โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

มีอะไรใน 'ปัตตานี' ส่อง 5 เสน่ห์น่าเที่ยวหลังกำแพงพื้นที่สีแดง

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 14 ส.ค. 2563 เวลา 15.40 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 23.30 น.

‘ขณะนี้มีรายงานพบการระเบิดเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ บริเวณทางหลวงหมายเลข 32 จังหวัดปัตตานี มีผู้บาดเจ็บจำนวน…’

คนไทยคงคุ้นชินกับการรายงานข่าว   เหตุการณ์ความไม่สงบ  บริเวณพื้นที่ปลายด้ามขวาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งแต่ปี 2547 นอกจากเสียงร่ำไห้ ระเบิด และความสูญเสีย เสียงอื่นๆ ล้วนถูกกลืนหายไปในกำแพงที่ชื่อว่า พื้นที่สีแดง   หนึ่งในจังหวัดที่มักมีข่าวทำนองนี้  (แบบไม่ตั้งใจ) เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งคงหนีไม่พ้น "ปัตตานี"  ทำให้ในสายตาคนส่วนใหญ่เกิดภาพจำว่า "ปัตตานี"  น่ากลัว และไม่กล้าเดินทางไปเยือนพื้นที่ดังกล่าว 

ขอย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของสถานการณ์"ไฟใต้"  สักหน่อย ว่ากันว่าเหตุการณ์ความไม่สงบถูกจุดขึ้นผ่านการ ‘ปล้นปืน’ ที่จังหวัดนราธิวาส ในเดือนมกราคม ปี 2547 จากนั้นก็ลุกลามสู่จังหวัดยะลาและปัตตานี 3 จังหวัดปลายด้ามขวานไทยจึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง รวมถึงถูกประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก, พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) และ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ รายงานสถิติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ถึง 31 ธันวาคม 2562 มีเหตุความรุนแรง 20,512 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,085 คน บาดเจ็บ 13,233 คน รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 20,318 คน

ผ่านมาแล้ว 16 ปี ปัจจุบันกฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน ยังคงถูกประกาศใช้ในพื้นที่ทั้ง 3 อย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้นในระยะ 2 ปีตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2562 นี้ ความไม่สงบเริ่มกลับมา ‘สงบ ไร้เหตุการณ์รุนแรง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมองปัตตานีในภาพจำแบบใหม่?

159741275444
159741275444

เส้นทางสู่ความสงบแห่งดินแดน "ปัตตานี" -

“2 ปีมานี้มันไม่มีความรุนแรงแล้ว ทหารก็ยังถอนป้อม ถอนกำลังในบางที่ไปบ้างแล้ว แต่ภาวะฉุกเฉินยังอยู่นะ ฮาฮาฮ่า” บังคนขับรถเล่าพร้อมหัวเราะ ขณะพาคณะนักข่าวเดินทางจากสนามบินหาดใหญ่ มุ่งหน้าสู่จังหวัดปัตตานี

“ก่อนหน้านี้ยังคิดว่าค้างที่ปัตตานีไม่ได้อยู่เลย เพราะประมาณ 3 ปีก่อนถ้าใครจะไปปัตตานี ห้ามค้างคืนนะ ต้องตีรถกลับมาค้างที่หาดใหญ่” ผู้ร่วมทริปตอบกลับบังคนขับรถ

การเดินทางสู่ปัตตานี ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่ทางใต้ จะใช้วิธีการนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินหาดใหญ่แล้วนั่งรถต่อมายังตัวเมืองปัตตานี ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที หรือหากใครสะดวกลงที่สนามบินนราธิวาสก็ทำได้เช่นกัน โดยสามารถนั่งรถจากนราธิวาสมาถึงปัตตานีใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 17 นาที หรือถ้าใครอยากขับรถมาเอง ก็ใช้เวลาจากกรุงเทพประมาณ 14 ชั่วโมง 30 นาที

ขณะเดินทางด้วยรถตู้ วิวสองข้างทางเป็นสวนยางเสียส่วนใหญ่ แต่เมื่อใกล้เข้าเขตปัตตานีจะเริ่มมีวิวทะเลไกลลิบๆ ให้ได้ชมตลอดทาง  ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลดังกล่าว  คิดเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดในปัตตานีเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีหาดทรายยาวประมาณ 10-30 กิโลเมตร และมีแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำยะหริ่ง และแม่น้ำหนองจิก  เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเมืองนี้

159741293960
159741293960

ตลอดระยะทางก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองปัตตานี คนขับรถตู้ต้องเปิดกระจกรถให้ทหารประจำด่านเข้าสอบถามอยู่เนืองๆ แต่ไม่มีเรื่องอะไรให้ต้องกังวลใจ ไม่ต้องไปคิดเลยเถิดว่าต้องมีการค้นตัว หรือจะต้องเตรียมตัวหลบกระสุนแต่อย่างใด แค่เตรียมพร้อมสายตาและขาไว้ให้ดี เพราะเมื่อไปถึงเมื่อไหร่ เสน่ห์ของปัตตานีจะกระแทกตาและทำให้ก้าวขาไปชมเมืองแบบไม่หยุดแน่นอน

159741263020
159741263020

มัสยิดศาลเจ้าและตึกสวยๆ สไตล์ชิโนโปรตุกีส -

คนปัตตานีส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมากถึง 86% นับถือศาสนาพุทธเพียง 13% และยังมีย่านชุมชนคนจีนอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน

เมื่อถึงตัวเมืองปัตตานี สถานที่แรกที่ควรไปและถูกแนะนำในโลกออนไลน์มากที่สุดคือ ย่านเมืองเก่าปัตตานีที่ล้อมรอบด้วยถนนอาเนาะรูปัตตานีภิรมย์และฤาดีทั้ง 3 สาย ซึ่งเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมมุสลิม พุทธ และคนจีนเข้าด้วยกัน

“เมืองเก่าแก่แห่งนี้ผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ตั้งแต่ทหารญี่ปุ่นยกพลเข้าปัตตานีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านยุคเศรษฐกิจอู้ฟู่เพราะธุรกิจเหมืองแร่ภาคใต้ ไปจนถึงวันซบเซาเหมือนเมืองร้างเมื่อคนย้ายออก มาถึงวันนี้ ชาวปัตตานีกลับมาฟื้นฟูมรดกของเมืองอีกครั้ง เพราะรากชีวิตของปัตตานีก็มาจากย่านเก่าเหล่านี้นี่แหละ” ดร.นภดล ทิพยรัตน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าว

159741289777
159741289777

หากใครเผลอใจคิดไปว่าอาคารเหล่านี้มันก็แค่ ตึกเก่า! ขอให้ทุกคนคิดใหม่ เพราะภายใต้ตึกเก่ายังมีความสดใหม่แห่ง พหุวัฒนธรรมซ่อนอยู่ ซ่อนอยู่

เริ่มต้นที่ถนนอาเนาะรูแหล่งที่ตั้งศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แห่งตำนานการสร้างเมืองปัตตานี ในบริเวณนี้ถูกเรียกอีกชื่อว่า ชุมชนกือดาจีนอ หรือชุมชนจีนหัวตลาด หลักๆ ที่จะได้เห็นคือ ศาลเจ้าที่ขับเน้นสีแดง ทองตามหลักวัฒนธรรมจีน รอบๆ มีบ้านแบบจีนเดิม บางหลังยังคงมีคนอาศัยอยู่ บางหลังถูกทิ้งร้างให้เป็นแหล่งรังนก

159741277491
159741277491
159741271223
159741271223
159741291611
159741291611
159741261271
159741261271

ถัดไปเป็นถนนปัตตานีภิรมย์กึ่งกลางจุดเชื่อมของถนนอาเนาะรู และฤาดี ปัตตานีภิรมย์ย่านธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต มีทั้งโรงเตี๊ยม โรงหนัง โรงโบว์ลิ่ง ร้านค้า และร้านอาหาร ร่องรอยของร้านเก่ายังคงมีให้เห็นอยู่ประปราย ทั้งร้านชำ ร้านกาแฟ ที่แสดงถึงความมีชีวิตในอดีต

159741296011
159741296011

ถนนสุดท้าย คือถนนเส้นฤาดีที่เป็นกลุ่มอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสแบบปัตตานี สิ่งที่สะดุดตาในถนนเส้นนี้คือ White House Court อาคารสูงใหญ่สีขาวล้วน ปัจจุบันถนนทั้ง 3 สายยังมีความร่วมสมัยซ่อนอยู่ให้ลองเดินดูเล่นๆ ทั้ง สตรีทอาร์ท และร้านคาเฟ่แบบเก๋ๆ

นอกจากเอกลักษณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด บริเวณเมืองเก่าปัตตานียังเคยจัดนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘อารมย์ดี โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ มลายูลิฟวิ่ง(Melayu Living) ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างบันทึกบทใหม่ให้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“ถนนทั้ง 3 สายมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ใครจะไปคิดว่าจะมีแบบนี้อยู่ในปัตตานี เราควรลืมปัตตานีในแบบที่เราเคยเห็นได้แล้ว และมาเจอปัตตานีในแบบใหม่จะดีกว่า” ราชิตระเด่นอาหมัดสมาชิกกลุ่มมลายูลิฟวิ่งกล่าวระหว่างพาเดินทัวร์รอบเมืองเก่า

159741273772
159741273772

นิทรรศการอารมณ์ดีที่เกิดขึ้นลักษณะไม่ต่างจากงานแบงคอกดีไซน์ วีค (bangkok design week) เพราะกลุ่มมลายูลิฟวิ่งคิดว่าปัตตานีมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเยอะ หากจัดที่กรุงเทพได้ ปัตตานีก็จัดได้เช่นกัน รูปแบบงานที่ออกมาจึงบรรจบที่ชื่อว่า อารมย์ดีที่เป็นส่วนผสมของชื่อถนนทั้งสายสามมารวมตัวกัน คือ อา จากถนนอาเนาะรู รม  จากถนนปัตตานีภิรมย์ และ  ดี  จากถนนฤาดี

กิจกรรมภายในนิทรรศการมีตั้งแต่งานแสดงภาพถ่ายของช่างภาพในพื้นที่ การฉายภาพยนตร์ Poem การอ่านบทกวีของ โรสนี นูรฟารีดา กวีหญิงมุลสลิม Performance

“คำว่าสามจังหวัดมันถูกพุ่งมาที่ความไม่สงบ แต่ส่วนตัวเราไม่เชื่อว่าเป็นระเบิดแบบบูม แต่พื้นที่ปัตตานีสำหรับเราเป็นบลูม (bloom) ที่แปลว่าเบ่งบาน เพราะมีคนรุ่นใหม่ที่ผลักดันของดีๆ เราอยากเปลี่ยนการรับรู้บางอย่างให้ได้” ราชิตอธิบาย

- สโลว์ไลฟ์ปัตตานี -

ถ้าพูดถึงเมืองสโลว์ไลฟ์ แน่นอนว่าใครๆ ก็นึกถึงเชียงใหม่ แต่ใครจะนึกว่า  "ปัตตานี"  ก็มีความสโลว์ไลฟ์ได้เหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ในตัวเมืองปัตตานีมี   ร้านกาแฟและคาเฟ่  เยอะมาก (อันนี้จัดประเภทร้านน้ำชาเข้าไปด้วย)  และด้วยความที่คนปัตตานีส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จึงมีวัฒนธรรมการดื่มน้ำชาร่วมกับการดื่มกาแฟ แล้วไม่ได้เป็นแค่ร้านน้ำชาแบบบ้านๆ นะ แต่ถูกอัพเกรดให้อยู่ในระดับ คาเฟ่ สุดชิคแถมบรรยากาศดีอีกด้วย

159741300795
159741300795
159741279610
159741279610

จากเดิมคนรุ่นเก่าอาจจะคุ้นตากับร้านน้ำชาที่เป็นแค่เพิง หรือร้านเล็กๆ มีทีวีตั้งไว้ให้คนในชุมชนมาดูข่าว พูดคุย แลกเปลี่ยน แต่มาสมัยนี้ร้านน้ำชาถูกตกแต่งด้วยสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ให้บริการมากกว่าแค่ชา กาแฟ มีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมจัดมุมสวยๆ เอาไว้ให้ลูกค้าถ่ายรูปเช็กอินและส่งต่อให้คนอื่นๆ บนโลกออนไลน์ได้มาตามรอย

“ใครเป็นคอกาแฟ มาปัตตานีแล้วไม่มีผิดหวัง เพราะจะได้ลิ้มรสกาแฟรสชาติดี แต่ถ้าใครไม่ใช่คอกาแฟก็ไม่ต้องผิดหวังอีกเหมือนกัน เพราะร้านชาชักรอต้อนรับทุกคนอยู่” เจ้าของร้านคาเฟ่ ONYX บริเวณถนนปัตตานีภิรมย์กล่าวติดตลก

159741298541
159741298541

แม้ร้านชาจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่ระดับคาเฟ่อย่างไร แต่กลิ่นอายของการเป็นจุดรวมพลให้ผู้คนได้มาพบปะพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ นั่งรับประทานของอร่อยด้วยกันยังคงอยู่ดังเดิม ดังเช่นวลีที่ว่า กลางคืนคนไทยก็จะไปเฮฮา ส่วนคนภาคใต้กินชา นั่งรีแล็กซ์

มองความงาม "ปัตตานี"ผ่านการตั้งแคมป์-

นอกจากร้านกาแฟ ร้านน้ำชาและคาเฟ่แล้ว ความสโลว์ไลฟ์ในปัตตานีถูกตอกย้ำผ่านกิจกรรมยอดฮิตสำหรับชาวปัตตานี ก็คือการตั้งแคมป์

“ส่วนใหญ่วัยรุ่นปัตตานีนิยมทำกิจกรรมอะไร?” คำถามถูกตั้งขึ้นจากการสังเกตและเปรียบเทียบกับเด็กพื้นที่อื่น เนื่องจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่เข้าข่ายคอมมูนิตี หรือโรงภาพยนตร์ แทบไม่ปรากฏในพื้นที่ปัตตานี

“เอาประเภทไหนละ แต่ส่วนใหญ่เขานิยมไปตั้งแคมป์กัน” อาซีซียีเจะแว หนุ่มหน้าเข้มเคราดก หนึ่งในไกค์พาเที่ยวปัตตานีคลายความสงสัย พร้อมอธิบายต่อว่า   “วัยรุ่นที่นี่นิยมตั้งแคมป์กันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ริมทะเล บนภูเขา ริมแม่น้ำ ในป่า ทรัพยากรทางธรรมชาติของปัตตานีมันสมบูรณ์และเอื้อให้เราไปนั่งชมวิวเฉยๆ ก็ยังได้ ไปตั้งแคมป์ จิบกาแฟ คุยกัน แค่นั้น.. ไม่มีอะไรมาก”

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในปัตตานีมีตั้งแต่หาดตะโละกาโปร์ แหลมตาชี ป่าชายเลนยะหริ่ง อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว  โดยบริเวณพื้นที่อ่าวปัตตานี ได้รับการยอมรับจากกรมทรัพยากรและป่าไม้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลสูง

เพราะอะไรที่ทำให้วัยรุ่นปัตตานีนิยมตั้งแคมป์กัน?

“นอกจากธรรมชาติที่ดีแล้ว จริงๆ คือพวกของตั้งแคมป์มันถูก ส่วนใหญ่เป็นของมือสองจากฝั่งมาเลเซีย มันเหมือนการโคจรกันของสิ่งสองสิ่ง คือธรรมชาติสวย ของตั้งแคมป์ถูก และพวกปัจจัยภายนอกอย่างพวกห้างมันน้อย อาจจะส่งผลให้กิจกรรมตั้งแคมป์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น”

- มือวางอันดับคุ้ย ณ ตลาด “รูสะมิแล” -

ใครว่าปัตตานีไม่คึกคัก! หากเดินทางไปตามถนนสาย รูสะมิแล หน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวันอาทิตย์จะเห็นร้านรวงตั้งบนทางเท้ามากมาย  คนปัตตานีน้อยคนที่จะไม่รู้จักตลาดสินค้ามือสองแบกะดินซึ่งทอดตัวยาวนับ 2 กิโลเมตรแห่งนี้

159741306045
159741306045

หลังจากที่คุยกับ อาซีซี ในหัวข้อการตั้งแคมป์ที่อ้างถึงตลาดมือสอง ทำให้การมาจังหวัดปัตตานีแล้วไม่มาเยือน ตลาดรูสะมิแลดูจะเป็นไปไม่ได้ โดยจุดเริ่มต้นนับจากหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และทอดยาวไปสุดสายตา

159741348881
159741348881
159741349841
159741349841

สินค้าส่วนใหญ่เป็นของมือสองเกือบทุกประเภท  มีตั้งแต่เครื่องครัวยันภาพวาด เรียกว่าเป็นตลาดสำหรับคนที่ชอบสินค้าแบรนด์หรูในราคาเบาๆ แม้ในช่วง 2-3 ปีหลัง สินค้าจะขยับราคาขึ้นมาตามความนิยม อีกทั้งมีพ่อค้าจากต่างเมืองมาเหมาไปเปิดตลาดมือสองขายเหมือนที่ปัตตานี แต่ผู้คนยังเหนียวแน่นกับตลาดรูสะมิแลเช่นเดิม

‘ตาดีได้…ตาร้ายเสีย’ คำเชิญชวนจากแม่ค้าทำให้ชาวปัตตานียอมเสียเวลาคุ้ยหาสินค้าถูกใจในกอง บางคนถึงขั้นบ่นอุบว่า โอ้ยปวดหลังปวดขา แต่มือก็ยังคุ้ยไม่หยุด บางคนคุ้ยจริงจังอยู่นานจนอยากมอบรางวัลมือวางอันดับคุ้ยให้เลยทีเดียว

159741347257
159741347257

จริงๆ แล้วตลาดรูสะมิแลนี้ สำหรับคนกรุงเทพอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีลักษณะคล้ายตลาดคลองถมหรือสะพานพุทธ แต่ความสนุกในการมาเดินตลาดแห่งนี้คือการได้เห็นวิถีชีวิตและความคึกคักของชาวปัตตานี

นูรีนซุรัยดาสะมะแอสาวน้อยวัย 25 ปี บอกว่า  "มาเดินตลาดนี้สนุกดีนะคะ ได้ของถูก ได้เลือกเยอะๆ ใครบอกว่าปัตตานีเงียบ ไม่จริงเลย อย่าดูแต่ข่าวสิ ฮาฮาฮ่า  จริงๆ อยากบอกทุกคนที่คิดว่าปัตตานีน่ากลัว ให้ลองมาเที่ยวดูสักครั้งนะคะ มีที่เที่ยวเยอะ ธรรมชาติสวยมาก อย่าตัดสินเราแค่ข่าวเลย มาลองของจริงดีกว่า”

จบบทสนทนากับนูรีนแล้ว เที่ยวปัตตานีครั้งต่อไปคงไม่ไกลเกินเอื้อม หากใครที่ยังลังเลว่าปัตตานีเป็นยังไง ลองมาเที่ยวสักครั้งแล้วจะติดใจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0