โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'พีเน็ต'แฉ!เลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการ ร้องเรียนซื้อเสียงอื้อ-เรื่องวุ่นๆหน้าคูหา

แนวหน้า

เผยแพร่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 07.32 น.

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) เผยแพร่แถลงการณ์พีเน็ต ที่ 3/2563 เรื่อง “เลือกตั้งซ่อม สส.เขต 5 สมุทรปราการ ปลอดทุจริตหรือ” ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ได้ทำหน้าที่สังเกตการณ์การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซ่อมใน เขต 5 สมุทรปราการ โดยมีทีมทนายความและอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งมานานหลายสิบปี โดยไม่ได้รับการสนับสนุนการทำงานจากหน่วยงานใดๆ

ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง พีเน็ตได้จัดทำใบปลิวและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงทั้งดิจิตอล ให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลและรายงานเมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติผ่าน QR Code ที่มีแบบฟอร์ม ให้กรอกรายละเอียดถึงเหตุที่อาจเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง และสังเกตการณ์ในวันลงคะแนนเลือกตั้ง ในการทำงานครั้งนี้ พีเน็ตได้รับรายงานส่อทุจริตผ่าน QR Code จากประชาชนกระจายครบทุกพื้นที่ พบเหตุมากที่ บางเสาธง คลองด่าน ศีรษะจระเข้น้อย ราชาเทวะ ศีรษะจระเข้ใหญ่ และบางบ่อ

โดยมีลักษณะการแจกเงิน ให้เต็มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบ้านนั้นๆ เป็นการให้แบบปูพรมไม่ถามอะไรมาก เอาเงินใส่มือให้ง่ายๆ ตัวเลขที่รับรายงานตรงกันหมดคือ 500 บาท เบอร์เดียวตรงกันหมด มีการเก็บบัตรประชาชน สัญญาว่าจะให้ เจ้าหน้าที่วางตัวไม่เป็นกลาง พบการซื้อเสียงในรูปแบบของการขายล็อตเตอรี่โดยคนขายล็อตเตอรี่ (เสื้อสีแดง) ได้มอบเงิน 1,000 บาทพร้อมล็อตเตอรี่ให้แก่ผู้รับ (เสื้อสีดำขี่จักรยานยนต์) และหลังจากมีการบันทึกภาพคนขายล็อตเตอรี่ จึงทำการย้ายที่ออกไปจากบริเวณดังกล่าว

ผู้แจ้งเหตุรายหนึ่งกล่าวว่า มีการสอบถามคนในครอบครัวว่าได้เงินไหม ได้จากพรรคอะไร ได้กี่บาท ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พรรค … ได้มาคนละ 500 บาท และได้ไปสอบถามคนอื่นๆ ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทุกคนก็บอกเหมือนกันว่าได้คนละ 500 จากพรรคนี้ กรณีแจกเงินตามรายจำนวนเสียงตามบ้าน การล่ารายชื่อล่วงหน้า ให้เป็นรายหัว หัวละ 500 บ้านมี 5 คน ทั้งสิ้น 2,500 บาท กรณีมีคนในหมู่บ้านมาขอชื่อสมาชิกในบ้านเพื่อนำไปดูว่าควรได้เงินกี่คน

แล้วก่อนวันเลือกตั้งตอนเย็นประมาณ 18.30 น. มีคนซึ่งคนคนนี้ก็เป็นคนเดิมที่มาขอรายชื่อ แล้วนำเงินมายัดใส่มือคนละ 500 แต่ในที่นี้คือเขานำเงินรวมมาเป็นเงิน 10 คน คนละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 5,000 บาท กรณีมีคนในหมู่บ้านเดียวกันมาเรียกคนที่อยู่ในหมู่ 7 ซึ่งเป็นปีแรกที่เลือกตั้งได้เพราะอายุ 18 ปีพอดี เขามาถึงบอกว่าพรุ่งนี้ช่วยไปเลือกตั้งให้หน่อย ก็บอกว่าจะไปอยู่แล้ว เขาบอกว่าดีเลยงั้นช่วยๆ หน่อย เบอร์ … เขาขอมา พร้อมกับส่งเงินให้ 500 บาท แต่รับมาก็ไม่ได้เลือก เพราะเบอร์ … เป็นของพรรค …

อีกกรณีได้รู้ข่าวจากพ่อแม่ว่าครอบครัวอื่นได้รับเงินจากพรรค…ที่ส่งผ่านมาทางผู้ใหญ่บ้าน 1 คนในครอบครัวนั้นๆ ที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งจะได้รับเงินเป็นจำนวนเงิน 500 บาท ข่าวที่พ่อแม่รู้มานั้นมีชาวบ้านในหมู่บ้านที่ได้รับเงินบอกต่อๆ กันมา แต่ที่บ้านไมได้รับเงินที่ผู้ใหญ่บ้านนั้นใช้ซื้อเสียงให้ … มีคนโกงกินแบบนี้ในหมู่บ้านแล้วรู้สึกไมได้รับความเป็นธรรม

พีเน็ตได้พยายามสอบถามขอข้อมูลเพิ่มเติมไปยังผู้แจ้งเหตุตามหมายเลขมือถือที่แจ้งไว้ แต่บรรยากาศของความไม่เชื่อถือในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับความไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทำให้ปฏิเสธที่จะไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ในวันลงคะแนนเลือกตั้ง จากการลงพื้นที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง พีเน็ตได้พบเห็นข้อผิดพลาดบางประการเกิดขึ้นจากการทำงานของกรรมการประจำหน่วยในหน่วยเลือกตั้ง

เช่น การที่กรรมการประจำหน่วยไม่ขอให้ผู้มาใช้สิทธิ์ถอดหน้ากากในขณะนำบัตรประชาชนมาแสดงตน เพื่อยืนยันว่าตนเป็นเจ้าของบัตรที่แท้จริง ซึ่งข้อนี้สุ่มเสี่ยงต่อการสวมรอยใช้สิทธิ์ โดยที่ก่อนหน้านี้มีข่าวการรวบรวมบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมาก มีกรณีที่ผู้มาใช้สิทธิ์จะขอนำทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนที่ถ่ายไว้ในโทรศัพท์มือถือเป็นหลักฐานเพื่อแสดงตนในการใช้สิทธิ์ จนเกิอบได้ใช้สิทธิ์แต่ถูกพีเน็ตทักท้วงไว้ได้

หรือการปล่อยให้มีการนำบัตรเลือกตั้งมาให้ผู้สูงอายุกาบัตรลงคะแนนที่ทางเข้าที่เลือกตั้งโดยอ้างว่าผู้สูงอายุเดินไม่ไหว พีเน็ตได้ทักท้วงไว้เพราะจะทำให้การกาบัตรเลือกตั้งไม่เป็นความลับ สุดท้ายกรรมการประจำหน่วยจึงให้ญาติพาผู้สูงอายุเดินเข้าไปกาบัตรที่คูหา ในช่วงก่อนปิดหีบเลือกตั้ง พีเน็ตพบเห็นเหตุการณ์ปะทะวาจากันอย่างเคร่งเครียดหน้าหน่วยเลือกตั้ง จึงเข้าไปตรวจสอบและช่วยคลี่คลายไกล่เกลี่ย พบว่า การปะทะทางวาจากันระหว่างเจ้าหน้าที่จาก รด. และผู้แทนพรรคการเมืองที่มาสังเกตการณ์นอกหน่วย มีเหตุมาจากการที่ต่างไม่ทราบบทบาทซึ่งกันและกันจนเกิดการเข้าใจผิด เกือบเป็นเรื่องราวที่อาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาทหน้าหน่วยเลือกตั้ง

จากการทำงานของมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ในฐานะพลเมืองอาสาสมัครที่ใส่ใจประสงค์ให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม การเลือกตั้งเป็นหลักประกันที่สะท้อนเสียงบริสุทธิ์ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ผู้เกี่ยวข้องต่างได้ทำหน้าที่อย่างมุ่งมั่นทุ่มเทด้วยใจที่มีหลักประชาธิปไตย จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะต่อการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่น่าจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ ดังนี้

1.พัฒนาระบบการป้องปรามปราบปรามการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ตลอดจนการทุจริตการเลือกตั้ง ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ 2.เตรียมมาตรการที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับสาธารณชน ว่า ผลของการซื้อสิทธิ์ขายเสีบงจะไม่มีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้ง และมีมาตรการที่ชัดเจน ที่จะทำให้การทุจริตเลือกตั้งลดน้อยลง 3.พัฒนาระบบการจัดการเลือกตั้ง ให้มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่เป็นมืออาชีพ การบริหารจัดการหน่วยเลือกตั้ง

เพิ่มจำนวนหน่วยเลือกตั้งมากขึ้นให้สอดคล้องกับการระบาดของโรคที่ความเสี่ยงต่ำลงอย่างมาก ยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ไม่มีผลงานการทำงาน และสนับสนุนให้มีอาสาสมัครตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และ 4 สนับสนุนให้องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทำให้การเลือกตั้งเป็นกลไกที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0