โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รถไฟฟ้าสีแดงบางซื่อ-รังสิตวุ่นไม่เลิก'ศักดิ์สยาม'มึนเอกชนขอเคลมค่างาน 10,345 ล้านบาท

ไทยโพสต์

อัพเดต 03 ส.ค. 2563 เวลา 03.27 น. • เผยแพร่ 03 ส.ค. 2563 เวลา 03.27 น. • ไทยโพสต์

3 ส.ค. 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ว่าจากปัญหาที่มีในขณะนี้นอกจากกำหนดการเปิดให้บริการซึ่งตามแผนเดิม การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)วางกำหนดการที่โครงการจะเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการในเดือนมีนาคมปี 2564 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปลายปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตามขณะนี้โครงการประสบปัญหาความล่าช้าในส่วนของการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเอกชนผู้รับเหมางาน ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างมากกว่า 500 วัน แต่คณะกรรมการบอร์ด รฟท.อนุมัติขยายระยะเวลาเพียง 87 วันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารการเดินรถซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณ ควรใช้วิธีร่วมทุนแบบให้เอกชนมาร่วมทุน PPPบริหารการเดินรถ โดยแนวทางดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่านอกจากนี้ยังพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงานส่วน Variation Order (VO) วงเงิน 10,345 ล้านบาท ซึ่งถูกระบุเป็นค่างานระบบอาณัติสัญญาณ,ภาษี,และค่าจ้างที่ปรึกษา ที่ดำเนินไปแล้ว ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้จาก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) รวมทั้งโครงการที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีการขยายกรอบวงเงิน 2 ครั้ง จนล่าสุดมีวงเงินก่อสร้างรวม 93,950 ล้านบาท และคงจะไม่สามารถใช้เงินกู้จากไจก้าในส่วนของงาน VO ได้อีก

"ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการนี้ในช่วงที่ผ่านมา ไปหาข้อมูลและทำให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทนี้ ไม่ใช่เงินจำนวนน้อย สามารถทำโครงการอื่นได้มากมาย และขณะนี้จะต้องศึกษาดูความเป็นไปได้ว่า จะไปหาวงเงินก้อนนี้จากไหน เพราะหากจะขอจัดสรรจากงบประมาณ การดำเนินการต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานทำข้อมูลให้ชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ หรือวันที่ 17 ส.ค.นี้ " นายศักดิ์สยามกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับปัญหางานส่วนที่เพิ่ม Variation Order (VO) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้เป็นงานที่เอกชนได้ดำเนินการไปแล้ว ได้และแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐทราบเพื่อขอเคลมค่างาน ซึ่งประเด็นนี้วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากภาครัฐปฏิเสธการชำระ ยังไม่เกิดความชัดเจนว่าเอกชนจะยอมแบกรับเงินลงทุนดังกล่าวหรือไม่ เพราะหากเอกชนไม่ยอมรับภาระ ยืนยันให้ภาครัฐจัดหาเงินค่างานมาชำระ ก็จะกลายเป็นข้อพิพาท ระหว่างภาครัฐกับเอกชนผู้รับงาน อาจกลายเป็นค่าโง่ และไม่ทราบว่าจะกระทบต่อกำหนดการการเปิดให้บริการหรือไม่ ในขณะที่ข้อมูลเชิงลึกระบุว่า คนเซ็นอนุมัติให้มีการก่อสร้างงานส่วนเพิ่ม เป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการระดับเล็กมาก และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนประเด็นดังกล่าวขึ้น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) ครม.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมขณะนั้น เสนอปรับกรอบวงเงินลงทุนรวมของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีกรอบวงเงินโครงการรวม 93,950 ล้านบาท จากเดิม 75,548 ล้านบาท ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เสนอ โดยเป็นกรอบวงเงินที่ครอบคลุมงานปรับแบบรายละเอียดตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ไว้แล้ว และมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมการปรับกรอบวงเงิน

อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกันมีข้อมูลระบุว่า การต้องขยายกรอบวงเงิน อีก 10,345 ล้านบาทนี้ เป็นค่างานส่วนเพิ่มที่ครอบคลุมทั้งในสัญญาที่ 1 คืองานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและปรับเขตทางรถไฟ เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนรางหรือ Track ที่มีในโครงการ รวมถึงงานส่วนเพิ่มในสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ที่เป็นระบบอาณัติสัญญาณด้วย ขณะที่มีรายงานข่าวจากผู้บริหารการรถไฟระบุว่า วงเงินส่วนเพิ่มนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)กระทรวงการคลัง เคยรับทราบกรอบวงเงินแล้ว หลังจากที่ไม่สามารถกู้เงินไจก้าได้ โดย สบน.ระบุว่าจะมีการจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศหรือต่างประเทศ เข้ามารองรับวงเงินดังกล่าว แต่ก็ต้องมีการรายงานที่มาของแหล่งเงินกู้ใหม่ ให้ไจก้าทราบด้วย.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0