriraj Connect

- เปิดให้บริการปี 2563

- บริการ: พบแพทย์ออนไลน์ (ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่นัดติดตามอาการต่อเนื่องเท่านั้น)

- อัตราค่าบริการ: เช่นเดียวกับการมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ยกเว้นถ้ามีจัดส่งยาทางไปรษณีย์เสียเงินเพิ่ม 150 บาท

- ขั้นตอนใช้บริการ: แอดไลน์โรงพยาบาลศิริราช แล้วรอแพทย์ติดต่อด้วย vdo call หาผ่านไลน์ จะได้คุยกับแพทย์ที่ห้องตรวจ 1 ครั้ง กรณีมีการจ่ายเงินจะได้คุยกับเภสัชกรอีก 1 ครั้ง

- ที่มา: เริ่มทดลองใช้ในช่วง COVID-19 เพราะการเดินทางมาโรงพยาบาลอาจมีความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อ

ทั้งนี้ ในปี 2563 แพทยสภาได้ออกประกาศมากำหนดเกณฑ์การให้บริการการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (telemedicine) และคลินิกออนไลน์ ขณะที่คณะอนุกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งเชิญผู้เกี่ยวข้องไปหารือถึงอนาคตของ telemedicine ในไทย

โดยว่ากันว่า ในอนาคตอาจจะมีการออกกฎหมายว่าด้วย 'การแพทย์ทางไกล' หรือ telemedicine โดยเฉพาะ

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0