โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนรีโนเวทบ้านชั้นเดียว

DDproperty

เผยแพร่ 04 ส.ค. 2563 เวลา 13.50 น.
รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนรีโนเวทบ้านชั้นเดียว
รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนรีโนเวทบ้านชั้นเดียว

ปัจจุบันการรีโนเวทบ้านเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ต่างอะไรกับการเปลี่ยนจากของเก่า ให้กลายเป็นของใหม่ที่ดีและใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิม แต่ก็ใช่ว่าบ้านทุกหลังจะเหมาะกับการรีโนเวท ดังนั้นบทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจในทุกประเด็นของการรีโนเวทบ้าน โดยเฉพาะการรีโนเวทบ้านชั้นเดียว เพื่อเตรียมตัวก่อนการรีโนเวทบ้าน

 

การรีโนเวทบ้าน (Renovate) คืออะไร

ความหมายตรงตัวของคำว่ารีโนเวท (Renovate) หมายความว่า ‘บูรณะ’ เป็นการซ่อมแซม ทำใหม่ ปรับปรุงใหม่แบบยกเครื่อง หรือทำให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งมักจะมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หรือมีกลิ่นอายของแบบเดิมอยู่บ้าง โดยอาศัยการปรับปรุงซ่อมแซมจากโครงสร้างเดิมของบ้านที่มีอยู่ เพื่อให้บ้านที่หมดสภาพและขาดกการดูแลมาเป็นระยะเวลานาน เปลี่ยนโฉมใหม่ให้สวยงามน่าอยู่ และสามารถอยู่อาศัยได้อีกนาน

 

ทำไมถึงควรรีโนเวทบ้านชั้นเดียว

บ้านชั้นเดียวเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่มักเห็นได้ทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมักนิยมมากในต่างจังหวัด ซึ่งเหตุผลหลักที่ต้องรีโนเวทบ้านชั้นเดียวนั้นมีดังนี้

1. ยืดอายุของบ้านให้นานขึ้น

บ้านทุกหลังล้วนประกอบไปด้วยโครงสร้างที่มีอายุการใช้งาน สำหรับบ้านที่มีอายุเก่าและขาดการซ่อมแซมดูแลอย่างสม่ำเสมอ โครงสร้างภายในบ้านบางส่วนจะมีความทรุดโทรม ซึ่งหมายถึงความไม่ปลอดภัยและความไม่สวยงามในการอยู่อาศัย การรีโนทเวทบ้านชั้นเดียวจึงเป็นการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ เพื่อยืดอายุบ้านให้นานขึ้น

 

2. ความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เปลี่ยนไป

สำหรับบ้านชั้นเดียวที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน ดังนั้นเมื่อฟังก์ชันและพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานในปัจจุบัน หลายคนเลือกวิธีรีโนเวทบ้านชั้นเดียวใหม่ เพื่อจัดแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านใหม่ให้เหมาะกับการอยู่อาศัยมากขึ้น

 

3. เพื่อสุขอนามัยในการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น

บริเวณมุมอับของบ้าน มักแฝงไปด้วยสิ่งสกปรกที่หลุดรอดสายตา ไม่ว่าจะเป็น ภายในห้องน้ำ บริเวณบนฝ้าเพดาน บริเวณงานระบบในครัว ปล่องท่อ หรือตามพื้นที่อับชื้นต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยได้รับการทำความสะอาด ทำให้เชื้อโรคสะสมและทำความสะอาดได้ยาก การรีโนเวทบ้านชั้นเดียวจึงช่วยให้มุมอับต่าง ๆ เหล่านี้หายไป

 

4. เพื่อเพิ่มความปลอดภัยภายในตัวบ้าน

การรีโนเวทบ้าน ก็เป็นเหมือนการเพิ่มยาบำรุงสมรรถนะ ทำให้บ้านมีกำลังที่แข็งแรงมากขึ้น ดังนั้นการรีโนเวทบ้านจึงเป็นยาชั้นดี ที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอใหม่ เพื่อให้พร้อมสำหรับการอยู่อาศัยและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน

 

ก่อนลงมือรีโนเวทบ้านชั้นเดียวต้องเตรียมตัวให้พร้อม
ก่อนลงมือรีโนเวทบ้านชั้นเดียวต้องเตรียมตัวให้พร้อม

 

เตรียมตัวก่อนรีโนเวทบ้านชั้นเดียว ต้องทำอะไรบ้าง

สำหรับการรีโนเวทบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการรีโนเวทบ้านชั้นเดียวหรือกี่ชั้นก็ตาม ก็มีสิ่งที่ต้องเตรียมตัวคล้าย ๆ กัน และถ้าหากคุณอยากจะรีโนเวทบ้านให้ได้บ้านใหม่ที่มั่นคงแข็งแรง งบประมาณไม่บานปลาย ควรตรวจสอบทุกสิ่งเหล่านี้ให้ดี

 

1. ตรวจสอบกฎหมายให้ถี่ถ้วนก่อน

ข้อสำคัญที่หลายคนที่จะคิดจะรีโนเวทบ้านมักมองข้ามไป คือการกลับมาทบทวนกฎหมายให้ดีก่อน เนื่องจากการต่อเติมหรือรีโนเวทก็นับเป็นการดัดแปลงอาคาร ดังนั้นควรตรวจสอบก่อนว่าบ้านของเราเข้าเงื่อนไขของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อะไรที่ห้ามทำเด็ดขาด โดยหากพิจารณาถึงเงื่อนไขแล้วพบว่า แผนการรีโนเวทของเราเข้าข่ายข้อห้าม ควรปรึกษากับเจ้าหน้าที่โยธาจังหวัดหรือเทศบาลที่สังกัดอยู่ก่อนทำการรีโนเวทบ้าน

5 กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาต ถ้าคิดจะต่อเติมบ้าน

 

2. ถามตัวเองให้ชัดว่าต้องการรีโนเวทเพื่ออะไร

หลายคนมักมีความเข้าใจผิดว่า การรีโนเวทบ้านชั้นเดียวนั้น ใช้งบประมาณน้อยกว่าการซื้อบ้านใหม่ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากการรีโนเวทที่ไม่มีการวางแผนและตั้งโจทย์ให้ชัด มักตามมาด้วยปัญหางบประมาณบานปลาย

ดังนั้นก่อนเริ่มวางแผนการรีโนเวท ควรทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า เราต้องการรีโนเวทเพื่ออะไร? เพื่อปรับปรุงโครงสร้างบ้าน เพื่อปรับพื้นที่ใช้สอยใหม่ หรือเพื่อบ้านใหม่ในฝัน ซึ่งการตั้งโจทย์ให้ชัด จะทำให้เราสามารถคาดการณ์งบประมาณของการรีโนเวทเบื้องต้นได้

 

3. ตรวจสอบสภาพบ้านและโครงสร้างปัจจุบัน

หลังจากตอบโจทย์ตัวเองจนแน่ชัดแล้ว ก็มาเริ่มเดินสำรวจสภาพบ้านของเราในปัจจุบันกันก่อน ว่ามีสภาพชำรุดตรงส่วนไหน โครงสร้างหลักของบ้านมีสภาพเป็นอย่างไร และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากอาคารเก่ามักจะมีปัญหาของระบบโครงสร้างที่ซ่อนไว้ ไม่ว่าจะเป็น เหล็กเส้นในเกิดสนิม เสาคานปริแตก หรือ ผนังรับน้ำหนักร้าว เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ควรได้รับการปรับปรุงให้แข็งแรงเป็นอันดับแรก

 

4. ตรวจสอบงานระบบ

หากร่างกายมีเส้นเลือดไว้คอยสูบฉีด บ้านก็มีงานระบบไว้คอยหล่อเลี้ยงเช่นกัน โดยงานระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และระบบอื่น ๆ คือสิ่งสำคัญที่ห้ามละเลยในการตรวจสอบอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอาคารเก่าที่มีอายุมากกว่า 10 ปี มักจะมาพร้อมกับระบบที่มีความทรุดโทรม

ดังนั้นจึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์สายไฟและท่อน้ำว่าสภาพเป็นอย่างไร และหากอาคารมีอายุเก่าเกินกว่า 15 ปี การเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมด อาจจะคุ้มค่ากว่าการต้องทุบเพื่อซ่อมแซมทีละจุด

วิธีเช็กน้ำรั่วซึมจากท่อประปาด้วยตนเอง

 

5. สรุปสิ่งที่ต้องปรับปรุงและวางแผนการรีโนเวท

เมื่อตรวจสอบวัสดุ โครงสร้าง และอุปกรณ์ทุกอย่างภายในบ้านเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็เริ่มเข้าโหมดการเดินทางสู่บ้านในฝันได้ โดยควรสรุปสิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุง สิ่งที่ต้องทำเพิ่ม และสิ่งที่ต้องรื้อถอน ให้ชัดเจน เช่น หากอยากจะทุบผนังเพื่อปรับพื้นที่ใช้สอย ก็ควรเช็กดูให้ดีว่าต้องปรับปรุงซ่อมแซมอะไรบ้าง ซึ่งสำหรับงานรื้อและปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

 

6. ควรเตรียมงบประมาณเผื่อไว้ 10-30%

การรีโนเวทนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่มีคาดคิดมากมาย แม้จะมั่นใจว่าเราได้ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก็ตาม แต่ก็มักจะเจอปัญหาที่ถูกซ่อนเร้นไว้ ซึ่งลามมาถึงงบประมาณที่กำหนด เพราะฉะนั้นควรเผื่องบประมาณสำหรับปัญหาที่ยังไม่พบประมาณ 10-30% เพื่อป้องกันความล่าช้า ซึ่งจะทำให้งบประมาณบานปลายกว่าเดิม

รีโนเวทบ้านอย่างไรให้ประหยัดงบประมาณมากที่สุด

 

รีโนเวทบ้านชั้นเดียวด้วยตัวเองก็ทำได้
รีโนเวทบ้านชั้นเดียวด้วยตัวเองก็ทำได้

 

อยากรีโนเวทบ้านชั้นเดียวด้วยตัวเอง ต้องทำอย่างไร

หลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่า ถ้าอยากรีโนเวทบ้านด้วยตัวเองล่ะ จะทำได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้แน่นอน ถ้าหากรายละเอียดของการรีโนเวทบ้านของคุณนั้น เป็นแค่การทาสีผนังใหม่ ปูพื้นไวนิลหรือลามิเนต เปลี่ยนบานประตู-หน้าต่าง ที่ไม่ไปยุ่งกับตัวโครงสร้างและงานระบบ ซึ่งหมายถึง บ้านของคุณจะต้องมีสภาพดีพอสมควร แต่ถ้าหากว่าบ้านของคุณมีสภาพที่ชวนให้ท้อใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือว่าจ้างผู้รับเหมา เพื่อความปลอดภัยในโครงสร้าง และความอุ่นใจที่จะอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ไปอีกนาน

 

เรื่องที่ต้องรู้สำหรับการว่าจ้างผู้รับเหมา

- เช็กประวัติและผลงาน ผู้รับเหมาควรมีผลงานที่น่าเชื่อถือ มีทีมงานพร้อม ไม่มีประวัติเสียหาย มีผลงานปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน

- ความพร้อมในการรับงาน ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้รับเหมาที่มีประวัติที่ดี แต่หากมีงานล้นมือ ก็มีความเสี่ยงที่จะให้ความใส่ใจงานน้อยลง รวมไปถึงโอกาสของความไม่พร้อมของทีมงาน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า งบประมาณบานปลาย

- ราคาสมเหตุสมผล แพงไปใช่ว่า ถูกกว่าก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นควรพิจารณาผู้รับเหมาที่เสนอราคากลาง ๆ สมเหตุสมผลตามขอบเขตงานและวัสดุที่ต้องใช้

- สัญญาสำคัญ ห้ามละเลยเด็ดขาด การทำสัญญาว่าจ้างคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นสิ่งผูกพันธ์ทางกฎหมายระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง โดยรายละเอียดของสัญญา ควรมีข้อมูลสถานที่และรูปแบบอาคารก่อสร้าง วันเดือนปีที่ทำสัญญา ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน รายการวัสดุ รายละเอียดราคาที่เบิกจ่ายในแต่ละงวด เงื่อนไขการเบิกจ่ายและส่งมอบงาน พร้อมทั้งกำหนดค่าปรับหากทำงานล่าช้า เป็นต้น

ตัวอย่างสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างดาวน์โหลดได้ที่นี่

ตัวอย่างหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง
ตัวอย่างหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง

 

การรีโนเวทบ้าน เป็นเหมือนบันไดอีกขึ้นที่ช่วยให้เราได้ปีนเข้าใกล้บ้านในฝันได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการรักษาสภาพบ้านหลังเดิมไว้ หรือชอบในทำเลของบ้าน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะมีรายละเอียด และขั้นตอนแตกต่างจากการซื้อบ้านพร้อมอยู่ ดังนั้นคนที่รักในการรีโนเวทบ้าน จึงควรต้องศึกษาและเตรียมตัวอย่างรอบคอบที่สุด

 

สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0