โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ภาษีการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ (1)

Businesstoday

เผยแพร่ 07 ส.ค. 2563 เวลา 07.33 น. • Businesstoday
ภาษีการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ (1)

ผมขอสอบถามปัญหาเรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ดังนี้ครับ

ปุจฉา: กรณีที่ 1 นาย ก เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ได้ถือหุ้นจำนวน 50,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ในเวลา 10 ปีต่อมา นาย ก ได้โอนหุ้นทั้งหมดที่ตนถือไว้ให้กับ นาย ข ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย - กรณีนี้ ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ ไม่เกินยี่สิบล้านบาท ตลอดปีภาษีนั้น  ตามมาตรา 42 (27) แห่งประมวลรัษฎากร ความเข้าใจเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

วิสัชนา: เข้าใจถูกต้องแล้วครับ

ปุจฉา: กรณีที่ 2 จากกรณีที่ 1 ในเวลาต่อมา นาย ข ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ได้รับโอนหุ้นมาจากบิดา ได้ทำการขายหุ้นที่ตนได้ถือไว้ทั้งหมด (50,000 หุ้น) ให้กับ นาย ค บุคคลภายนอกไปในราคาหุ้นละ 15 บาท  ผลต่างของราคาขายกับราคาซื้อจำนวนหุ้นละ 5 บาท ถือเป็นเงินได้ที่เป็นผลประโยชน์จากการโอนหุ้น เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital gain)  ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร -

กรณีดังกล่าว ถือเป็นการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร แต่ไม่รวมถึงเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ อันเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร ความเข้าใจเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

วิสัชนา: ตามแนวคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0702/11070 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2558 กรมสรรพากรได้วินิจฉัยว่า “…หากต่อมาบุตรโอนขายหุ้นที่ได้รับมาโดยไม่มีค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เพราะผู้ถือหุ้นย่อมหวังที่จะได้รับประโยชน์จากเงินปันผลหรือกำไรจากการโอนเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น จึงต้องนำผลประโยชน์ที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของบุตร ทั้งนี้ ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อเท็จจริง เมื่อบุตรไม่มีต้นทุนในการได้มาซึ่งหุ้น บุตรจึงต้องนำผลประโยชน์ที่ได้จากการขายหุ้นทั้งจำนวนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”

ปุจฉา: กรณีที่ 3 นาย ก เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ได้ถือหุ้นจำนวน 50,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ในเวลา 10 ปีต่อมา นาย ก ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ตนถือไว้ให้กับ นาย ค ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ในราคาหุ้นละ 15 บาท ผลต่างของราคาขายกับราคาซื้อจำนวนหุ้นละ 5 บาท ถือเป็นเงินได้ที่เป็นผลประโยชน์จากการโอนหุ้น เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital gain)  ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ความเข้าใจเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

วิสัชนา: เข้าใจดังกล่าวถูกต้องแล้วครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0