โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระยาคทาธรบดี จากตำรวจขี่ม้าผู้งามสง่า สู่มหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 ถวายงานจวบจนวันสวรรคต

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 02 มิ.ย. 2566 เวลา 06.23 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. 2566 เวลา 06.21 น.
ภาพปก-เทียบ
พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์)

นอกจากเหนือจากเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวาแล้ว มหาดเล็กที่รัชกาลที่ 6 โปรดปรานอีกคนหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อครั้งยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ คือ พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ที่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดจวบจนวันสวรรคต

พระยาคทาธรบดีฯ มีชื่อว่า เทียบ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2428 ในย่านเยาวราช บิดาชื่อ นายเทียม มารดาชื่อ นางพลับ โดยบิดาพื้นเพเดิมเป็นคนอยุธยา ย้ายเข้ามากรุงเทพฯ สมัครเข้าทำงานกับ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งนายเทียมได้เป็น หลวงธุระการจำกัด มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ในย่านสำเพ็ง จึงได้ตั้งบ้านละแวกนั้น เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่คนไทยและคนจีน จนคนจีนในย่านนั้น เรียกนายเทียมว่า หมาต๋าเทียม เป็นนายตำรวจใหญ่ในสมัยนั้น

เมื่อนายเทียบมีอายุถึงกำหนดเรียน ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ (หมายเลขประจำตัวคือ 9) กระทั่ง เมื่อมีการตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย (King’s College) นักเรียนอัสสัมชัญรุ่นนี้เกือบทั้งรุ่นได้ลาออกมาเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนราชวิทยาลัย

ในช่วงเวลานี้เอง นายเทียบได้คุ้นเคยกับม้าเนื่องจากผู้เป็นบิดาได้ฝึกสอนการขี่ม้า อันเป็นพาหนะสำคัญของตำรวจในยุคนั้น นอกจากนี้ นายปีเตอร์เอชั่น ลอร์สัน อธิบดีกรมนครบาลได้ช่วยฝึกสอนม้าให้นายเทียบเป็นพิเศษอีกด้วย

นายเทียบช่ำชองการขี่ม้า มีฝีมือไม่แพ้ใคร จึงนำม้าชื่อ “ทองแท้” เข้าแข่งขันขี่ม้าประเภทสมัครเล่น จนชนะได้ถ้วยพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 กระทั่ง พ.ศ. 2447 จบการศึกษา ได้มาบรรจุเป็นรองสารวัตร ยศนายร้อยโท ประจำโรงพักนางเลิ้ง เมื่ออายุย่างเข้า 19 ปีเท่านั้น

คนของสมเด็จพระบรม

ร้อยโทเทียบเป็นคนรูปร่างใหญ่โต สง่าผ่าเผย เป็นนักกีฬา ช่ำชองการขี่ม้า และมีหน้าที่ขี่ม้านำขบวนหลวง เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) ทอดพระเนตร “…เห็นร้อยโทเทียบ ขี่ม้าอย่างสง่ากว่านายตำรวจอื่น ๆ ของสมัยนั้น จึงรับสั่งให้พระยาบำเรอภักดิ์ (ณ มหาชัย) เป็นผู้นำร้อยโทเทียบมาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก…”

เมื่อร้อยโทเทียบเข้ามาเป็นมหาดเล็ก ต้องทำทุกอย่างตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมฯ เช่น ทรงมีราชพระประสงค์ให้ร้อยโทเทียบพูดภาษาอังกฤษให้คล่อง ร้อยโทเทียบก็ต้องฝึกพูดให้ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยไปเรียนเมืองนอกเหมือนอย่างคนอื่น ๆ

หรือเมื่อทรงมีพระราชประสงค์ให้ร้อยโทเทียบขับรถยนต์ให้ได้ ร้อยโทเทียบก็ต้องไปเรียนขับรถยนต์กับ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ จนต่อมา “สมเด็จฝ่ายใน” คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงมีพระราชประสงค์เรียนขับรถยนต์ ดังนั้น สมเด็จพระบรมฯ จึงโปรดให้ร้อยโทเทียบเป็นผู้ถวายการฝึกสอนให้ทั้งสองพระองค์

เมื่อถวายการฝึกสอนแล้วเสร็จ ร้อยโทเทียบก็ได้รับของพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระราชทานเสื้อถักฝีพระหัตถ์หนึ่งตัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระราชทานกางเกงแพร 7 ตัว (7 สี เป็นสีประจำวัน)

ร้อยโทเทียบถวายงานใกล้ชิดจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมาก ปฏิบัติงานในตำแหน่งจางวางรถพระที่นั่ง เป็นสารถีขับรถม้าและรถยนต์ประจำสมเด็จพระบรมฯ การได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ร้อยโทเทียบเป็นมหาดเล็กที่ใกล้ชิดมากคนหนึ่ง เป็นที่รู้จักทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน จนรัชกาลที่ 5 รับสั่งเรียกว่า“นายเทียบ คนของลูกโต” (ลูกโตหมายถึงรัชกาลที่ 6) นอกจากนี้ โดยทั่วไปมีการเรียกร้อยโทเทียบกันจนติดปากว่า “คนของสมเด็จพระบรม”

ไม่เพียงเป็นมหาดเล็กขับรถพระที่นั่ง ทั้งรถยนต์และรถม้าเท่านั้น ร้อยโทเทียบยังเป็นมหาดเล็กที่ถวายงานรับใช้ตามเสด็จประพาสมณฑลต่าง ๆ และเป็นผู้รับบัญชาเกี่ยวกับหมายกำหนดการประพาส แต่ยังคอยถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมฯ อยู่เสมอ

แกไปทางโลก ฉันไปทางธรรม

เมื่อ พ.ศ. 2447 สมเด็จพระบรมฯ จะทรงผนวช พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ร้อยโทเทียบเป็นลูกศิษย์ประจำอยู่ที่วัดบวรฯ แต่ในปีนั้น หลวงธุระการจำกัด จัดการให้ร้อยโทเทียบแต่งงานกับ นางหลี จุลกะ ลูกสาวพระภาษีสมบัติ จนสมเด็จพระบรมฯ มีรับสั่งว่า“แกไปทางโลก ฉันไปทางธรรม” ร่วมทางกันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ร้อยโทเทียบก็ต้องไปเป็นมหาดเล็กคอยถวายงานรับใช้สมเด็จพระบรมฯ เกือบตลอดเวลาที่ทรงผนวชอยู่ จนแทบจะไม่มีเวลานอนบ้านเรือนหอซึ่งอยู่บริเวณคลองบางกอกน้อย เนื่องจากส่วนมากเมื่อถวายงานรับใช้เสร็จ กว่าจะกลับถึงบ้านประมาณตี 2-3 และต้องกลับไปวัดบวรฯ ตอนจะเสด็จออกบิณฑบาตในเช้าตรู่

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ร้อยโทเทียบได้รับพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น นายวรการบัญชา (ต่อมามียศพิเศษเป็น ร้อยเอก นายทหารพิเศษ) บังคับบัญชามหาดเล็กทุกคนตั้งแต่ห้องบรรทมจนถึงห้องเครื่อง รวมถึงการติดต่อราชการในวังหลวงก็ดี กับกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ก็ดี ล้วนเป็นหน้าที่ของนายวรการบัญชาทั้งสิ้น

เนื่องจากบ้านของนายวรการบัญชาที่คลองบางกอกน้อยนั้นอยู่ไกล ไปมาไม่สะดวก รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานบ้านให้ใหม่ที่ตำบลบางกระบือ (ปัจจุบันอยู่ในเขตดุสิต) จนถึง พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น นายฉันท์ หุ้มแพร ปีต่อมา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พระอัศวบดี อธิบดีกรมพระอัศวราช กำกับดูแลม้าหลวงทั้งหมด และได้รับพระราชทานบ้านใหม่ บริเวณราชตฤณมัยสมาคม ซึ่งยังได้สร้างโรงฝึกม้าและโรงเลี้ยงม้าไว้ที่นั่นอีกด้วย

ต่อมา เมื่อออกประกาศพระราชบัญญัตินามสกุล ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล“อัศวรักษ์”

ปฏิบัติราชการ

เมื่อตั้งกรมพระอัศวราชแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์จะจัดให้มีราชรถในพระราชพิธีอย่างต่างประเทศ จึงทรงมีพระราชดำริให้พระอัศวบดีเดินทางไปออสเตรเลีย เพื่อหาซื้อม้าประมาณ 400 ตัว รวมถึงซื้อเครื่องรถม้าด้วย แต่เวลานั้นสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังปะทุ รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจึงบังคับซื้อม้าไว้เองทั้งหมด แล้วจ่ายเงินชดเชยให้สยามเพิ่มอีก 10%

ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พระยาอัศวบดี และ พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง ตามลำดับ กลับเข้าไปประจำการในกรมตำรวจ ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติราชการภาคใต้ ในสำนักอุปราชภาคใต้ของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์

ส่วนชีวิตในพระราชสำนัก พระยาคทาธรบดีฯ มักจะร่วมเล่นละครพูดบทพระราชนิพนธ์ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงจัดให้พระยาคทาธรบดีฯ แสดงเป็นตัวพระ ส่วนเจ้าพระยารามราฆพเป็นตัวนาง และเมื่อแข่งกีฬา เช่น คริกเกต พระยาคทาธรบดีฯ เป็นหัวหน้าทีมฝ่ายหนึ่ง เจ้าพระยารามราฆพ เป็นหัวหน้าทีมอีกฝ่ายหนึ่ง รวมถึงการซ้อมรบเสือป่าก็โปรดให้ทั้งสองคนเป็นแม่ทัพคนละฝ่ายเช่นเดียวกัน

ต่อมา ใน พ.ศ. 2465 ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลราชบุรีว่างลง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 6 ทรงแต่งตั้ง พระยาคทาธรบดีฯ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี เพราะเหตุที่ว่า สมุหเทศาภิบาลมณฑลนี้จะต้องเป็นคนที่เคยถวายงานรับใช้ส่วนพระองค์มาก่อน มิฉะนั้นแล้วพวกมหาดเล็กที่ถวายงานอยู่นั้นจะต้องกราบบังคมทูลในข้อบกพร่องต่าง ๆ ของฝ่ายปกครอง ทั้งนี้ มณฑลราชบุรี เป็นมณฑลโปรดของรัชกาลที่ 6 ที่มักเสด็จพระราชดำเนินมาประทับนานถึง 5-6 เดือนของทุกปี เพื่อซ้อมรบเสือป่าที่ราชบุรี พักร้อนที่หาดเจ้าสำราญ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

จวบจนวันสวรรคต

พ.ศ. 2468 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของพระยาคทาธรบดีฯ เนื่องจาก นางสุ่น ผู้เป็นยาย และ นางเปล่งศรี บุตรสาวคนโต เสียชีวิต นอกจากจะต้องจัดการธุระทางบ้านแล้ว ยังต้องถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 6 อย่างสุดความสามารถ เนื่องจากพระองค์ประชวรหนัก โดยภายหลังจากจัดการศพยายและลูกสาวแล้ว พระยาคทาธรบดีฯ ต้องไปนอนเข้าเวรเฝ้าพระอาการ ครั้งหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ 6 มีพระอาการดีขึ้น ทรงมีรับสั่งให้พระยาคทาธรบดีฯ ถวายปลงพระมัสสุ (โกนหนวด) อีกด้วย

ในวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ) เมื่อเสียงมโหรีปี่พาทย์แว่วขึ้น อันหมายถึงมีประสูติกาลพระราชธิดา รัชกาลที่ 6 ก็ทรงหันไปทางพระยาคทาธรบดีฯ ตรัสว่า“ดีแล้ว พวกเจ้าจะได้ไม่ต้องลำบาก” เมื่อเจ้าคุณพระประยุรวงศ์อุ้ม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิง มาเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรแล้ว“หันพระพักตร์หนีพร้อมด้วยน้ำพระเนตรที่หลั่งไหลออกมาดังทำนบพัง”

มีบันทึกความรู้สึกของพระยาคทาธรบดีฯ ในวันนั้นว่า“ตั้งแต่เกิดมามิเคยได้เห็นภาพใดที่ประทับใจและนำความเศร้าสลดมาให้ท่านเท่าในวันนั้น ท่านเองร้องไห้เสียใจจนแทบจะขาดใจตาย เพราะท่านเองก็พึ่งสูญเสียบุตรีคนโตไปเมื่อไม่ถึง 10 วันมานี้เอง…”

ในวันต่อมา รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต พระยาคทาธรบดีฯ กลับบ้านด้วยน้ำตานองหน้า และไม่ได้กินหรือนอนมา 48 ชั่วโมง พอถึงบ้านก็บอกว่า“หัวขาดเสียแล้ว” หมายถึง“หัวที่แท้จริงของท่าน และไม่เคยที่จะมีหัวอื่นมาแทนอีกเลย”

บั้นปลาย

หลังเปลี่ยนรัชกาลใหม่ พระยาคทาธรบดีฯ ได้ลาออกจากราชการ แต่มิได้เดือนร้อนเรื่องเงินมากนัก เพราะค่าเช่าที่ในย่านเยาวราชนั้นสูงกว่าเงินเดือนหลายเท่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก พระยาคทาธรบดีฯ ปรารภว่า หากรัชกาลที่ 6 ยังมีพระชนม์อยู่ถึงช่วงเวลานั้น“ท่านจะสามารถแก้สถานการณ์ให้ดีเท่า ๆ กับหัวหน้ารัฐบาลฝ่ายต่างประเทศ เช่น ท่านรูสเวลส์”

บั้นปลายชีวิต พระยาคทาธรบดีฯ ยังทำกิจกรรมเกี่ยวกับม้าโดยเสมอ มักไปชมการแข่งม้าเป็นประจำ เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องม้า มีความรู้ความสามารถเรื่องม้ามากคนหนึ่งในประเทศ ผู้คนในวงการม้าต่างยกย่องท่านจนเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่ว นอกจากนี้ ท่านยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทั่ง พระยาคทาธรบดีฯ เสียชีวิตในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512

ช่วงวาระสุดท้าย พระยาคทาธรบดีฯ ได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 6 ว่า

“ทรงเสด็จมารับสั่งเรียกแล้ว พ่อต้องไปละ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหาราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์). (2512). พระนคร : บำรุงนุกูลกิจ.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0