โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระราชวิจารณ์บ้านเมืองไทยของร.7 หลังทรงสละราชสมบัติ ชมปรีดี พนมยงค์ แม้ "เป็นคนอันตราย"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 มี.ค. 2566 เวลา 15.41 น. • เผยแพร่ 03 มี.ค. 2566 เวลา 00.07 น.
ภาพปก-รัชกาลที่7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขาตอบนายเจมส์ แบ็กซเตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษาการคลัง เนื้อหาใจความนั้นปรากฏพระราชวิจารณ์สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองหลังทรงสละราชสมบัติ โดยพระราชหัตถเลขานี้มีสำเนามาจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) ตัวสำเนาอยู่ที่กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปรากฏบทความชื่อ“พระราชวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองไทยของรัชกาลที่ ๗ หลังทรงสละราชสมบัติ” โดย พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ยศและตำแหน่ง ณ เวลานั้น) เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความปรากฏการสรุปสาระประเด็นสำคัญของพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงตอบนายแบ็กซเตอร์ โดยทรงวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองของไทยในสมัยนั้นหลายเรื่อง

ภูมิหลังของพระราชหัตถเลขา

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ให้ข้อมูลย้อนไปว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อพ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ไปต่างประเทศในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ทรงสละราชสมบัติ ขณะประทับ ณ พระตำหนักโนล (Knowle) บ้านเช่าในเมืองแครนลีห์ (Cranleigh) เขตซะรีย์ (Surrey) นอกกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

หลังทรงสละราชสมบัติ ทรงซื้อพระตำหนักที่ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) ในเขตเดิม พระตำหนักดังกล่าวมีชื่อว่า เกลน แพมแมนต์ (Glen Pammant) ต่อมาเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการพระหทัยวายเฉียบพลัน ณ พระตำหนักองค์นี้ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2482[2]

ขณะที่รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่พระตำหนักเกลน แพมแมนต์ ทรงได้รับจดหมายจากเจมส์ แบ็กซเตอร์ ฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กราบบังคมทูลว่าเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าฝิ่นและเงินสินบนนำจับ ซึ่งเป็นเหตุให้ตนลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาการคลังของไทย[3]

นาย เจมส์ แบ็กซเตอร์ (James Baxter) ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการที่สำคัญตำแหน่งหนึ่งก็คือ ที่ปรึกษาการคลัง เป็นชาวอังกฤษคนสุดท้ายที่รับตำแหน่งนี้ หลังจากนั้นตำแหน่งดังกล่าวถูกลดความสำคัญลง เหลือเพียงที่ปรึกษาการคลังประจำกระทรวงการคลัง

แบ็กซเตอร์เริ่มทำงานในตำแหน่งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 และลาออกหลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติได้ไม่นาน หลังจากลาออกจากราชการ แบ็กซเตอร์มีจดหมายกราบบังคับทูลเหตุผลการลาออกของตนให้รัชกาลที่ 7 ทรงทราบ พระองค์มีพระราชหัตถเลขาตอบแบ็กซเตอร์ (ภาษาอังกฤษ) ความยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ พระราชหัตถเลขาฉบับนี้คือหลักฐานที่มาของพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองไทยที่ปรากฏในบทความฉบับนี้

รัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขาตอบแบ็กซเตอร์โดยทรงระบุเวลาทรงเขียนไว้ว่า เริ่มในเดือนสิงหาคม-19 กันยายน พ.ศ. 2478

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ย้ำให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า “รัชกาลที่ 7 ทรงเขียนพระราชหัตถเลขานี้เป็นการส่วนพระองค์ และมีขึ้นไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง และการสละราชสมบัติของพระองค์ ดังนั้นพระราชวิจารณ์ในบางเรื่องจึงดูรุนแรง อนึ่งเนื่องจากรัชกาลที่ 7 ทรงเรียกชื่อบุคคลในพระราชหัตถเลขา ตามบรรดาศักดิ์และราชทินนาม เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ผู้เขียนจึงคงเดิมไว้หรือใช้ให้ใกล้เคียง

พระราชหัตถเลขาที่นำมาศึกษานี้ถ่ายสำเนามาจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) หมายเลขเอกสารคือ OV 25/4, f. 65b, Prajadhipok to Baxter, August-19 September 1935 มีสำเนาอยู่ที่กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า”

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ อธิบายว่า แบ็กซเตอร์เขียนจดหมายดังกล่าวระหว่างแวะพักที่เกาะปีนังหลังจากเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 เพื่อเดินทางต่อไปอังกฤษ[4] ต่อมา หลังจากแบ็กซเตอร์ได้รับพระราชหัตถเลขาตอบ ได้ส่งสำเนาพระราชหัตถเลขาไปให้ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) การรายงานเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศไทยไปให้หน่วยราชการอังกฤษที่เกี่ยวข้องทราบเป็นเรื่องปกติที่ที่ปรึกษาการคลังชาวอังกฤษในไทยปฏิบัติอยู่แล้วระหว่างดำรงตำแหน่ง[5]

พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ เขียนอธิบายไว้ในบทความว่า จากการประมวลข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับอื่นของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ สรุปเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับฝิ่นได้ว่า เริ่มขึ้นในราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยแบ็กซเตอร์อ้างว่า อธิบดีกรมสรรพสามิต และเป็นรัฐมนตรี (ลอย) ในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)[6] เข้าไปพัวพันกับการหาประโยชน์อันมิชอบด้วยการลักลอบนำเข้าฝิ่นจากรัฐฉาน (ส่วนหนึ่งของพม่า ในเวลานั้นพม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) มีการลักลอบนำเข้าฝิ่นจำนวน 250,000 ตำลึง (น้ำหนักกว่า 9 ตัน) โดยรัฐมนตรีและข้าราชการบางคนได้ประโยชน์จากรางวัลนำจับในอัตรา 2 บาท 50 สตางค์-3 บาทต่อตำลึง ในขณะที่ราคาซื้อฝิ่นเพียง 1 บาท ทำให้ได้กำไรกว่า 3 แสนบาท[7]

เนื่องจากแบ็กซเตอร์เห็นว่า รางวัลนำจับที่จะต้องจ่ายสูงมาก จะทำให้งบประมาณที่จะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 2 เท่าจากที่ตั้งไว้เดิม ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 แบ็กซเตอร์จึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอการจ่ายเงินไว้ก่อนจนกว่าการสอบสวนของตำรวจจะเสร็จสิ้น แต่เมื่อแบ็กซเตอร์ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งจ่ายเงินรางวัลไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จึงยื่นหนังสือลาออก[8] และในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติการลาออก หลังจากนั้นแบ็กซเตอร์รายงานธนาคารแห่งประเทศอังกฤษว่า ลาออกเพราะเรื่องสกปรกในรัฐบาล ซึ่งมีโจรอยู่มากมายที่เข้าปล้นท้องพระคลังอย่างโจ่งแจ้ง [9]

แม้แบ็กซเตอร์อ้างว่า กรณีฝิ่นเป็นสาเหตุให้ตนลาออก แต่แท้ที่จริงแล้ว แบ็กซเตอร์ตั้งใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะไม่ต่อสัญญากับรัฐบาลไทย ซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2478 ความคิดนี้มีขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2477 เป็นอย่างช้า และในกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 แบ็กซเตอร์ก็ได้แจ้งรัฐบาลไทยให้ทราบแล้วด้วย [10]

สาเหตุที่แบ็กซเตอร์ไม่ต้องการต่อสัญญา ส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งทางความคิดระหว่างรัฐบาลในระบอบใหม่กับแบ็กซเตอร์ เช่น นโยบายของรัฐบาลที่จะเสริมอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ขัดกับแนวคิดอนุรักษนิยมของแบ็กซเตอร์ นอกจากนั้นแบ็กซเตอร์ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดจัดตั้งธนาคารกลางของรัฐบาล [11] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เขียนไว้ในภายหลังว่า นายแบกซเตอร์…ได้ทำบันทึกแสดงความเห็นคัดค้านการตั้งธนาคารชาติไทย โดยเชิงขู่ว่า ถ้าสยามตั้งธนาคารชาติขึ้นแล้ว ธนาคารอังกฤษจะไม่ร่วมมือด้วย ปรีดีได้ต่อสู้กับนายแบกซเตอร์จนกระทั่งเขาต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องยืดยาว [12]

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กรณีฝิ่นเป็นเพียงปัจจัยเร่งให้แบ็กซเตอร์ตัดสินใจลาออกก่อนหมดสัญญา ไม่ใช่ต้นเหตุ และรัฐบาลไทยก็ไม่ได้ยับยั้งการลาออก

อนึ่ง กรณีอื้อฉาวเรื่องฝิ่นเกิดในช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ในอังกฤษ และกำลังจะทรงสละราชสมบัติ เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงตอบจดหมายแบ็กซเตอร์นั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หลวงประดิษฐ์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปราชการต่างประเทศ [13] ในพระราชหัตถเลขา จึงกล่าวถึงทั้งสองเรื่องไว้ด้วย

หลวงประดิษฐ์ฯ ออกเดินทางทางรถไฟจากสถานีหัวลำโพงในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ไปลงเรือที่สิงคโปร์ [14] และเดินทางถึงอิตาลีวันที่ 13 สิงหาคม ก่อนเดินทางไปประเทศอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เพื่อเจรจากับธนาคารอังกฤษเพื่อขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลกู้ไว้ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-68) และทาบทามรัฐบาลประเทศในยุโรปเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาค [15] หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2478 [16]

พระราชวิจารณ์สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง

ในพระราชหัตถเลขาตอบแบ็กซเตอร์ข้างต้น รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริและทรงวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองของไทยไว้หลายเรื่อง พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ สรุปเฉพาะประเด็นสำคัญๆ เป็นข้อๆ ดังนี้

1. กรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับฝิ่น รัชกาลที่ 7 ไม่ทรงแปลกพระทัยกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับฝิ่นนี้ พระองค์ทรงทราบข่าวมาก่อนแล้วว่า รัฐบาลไทยซื้อฝิ่นจำนวนมหาศาลจากเชียงตุง (Kengtung) และทรงได้ยินจากคนที่ติดต่อกับเจ้าเชียงตุงว่า เจ้าเชียงตุงทรงซื้อขายฝิ่นกับอธิบดีกรมสรรพสามิต โดยเจ้าเชียงตุงทรงได้รับเงิน 80 สตางค์ต่อ 1 ตำลึง ในขณะที่ราคาที่ตกลงไว้คือ 1 บาท แต่ฉันไม่แปลกใจแม้แต่น้อยที่ได้ยินว่ามีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น

ทั้งนี้เป็นเพราะเคยทรงสงสัยอยู่ก่อนแล้วว่า ทำไมรัฐบาลจึงแต่งตั้งคนๆ เดียวให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิตและกรมฝิ่นพร้อมกัน [17] เขาทำให้อะไรสลักสำคัญให้พรรครัฐบาล (Government Party) จึงสมควรได้รับรางวัลชิ้นโตเช่นนั้น พระองค์ทรงตั้งสมมุติฐานว่า สาเหตุที่รัฐบาลทำเช่นนั้นอาจเป็นเพราะบุคคลดังกล่าวรู้งานดีกว่าคนอื่น หรือเพราะตกลงว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้มาโดยมิชอบ (swag) ให้ พระองค์ทรงเชื่อว่า น่าจะเป็นประการหลัง และทรงกล่าวว่า เซอร์เอ็ดเวิร์ด คุก (Sir Edward Cook) อดีตที่ปรึกษาการคลังของไทย [18] ซึ่งพระองค์ทรงพบที่เมืองปอร์ต ซาอิด (Port Said) ก็เห็นด้วยกับพระองค์ว่า การแต่งตั้งให้คนๆ คนเดียวทำงาน 2 ตำแหน่งเป็นเรื่องของการชมชอบกันมากจริงๆ

2. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กับการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะทรงสละราชสมบัติ ได้มีพระราชปรารภเกี่ยวกับการครองราชย์ของพระองค์ คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 แต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร นาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) รัฐมนตรี (ลอย) โดยมีดิเรก ชัยนาม เป็นเลขานุการไปเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 7 ที่ประเทศอังกฤษ ทั้งหมดเดินทางไปถึงกรุงลอนดอนในวันที่ 7 พฤศจิกายน และได้เข้าเฝ้าฯ ในวันที่ 12 เดือนเดียวกัน [19] และได้มีการเจรจากันต่างๆ แต่ในที่สุดรัชกาลที่ 7 ก็ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477

ในพระราชหัตถเลขาตอบแบ็กซเตอร์ฉบับนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงกล่าวในทำนองที่ว่า พระองค์อาจจะไม่ทรงสละราชสมบัติก็ได้ หากหลวงธำรงฯ ผู้ที่รัฐบาลส่งไปเข้าเฝ้าฯ จะมีอำนาจตกลงกับพระองค์อย่างแท้จริง

พระองค์ทรงเห็นด้วยกับแบ็กซเตอร์ว่า หลวงธำรงฯ ดูฉลาดกว่าคนอื่นๆ และประทับพระราชหฤทัยเมื่อหลวงธำรงฯ เข้าเฝ้าฯ เพราะทรงเห็นว่า เป็นคนพูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่เล่นสำบัดสำนวนน่ารำคาญเหมือนนักกฎหมายไทย ทรงเล่าให้แบ็กซเตอร์ทราบด้วยว่า ถ้าหลวงธำรงฯ มีอำนาจอย่างแท้จริงที่จะตกลงกับพระองค์ พระองค์ อาจจะบรรลุความเข้าใจกับเขา ซึ่งน่าจะหมายถึง จะไม่ทรงสละราชสมบัติ แต่ก็ทรงเห็นว่า หลวงธำรงฯ ไม่มีอำนาจจริงๆ อะไรเลย และหลวงธำรงฯ ยังต้องพยุงตัวให้รอด (tight-rope-walking act) เพราะไม่อาจเอาอาชีพของตนมาเสี่ยงเพื่อความเชื่อส่วนตัวหรือหลักการใดๆ

3. รัฐบาลและการบริหารราชการ รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นด้วยกับแบ็กซเตอร์ที่ว่า รัฐบาลไทยในเวลานั้นเป็นที่เสื่อมเสียแก่ประเทศชาติ พระองค์ทรงรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าสงสารที่สุดที่ไม่มีใครทำอะไรได้เลย ประชาชนส่วนหนึ่งอยู่ในภาวะสิ้นหวังถึงขั้นที่จะยอมให้ต่างชาติเข้าแทรกแซง เพราะเห็นเป็นทางออกทางเดียวเท่านั้น ทรงเห็นว่า คนไทยกำลังล่องลอยไปอย่างไร้ความหวังและไม่มีอุดมการณ์อะไรเลย ทุกคนมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดดูเหมือนจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน รับสั่งด้วยว่า ทรงมีชีวิตอยู่ไปวันๆ เช่นกัน และรู้สึกเก็บกด อธิบายไม่ได้ ประชาชนบางส่วนดูเหมือนจะอยู่ได้เพราะความหวัง ฉันดูจะทำไม่ได้ เพราะฉันไม่รู้ว่าจะหวังอะไร นอกจากนั้น ยังทรงแสดงพระราชทัศนะว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้พระองค์ไม่ชอบที่สุดในการติดต่อกับรัฐบาลก็คือ รัฐบาลโกหก ปิดบัง และเลี่ยงประเด็นสำคัญๆ อีกทั้งพูดซ้ำไปมาเรื่องปัญหาการเข้าใจผิด รัฐบาลมี นโยบายโกหกๆ อยู่เรื่อยๆ และมากขึ้นๆ ตลอดเวลา

4. ปัญหาสำคัญที่สุดของชาติ รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของไทยในเวลานั้นก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ นั่นคือปัญหาการว่างงาน เพียงแต่ในไทยแย่กว่า เพราะเป็นการว่างงานในหมู่คนมีการศึกษา จึงทรงเห็นว่า คนที่พบวิธีที่ดีสำหรับแก้ไขปัญหาจะเป็นผู้ช่วยประเทศไทยให้อยู่รอดได้อย่างแท้จริงและสมควรจะสร้างอนุสาวรีย์ที่สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดให้ ทรงระบุว่า สยามไม่อาจสงบลงได้จนกว่าจะแก้ไขปัญหาการว่างงานได้

5. พฤติกรรมของข้าราชการและนักการเมือง รัชกาลที่ 7 ทรงไม่พอพระทัยกับพฤติกรรมของนักการเมืองและข้าราชการนัก แต่ก็ทรงอธิบายว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในไทย ทำให้ข้าราชการและนักการเมืองต้องคำนึงถึงการเอาตัวรอด (bread and butter) และสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องคิดถึงแรกสุดก่อนอะไรในโลกก็คือรักษางานดีๆ ไว้ นี่คือปรัชญาทั่วไปของข้าราชการหรือ นักการเมือง สยามที่ดีทั้งหลาย และทรงเห็นว่า ไม่มีข้าราชการคนใดในเวลานั้นมีความซื่อสัตย์และพูดความจริง

6. คณะผู้ก่อการรัฐประหาร 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 ทรงกล่าวถึงการเดินทางไปต่างประเทศของหลวงประดิษฐ์ฯ ในเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2478 ว่า มีคนคิดไปว่า หลวงประดิษฐ์ฯ กำลังจะถูกเนรเทศไปตลอดกาล และหลวงพิบูลสงคราม [20] เริ่มขจัดพวกนิยมหลวงประดิษฐ์ฯ แต่รัชกาลที่ 7 กลับทรงเห็นว่า ไม่มีทางที่สมาชิกคณะผู้ก่อการรัฐประหาร 24 มิถุนายนจะกวาดล้างกันเองเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย พรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี และพรรคนาซีในเยอรมนี เพราะทรงเห็นว่า จุดประสงค์หลักของคณะผู้ก่อการฯ ก็คือรักษางานราชการไว้ให้มั่นคงสำหรับตนเองและเพื่อนพ้อง นโยบายอื่นๆ มีความสำคัญน้อยที่สุด ทั้งนี้ทรงยกตัวอย่างกรณีหลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางออกนอกประเทศ ได้มีสมาชิกผู้ก่อการฯ รวมทั้งหลวงพิบูลฯ ไปส่งและกอดลา

สำหรับเหตุการณ์แสดงการร่ำลาหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงกล่าวถึงนี้ มีหลักฐานอื่นเล่าไว้เช่นกัน เป็นรายงานการเมืองรายเดือน (Monthly Political Report) ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย บรรยายว่า การออกเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้ (10 สิงหาคม) หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางด้วยรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงไปลงเรือที่สิงคโปร์นั้น มีผู้ไปส่งจำนวนมาก มีบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล ทูตานุทูต กงสุลและตัวแทน มีผู้เฝ้าดูการร่ำลาครั้งนี้ด้วยความสนใจและมีการถ่ายรูปมากมาย อีกทั้งมีคนตั้งข้อสังเกตว่า หลวงพิบูลฯ ไม่ค่อยพูด และหลังจากกอดหลวงประดิษฐ์ฯ ถ่ายรูปก็หยุดยิ้มทันที [21]

7. ทหารและการต่อต้านพวกนิยมหลวงประดิษฐ์ฯ รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริด้านลบต่อทหาร ไม่ทรงเห็นด้วยกับแบ็กซเตอร์ที่ชื่นชมทหาร ทรงเห็นว่า ทหารทำตัวเหมือนนักเลงโต (gangster) ที่มีวิธี หาผลประโยชน์ (racket) ต่างไปจากพวกนิยมหลวงประดิษฐ์ (Praditties) อีกทั้งทรงเห็นว่า ทหารต่อต้านพวกนิยมหลวงประดิษฐ์ฯ เพราะรู้ดีว่าพวกนิยมหลวงประดิษฐ์ฯ ต่อต้านทหาร และกลัวว่า ถ้าหลวงประดิษฐ์ฯ มีอำนาจเต็มที่ พวกเขาก็จะไม่ได้เงินมาถลุง

แต่รัชกาลที่ 7 ก็ทรงเห็นว่า ทหารจะเป็นหลักประกันให้กับเสถียรภาพของไทย อย่างที่เป็นอยู่ แต่จะไม่ทำอะไรเป็นพิเศษ และยังแกล้งทำเป็นไม่เห็นการทุจริต ตราบเท่าที่เรื่องดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในสมาชิกของกลุ่มคนที่ทรงเรียกว่า ขุนนางใหม่ (New Aristocracy) กองทัพได้งบประมาณจำนวนมากเพื่อซื้อปืน รถถังไว้ ยิงใครก็ตามที่แสดงความไม่พอใจ ทรงเห็นว่าสถานการณ์ของไทยคล้ายกับจีนมาก เพียงแต่ไทยมีขุนศึกเพียงคนเดียว [22] ทรงเห็นว่า กองทัพควรเป็นองค์กรที่สร้างความเชื่อมั่นและความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ประชาชน ไม่ใช่เป็นที่มาของภัยอันตรายและความหวาดกลัวอย่างที่เป็นอยู่ และเป็นแค่แก๊งนักเลงโต และพวกโจร (an Army of bandits)

8. การยึดอำนาจทางการเมือง รัชกาลที่ 7 ไม่ทรงเห็นด้วยกับการยึดอำนาจ และทรงเห็นว่า ควรปลูกฝังให้ประชาชนตระหนักถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการยึดอำนาจ ผู้คนต้องเชื่อมั่นว่า การใช้กำลังยึดอำนาจใดๆ จะมีผลร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นกับผู้ประกอบอาชญากรรมเช่นนั้น ต้องเอาความคิดเช่นนี้ใส่เข้าไปในจิตใจทุกคนอีกครั้ง

9. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยย่อมทราบกันดีว่า รัชกาลที่ 7 ไม่ทรงเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ หรือ สมุดปกเหลือง ซึ่งเสนอรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงวิจารณ์เค้าโครงการดังกล่าวอย่างรุนแรง [23] เช่น ทรงวิจารณ์ว่า โครงการรวมที่ดิน รวมแรงงานและรวมทุนให้รัฐเข้าจัดการนั้น เป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้เหมือนกันหมด [24]

แต่ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ รัชกาลที่ 7 กลับทรงกล่าวชื่นชมหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างมากและหลายครั้ง แม้หลวงประดิษฐ์ฯ จะเป็นคนที่อันตรายต่อสยาม แต่เขาเป็นคนเพียงคนเดียวในกลุ่มคนเหล่านั้นที่ฉันชื่นชมได้อย่างแท้จริง สำหรับฉันแล้ว เขาดูจะเป็นคนเดียวที่มีแผนการที่จะทำให้สภาพการณ์เลวร้ายในสยามดีขึ้น แม้ว่าแผนการนั้นเป็นเรื่องโง่เขลาที่สุดก็ตาม ในขณะที่พระองค์ทรงมองว่า หลวงประดิษฐ์ฯ มีอุดมการณ์และเป้าหมาย มีความอดทนและบากบั่น ตลอดจนกล้าหาญ ทรงวิจารณ์คนอื่นๆ ว่า มีเป้าหมายอย่างเดียวแค่นั้นอยู่ในความคิด นั่นคือการยึดตำแหน่งไว้ให้มั่นคง สนับสนุนญาติและเพื่อนฝูง และอยู่ในอำนาจไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่

รัชกาลที่ 7 ดูเหมือนจะไม่เคยทรงเล่าถึงความรู้สึกชื่นชมหลวงประดิษฐ์ฯ ให้แบ็กซเตอร์ทราบมาก่อน พระองค์จึงรับสั่งในทำนองที่ว่า แบ็กซเตอร์อาจประหลาดใจกับพระราชดำริข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อทรงเปรียบเทียบทหารกับหลวงประดิษฐ์ฯ รัชกาลที่ 7 รับสั่งว่า คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องประหลาดมาก แต่ฉันชื่นชมหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างแท้จริง อย่างน้อย เขาก็เป็นผู้ที่มีแผนการจะทำให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองของเขาดีขึ้น ในขณะที่ทหารไม่มีแผนการอะไรเลย ยกเว้นอ้วนขึ้นๆ บนหยดเหงื่อที่หน้าผากของชาวนายากจน และมีพระราชดำริว่า ขณะที่หลวงธำรงฯ และหลวงพิบูลฯ เห็นว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นอันตรายและพยายามขัดขวางไม่ให้ทำโครงการ แต่ทหารก็ไม่มีนโยบายอื่นมาเสนอ รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริว่า ตราบเท่าที่หลวงประดิษฐ์ฯ สามารถตอบสนองความต้องการของทหารที่ต้องการเลื่อนตำแหน่งและได้เงินเดือนเพิ่มทุกปีก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำไม่ได้ เวลาของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็จะมาถึง และทรงเห็นว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นที่นิยมมากเพราะสัญญาว่า มีเงินเหลือเฟือสำหรับคนทั้งหลายและมีงานราชการสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นความต้องการสำคัญอย่างหนึ่งของชาวไทย ที่มีการศึกษา

ในพระราชหัตถเลขา ทรงให้ข้อมูลแก่แบ็กซเตอร์อีกด้วยว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางถึงกรุงปารีสแล้ว ได้พบกับพระยาราชวังสัน (Rajwangsan) [25] และยอมรับกับพระยาราชวังสันว่า โครงการสำหรับนโยบายเศรษฐกิจแบบนารวม (collectivist economic policy) เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง และได้ละทิ้งสมุด ปกเหลือง ไปแล้ว นอกจากนั้น ทรงเล่าให้แบ็กซเตอร์ทราบด้วยว่า เขาขอมาคุยกับฉัน และบอกว่า เขาไม่ได้โกรธฉันเลยที่เขียนโจมตีโครงการของเขา และพระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาตอบอนุญาตไปแล้ว แต่รัชกาลที่ 7 ก็ทรงตั้งข้อสงสัย เขาจะพูดอะไรกับฉัน

10. ธนาคารกลาง และการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา รัชกาลที่ 7 ทรงเล่าไว้อีกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ได้เล่าให้พระราชวังสันทราบถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปยุโรปว่า เพื่อศึกษาการตั้งธนาคารกลาง (Central Bank) รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่า หลังจากรัฐบาลกำจัดแบ็กซเตอร์ ซึ่งเป็นผู้คัดค้านการจัดตั้งธนาคารกลางคนสำคัญไปแล้ว รัฐบาลก็เริ่มเดินหน้าโครงการดังกล่าว นอกจากนั้นหลวงประดิษฐ์ฯ จะเดินทางไปโรมาเนียด้วยเพื่อศึกษาแนวทางที่รัฐบาลโรมาเนียใช้แก้ปัญหาหนี้สินชาวนา โดยทรงสันนิษฐานว่า หลวงประดิษฐ์ฯ อาจจะไปศึกษาความสำเร็จของการปฏิรูปที่ดินในโรมาเนีย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!!สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุเกี่ยวกับหลักฐานชั้นต้น

1. USNA หมายถึง National Archives and Records Administration สหรัฐอเมริกา
2. เอกสารชั้นต้นที่อ้างถึงมีสำเนาอยู่ที่กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

เชิงอรรถ :

[2] ชีวิตของพ่อ, ใน 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2543), น. 23-24. และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2517), น. 713. ใน หนังสือ 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ เรียกพระตำหนักว่า เกลน แพมเมนท์ (Glen Pamment) ส่วนในพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 7 ทรงลงชื่อพระตำหนักว่า Glen Pammant

[3] Bank of England, OV 25/4, f. 5e, James Baxter to Harry Arthur Siepmann, 6 August 1935.

[4] Ibid.

[5] Richard J. Aldrich. The key to the South : Britain, the United States, and Thailand during the Approach of the Pacific War, 1929-1942. (Kuala Lumpur : Oxford University Press, 1993), pp. 7-8.

[6] เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะที่ 6 ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (22 กันยายน พ.ศ. 2477-9 สิงหาคม พ.ศ. 2480).

[7] Bank of England, OV 25/4, f. 37, James Baxter to Harry Arthur Siepmann, 24 June 1935; and OV 25/4, f. 5e, James Baxter to Harry Arthur Siepmann, 6 August 1935.

[8] Virginia Thompson. Thailand : The New Siam. (New York : Macmillian, 1941), p. 734 and Bank of England, OV 25/4, f. 37, James Baxter to Harry Arthur Siepmann, 24 June 1935.

[9] Ibid.

[10] Bank of England, OV 25/4, f. 9, J. Crosby to Sir John Simon, 18 December 1934; OV 25/4, f. 32, James Baxter to Sir Edward Cook, 21 March 1935; and OV 25/4, f. 50, Siam, 31 July 1935.

[11] Virginia Thompson. Thailand : The New Siam. p. 578.

[12] ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544), น. 104. ในหนังสือเล่มนี้ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกตนเองว่า ปรีดี แทน ข้าพเจ้า

[13] หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่ถึงปี นายปรีดีต้องเดินทางออกนอกประเทศในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 ในลักษณะของการถูกเนรเทศ หลังจากเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองต่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 จนเป็นเหตุให้มีการปิดสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลใช้อำนาจออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ออกแถลงการณ์กล่าวหานายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ รัชกาลที่ 7 มีพระราชวิจารณ์เค้าโครงการดังกล่าวอย่างรุนแรง ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 มีรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนฯ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายปรีดีจึงเดินทางกลับประเทศในเดือนตุลาคมมารับตำแหน่งรัฐมนตรี (ลอย) นายปรีดีเดินทางไปราชการต่างประเทศอีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478

[14] USNA : 892.00 PR/82, Political Report No. 57, January 1936.

[15] ปรีดี พนมยงค์. ความเป็นไปบางประการภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2543), น. 31. และ ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. น. 51-52.

[16] USNA : 892.00 PR/77, Political Report No. 52, September 1935.

[17] กรมฝิ่นมีมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เรียกว่า กรมฝิ่นหลวง ส่วนกรมสรรพสามิต หรือแต่เดิมสะกดว่า กรมสรรพสามิตต์ เปลี่ยนชื่อมาจาก กรมสุรา หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ถึง 1 เดือน (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2475) มีการยุบกรมฝิ่นและกรมสรรพสามิตไปอยู่ใต้การดูแลของอธิบดีกรมสรรพากร ราว 10 เดือนต่อมาจึงมีการตั้งกรมสรรพสามิตและฝิ่นเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2476

ผู้เขียนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 7 ทรงหมายถึง การตั้งกรมสรรพสามิตและฝิ่น ซึ่งเป็นการตั้งกรมขึ้นมาใหม่โดยรวมงานสรรพสามิตและฝิ่นไว้ด้วยกัน และอธิบดีที่ทรงกล่าวถึงนั้น เคยได้รับแต่งตั้งให้ทำการแทนอธิบดีกรมสรรพสามิตและฝิ่นมาตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2476 และในระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนชื่อกรมเป็น กรมสรรพสามิต เมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 หรือก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 7 จะเสด็จฯ ไปต่างประเทศ (ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2476) ต่อมาได้มีการแต่งตั้งผู้ทำการแทนเป็นอธิบดีในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 และอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวจนกระทั่งเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2483

ขณะที่เกิดกรณีฝิ่น อธิบดีกรมสรรพสามิตดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี (ลอย) ในรัฐมนตรีคณะที่ 6 ของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา สมัยที่ 3 (22 กันยายน พ.ศ. 2477-9 สิงหาคม พ.ศ. 2480) แต่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 แต่ในพระราชหัตถเลขาไม่ได้ทรงกล่าวว่า เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตและรัฐมนตรี แต่กล่าวว่าเป็นอธิบดีกรมฝิ่นและกรมสรรพสามิต

[18] ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2468-73

[19] โปรดดูรายละเอียดใน ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). น. 165-167, 168-170 และ 174-181.

[20] พันเอกแปลก ขีตตะสังคะ (พิบูลสงคราม) ในเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

[21] USNA : 892.00 PR/77, Political Report No. 52, September 1935.

[22] เข้าใจว่า ทรงหมายถึง พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏบวรเดชก่อนหน้านั้นไม่นาน (11-24 ตุลาคม พ.ศ. 2476) และขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

[23] เดือน บุนนาค. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. (กรุงเทพฯ : สามัคคีธรรม, 2517), น. 198.

[24] ไมตรี เด่นอุดม. โลกพระศรีอาริย์ของปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : กราฟิกอาร์ต, 2516), น. 326. อ้างใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2538), น. 124.

[25] พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) (พ.ศ. 2429-82) ขณะนั้นเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน และโปรตุเกส และต่อมาใน พ.ศ. 2478 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตพิเศษ มีอำนาจเต็มประจำประเทศอังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน โปรดดูรายละเอียดใน นาวาโทหญิงสรธัญ ทัพยุทธพิจารณ์. ประวัตินายกกรรมการราชนาวิกสภาคนแรก, ใน นาวิกศาสตร์ 68, 4 (เมษายน 2546), www.navy.mi.th/navic/document/860401a.html, 26 มีนาคม 2550.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระราชวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองไทยของรัชกาลที่ 7 หลังทรงสละราชสมบัติ” เขียนโดย พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ (ยศในขณะนั้น) ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0